ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
นวโกวาท
(ฉบับประชาชน)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
วินัยบัญญัติ
พระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ปัญจกะ
อนันตริยกรรม ๕
๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกจากกัน
กรรม ๕ อย่างนี้ เป็นบาปอันหนักที่สุดห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้ถือพระพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ทำเป็นเด็ดขาด
อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕
๑. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
๓. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี
ทำชั่วจักได้ชั่ว
เวสารัชชกรณธรรม คือ ธรรมทำความกล้าหาญ ๕ อย่าง
๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. สีล รักษากายวาจาให้เรียกร้อย
๓. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ศึกษามาก
๔. วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร
๕. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
องค์แห่งภิกษุใหม่ ๕ อย่าง
๑. สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม
ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต
๒. สำรวมอินทรีย์ คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไม่ให้ยินดียินร้ายครอบงำได้ ในเวลาที่เห็นรูปด้วยนัยน์ตาเป็นต้น
๓. ความเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา
๔. อยู่ในเสนาเสนะอันสงัด
๕. มีความเห็นชอบ
ภิกษุใหม่ควรตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่างนี้
องค์แห่งธรรมกถึก คือ นักเทศก์ ๕ อย่าง
๑. แสดงธรรมโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือว่า ไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น
ภิกษุผู้ได้ธรรมกถึก พึงตั้งองค์ ๕ อย่างนี้ไว้ในตน
ธัมมัสสวนานิสงส์ คือ อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ อย่าง
๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
พละ คือ ธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง
๑. สัทธา ความเชื่อ
๒. วิริยะ ความเพียร
๓. สติ ความระลึกได้
๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๕. ปัญญา ความรอบรู้
อินทรีย์ ๕ ก็เรียก เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน
นิวรณ์ ๕
ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี เรียกนิวรณ์ มี ๕ อย่าง
๑. พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรู้เป็นต้น เรียก กามฉันท์
๒. ปองร้ายผู้อื่น เรียก พยาบาท
๓. ความที่จิตใจหดหู่และเคลิบเคลิ้ม เรียก ถีนมิทธะ
๔. ฟุ้งซ่านและรำคาญ เรียก อุทธัจจกุกุจจะ
๕. ลังเลไม่ตกลงได้ เรียก วิจิกิจฉา
ขันธ์ ๕
กายกับใจนี้ แบ่งออกเป็น ๕ กอง เรียกว่า ขันธ์ ๕
๑. รูป
๒. เวทนา
๓. สัญญา
๔. สังขาร
๕. วิญญาณ
ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม
ประชุมกันเป็นกายนี้ เรียกว่า รูป
ความรู้สึกอารมณ์ว่า เป็นสุข คือ
สบายกาย สบายใจ หรือเป็นทุกข์ คือไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือเฉยๆ
คือไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า เวทนา
ความจำได้หมายรู้ คือ จำรูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่เกิดกับใจได้ เรียก สัญญา
เจตสิกธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ
เป็นส่วนดี เรียก กุศล เป็นส่วนชั่ว เรียก อกุศล เป็นส่วนกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว
เรียก อัพยากฤต เรียกว่า สังขาร
ความรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรู้มากระทบตา
เป็นต้น เรียกว่า วิญญาณ
ขันธ์ ๕ นี้ ย่นเรียกว่า นามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเข้าเป็นนาม
รูปคงเป็นรูป