ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ธรรมบรรยายของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ปาฏิโมกขสังวรศีล
พระวินัย 5 คัมภีร์ สงเคราะห์ลงมาในปาฏิโมกขุทเทส
เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระวินัยย่อมเข้าไม่ได้ ผู้ปฏิบัติถูกตามพระวินัยแล้ว
โมกฺขํ ชื่อว่าเป็นทางข้ามพ้นวัฏฏะได้
ปาฏิโมกข์นี้ยังสงเคราะห์เข้าไปหาวิสุทธิมรรคอีก เรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรศีล
ในสีลนิเทศ
สีลนิเทศนั้น กล่าวถึงเรื่องศีลทั้งหลาย คือปาฏิโมกขสังวรศีล 1
อินทรียสังวรศีล 1 ปัจจยสันนิสสิตศีล 1 อาชีวปาริสุทธิศีล 1 ส่วนอีก 2
คัมภีร์นั้นคือ สมาธินิเทศ และปัญญานิเทศ วิสุทธิมรรคทั้ง 3
พระคัมภีร์นี้สงเคราะห์เข้าในมรรคทั้ง 8 มรรค 8 สงเคราะห์ลงมาในสิกขาทั้ง 3 คือ ศีล
สมาธิ ปัญญา เมื่อจะกล่าวถึงเรื่องมรรคแล้ว ความประโยคพยายามปฏิบัติดัดตนอยู่
ชื่อว่าเดินมรรค สติปัฏฐานทั้ง 4 ก็เรียกว่ามรรค อริยสัจจ์ 4 ก็ชื่อว่ามรรค
เพราะเป็นกิริยาที่ยังทำอยู่ ยังมีการดำเนินอยู่ ดังภาษิตว่า "สจฺจานํ จตุโรปทา
ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา" สำหรับเท้าต้องมีการเดิน
คนเราต้องไปด้วยเท้าทั้งนั้น ฉะนั้นสัจจะทั้ง 4 ก็ยังเป็นกิริยาอยู่
เป็นจรณะเครื่องพาไปถึงวิสุทธิธรรม วิสุทธิธรรมนั้นจะอยู่ที่ไหน?
มรรคสัจจะอยู่ที่ไหน? วิสุทธิธรรมก็ต้องอยู่ที่นั่น!
มรรคสัจจะไม่มีอยู่ที่อื่น มโนเป็นมหาฐาน มหาเหตุ
วิสุทธิธรรมจึงต้องอยู่ที่ใจของเรานี่เอง ผู้เจริญมรรคต้องทำอยู่ที่นี้
ไม่ต้องไปหาที่อื่น การหาที่อื่นอยู่ชื่อว่ายังหลง ทำไมจึงหลงไปหาที่อื่นเล่า?
ผู้ไม่หลงก็ไม่ต้องหาทางอื่น ไม่ต้องหากับบุคคลอื่น ศีลก็มีในตน สมาธิก็มีในตน
ปัญญาก็มีอยู่กับตน
ดังบาลีว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ วทามิ เป็นต้น
กายกับจิตเท่านี้ประพฤติปฏิบัติศีลได้ ถ้าไม่มีกายกับจิต
จะเอาอะไรมาพูดออกว่าศีลได้ คำที่ว่าเจตนานั้นเราต้องเปลี่ยนเอาสระเอขึ้นบนสระอิ
เอาตัว ต สะกดเข้าไป ก็พูดได้ว่า จิตฺตํ เป็นจิต
จิตเป็นผู้คิดงดเว้นเป็นผู้ระวังรักษา เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ
ซึ่งมรรคและผลให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกขีณาสวเจ้าก็ดี
จะชำระตนให้หมดจดจากสังกิเลสทั้งหลายได้ ท่านก็มีกายกับจิตทั้งนั้น
เมื่อท่านจะทำมรรคและผลให้เกิดมีได้ก็ทำอยู่ที่นี่ คือที่กายกับจิต
ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ามรรคมีอยู่ที่ตนของตนนี้เอง
เมื่อเราจะเจริญซึ่งสมถหรือวิปัสสนา ก็ไม่ต้องหนีจากกายกับจิต ไม่ต้องส่งนอก
ให้พิจารณาอยู่ในตนของตน เป็นโอปนยิโก แม้จะเป็นของมีอยู่ภายนอก
เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ก็ไม่ต้องส่งออกเป็นนอกไป
ต้องกำหนดเข้ามาเทียบเคียงตนของตน พิจารณาอยู่ที่นี้ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ
เมื่อรู้ก็ต้องรู้เฉพาะตน รู้อยู่ในตน ไม่ได้รู้มาแต่นอก เกิดขึ้นกับตนมีขึ้นกับตน
ไม่ได้หามาจากที่อื่นไม่มีใครเอาให้ ไม่ได้ขอมาจากผู้อื่น จึงได้ชื่อว่า ญาณ ทสฺสนํ
สุวิสุทธํ อโหสิ ฯลฯ เป็นความรู้เห็นที่บริสุทธิ์แท้ ฯลฯ
» ศีล
» วาสนา
» วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก
» ข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ
» โสฬสกิจ
» มุตโตทัย