ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ธรรมบรรยายของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
สนทนาธรรมตามกาลเป็นมงคลอุดม
กาเลน ธมฺมสฺสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การปฤกษาไต่ถาม
หรือการสดับธรรมตามกาล ตามสมัย พระบรมศาสดาตรัสว่าเป็นมงคลความเจริญอันอุดมเลิศ
หมู่เราต่างคนก็มุ่งหน้าเพื่อศึกษามาเองทั้งนั้นไม่ได้ไปเชื้อเชิญนิมนต์มา
ครั้นมาศึกษามาปฏิบัติก็ต้องทำจริงปฏิบัติจริง
ตามเยี่ยงอย่างพระบรมศาสดาจารย์เจ้าและสาวกขีณาสวะเจ้าผู้ปฏิบัติมาก่อน
เบื้องต้นพึงพิจารณา สัจจธรรมคือของจริงทั้ง 4 ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ
ตาย อันท่านผู้เป็นอริยบุคคลได้ปฏิบัติกำหนดพิจารณามาแล้ว เกิด เราก็เกิดมาแล้ว
คือร่างกายอันเป็นอยู่นี้มิใช่ก้อนเกิดหรือ? แก่ เจ็บ ตาย ก็ก้อนอันนี้แล
เมื่อเราพิจารณาอยู่ในอิริยาบถทั้ง 4 เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดพิจารณาบ้าง
นอนกำหนดพิจารณาบ้าง จิตจะรวมเป็นสมาธิ รวมน้อยก็เป็นขณิกสมาธิ
คือจิตรวมลงภวังค์หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอนออกมา
ครั้นพิจารณาอยู่ไม่ถอยจนปรากฏเป็นอุคคหนิมิต จะเป็นนอกก็ตาม ในก็ตาม
ให้พิจารณานิมิตนั้นจนจิตวางนิมิตรวมลงสู่ภวังค์ ตำรงอยู่นานพอประมาณแล้วถอยออกมา
สมาธิในชั้นนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ
พึงพิจารณานิมิตนั้นเรื่อยไปจนจิตรวมลงสู่ภวังค์เข้าถึงฐีติจิต เป็น
อัปปนาสมาธิปฐมฌาน ถึงซึ่งเอกัคคตา ความมีอารมณ์เดียว ครั้นจิตถอยออกมา
ก็พึงพิจารณาอีกแล้วๆ เล่าๆ จนขยายแยกส่วนเป็นปฏิภาคนิมิตได้ต่อไป
คือพิจารณาว่าตายแล้วมันจะเป็นอะไรไปอีก มันจะต้องเปื่อยเน่า
ผุพังยังเหลือแต่ร่างกระดูก กำหนดทั้งภายในคือกายของตนทั้งภายนอกคือกายของผู้อื่น
โดยให้เห็นส่วนต่างๆ ของร่างกายว่าส่วนนี้เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ
เส้นเอ็นน้อยใหญ่มีเท่าไร กระดูกท่อนน้อยท่อนใหญ่มีเท่าไร โดยชัดเจนแจ่มแจ้ง
กำหนดให้มันเกิดขึ้นมาอีกแล้วกำหนดให้มัน ยืน เดิน นั่ง นอน
แล้วตายสลายไปสู่สภาพเดิมของมัน คือไปเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม ถึงฐานะเดิมของมันนั้นแล
เมื่อกำหนดจิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ ทั้งภายนอกทั้งภายใน
ทำให้มากให้หลาย ให้มีทั้งตายเก่าตายใหม่ มีแร้งกาสุนัขยื้อแย่งกัดกินอยู่
ก็จะเกิดปรีชาญาณขึ้น ตามแต่วาสนาอุปนิสัยของตน ดังนี้แล ฯ
» ศีล
» วาสนา
» วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก
» ข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ
» โสฬสกิจ
» มุตโตทัย