ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
กาย เวทนา จิต ธรรม เท่ากับเป็นขันธ์ 4
เพราะว่าทุกคนมีกายมีเวทนามีจิตมีธรรม และกาย เวทนา จิต ธรรม
ก็เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน เท่ากับว่าเป็นขันธ์ 4 เหมือนอย่างขันธ์ 5
แต่ในที่นี้ไม่เรียกว่าขันธ์ 4 แต่เรียกว่าสติปัฏฐาน 4 กายเวทนาจิตธรรมนี้
ก็เท่ากับเป็นนิวาสะคือเป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ของบุคคลทั้งหลาย
หรือของเราทั้งหลายอยู่ด้วยกันทุกคน แต่ว่าเมื่อไม่ระลึกถึงก็ไม่รู้
ต่อเมื่อระลึกถึงจึงจะรู้ เหมือนอย่างว่าหายใจเข้าหายใจออก
ทุกคนก็ต้องหายใจเข้าหายใจออกกันอยู่ หยุดไม่ได้
แต่เมื่อไม่ระลึกถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ไม่รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ระลึกถึงเมื่อไรก็รู้เมื่อนั้น ว่าเราหายใจเข้าอยู่หายใจออกอยู่
แม้ในข้ออิริยาบถก็เหมือนกัน ก็ต้องเดินต้องยืนต้องนั่งต้องนอนกันอยู่
ในอิริยาบถน้อยก็เหมือนกัน ต้องก้าวไปข้างหน้า ต้องถอยไปข้างหลังเป็นต้น
ต้องหลับต้องตื่นต้องพูดต้องนิ่งกันอยู่เป็นต้น
และแม้อาการในกาย 31, 32 มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นก็เหมือนกัน
ก็ต้องมีกันอยู่ และผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นเหล่านี้ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนอยู่
ปรากฏเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นต้น รวมเข้าก็เป็นธาตุ 4 ธาตุดิน
ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประกอบกันอยู่เป็นกายนี้ เหล่านี้เป็นต้น
เมื่อระลึกถึงก็จึงจะรู้ได้ แต่เมื่อไม่ระลึกถึงก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้น สติคือความระลึกนี้จึงเป็นข้อสำคัญ
เมื่อมาหัดปฏิบัติทำสติปัฏฐานอยู่ ก็ย่อมจะทำให้มีสติอยู่กับตัว
และทำให้มีความรู้อยู่กับตัว ซึ่งนับว่าเป็นสติสัมปชัญญะที่เป็นภาคพื้น
และจะทำให้ได้ความรู้ที่เป็นตัวปัญญาเห็นเกิดเห็นดับต่อไปด้วย
ความระลึกได้และความรู้อยู่กับตัวซึ่งเป็นสติสัมปชัญญะนี้ ก็เป็นสมาธิ
ความรู้ที่เป็นตัวปัญญาเห็นเกิดเห็นดับ ก็เป็นตัวปัญญา เพราะฉะนั้น
เมื่อปฏิบัติทำสติ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ก็ย่อมจะได้สติสัมปชัญญะ ได้สมาธิ
ได้ปัญญา ไปด้วยกัน
และเมื่อปฏิบัติทำสติสัมปชัญญะอยู่กับตัว
เป็นสมาธิที่แนบแน่นยิ่งขึ้น ก็จะทำให้สติคือความระลึกนี้ ระลึกได้ดีขึ้น
จะระลึกย้อนหลังไปได้ดีขึ้นในชาตินี้เอง ความระลึกได้ซึ่งเป็นตัวสตินี้ถ้าไม่ดี
ระลึกย้อนหลังไปในชาตินี้เองก็ไม่ดี ดังเช่นถ้ามีสติที่ระลึกได้ดี
ฟังอะไรก็ย่อมจะจำได้ดี อ่านอะไรก็ย่อมจะจำได้ดี
คือมีสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ในสิ่งที่ฟังในสิ่งที่อ่าน
ก็เป็นอันว่าได้สมาธิในสิ่งที่ฟังในสิ่งที่อ่าน อ่านหนังสือหนึ่งหน้าก็จะจำได้มาก
ฟังเรื่องอะไรก็จะจำได้มาก
แต่ถ้าไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งที่ฟังในสิ่งที่อ่านแล้ว จะจำอะไรไม่ได้เลย
ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งอ่านสิ่งที่ฟังน้อย ก็จะจำได้น้อย มากก็จำได้มาก
เพราะฉะนั้น การฝึกหัดสติให้ดีพร้อมทั้งสัมปชัญญะนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
จะทำให้ระลึกได้จำได้ย้อนหลังไปได้มาก เมื่อวานนี้ วานซืนนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว
ปีที่แล้ว ถอยหลังไปเป็นต้น จะจำได้มากขึ้นๆ และเมื่อมีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัว
คืออยู่กับกายเวทนาจิตธรรม เป็นสมาธิที่แนบแน่น เป็นอัปปนาสมาธิ
อย่างดีที่สุดก็จะทำให้ความจำคือความระลึกได้นี้ ย้อนหลังไปได้มากที่สุด
ก็เพราะว่าสัตว์ทั้งหลาย คือตัวเราเองนี้ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ทั้งหลาย
ย่อมได้ประสบพบผ่านอดีตของตนมาแล้วทั้งนั้น และจุติคือเคลื่อน อุบัติคือเข้าถึง
หรือเกิดมาชาติหนึ่งๆก็ผ่านมาแล้วทั้งนั้น
สัตว์ทั้งหลายโดยเฉพาะคือตัวเราทั้งหลายนี้
จึงมีสิ่งที่ประสบพบผ่านเหล่านี้เก็บอยู่ ซึ่งเมื่อมีสติที่ระลึกได้ดีแล้ว
ก็ย่อมจะนึกย้อนหลังได้ดี เหมือนอย่างเห็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วในวันนี้
หรือเมื่อวานนี้
วิชชา 3
ขันธ์ 5 นามรูป
สติพละ สติอินทรีย์
กาย เวทนา จิต ธรรม เท่ากับเป็นขันธ์ 4