ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

๑. คัมภีร์พระไตรปิฎก

คัมภีร์พระไตรปิฎก ได้แก่ คัมภีร์หลักที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระสาวกไว้ทั้งหมด คำว่า ไตรปิฎก แปลว่า คัมภีร์ ๓ คัมภีร์ หรือ ตะกร้า ๓ ใบ หมายถึง ปิฎก ๓ คือ

(๑) วินัยปิฎก เป็นหมวดว่าด้วยระเบียบวินัย แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ คือ

๑) มหาวิภังค์ ว่าด้วยข้อห้าม หรือวินัยที่เป็นหลักใหญ่ของภิกษุ
๒) ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยข้อห้าม หรือวินัยของนางภิกษุณี
๓) มหาวัคค์ ว่าด้วยพุทธประวัติตอนแรก และพิธีกรรมทางพระวินัย
๔) จุลลวัคค์ ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัย ความเป็นมาของนางภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา
๕) ปริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย

(๒) พระสุตตันตปิฎก เป็นหมวดว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วไป มีประวัติและท้องเรื่องประกอบแบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ คือ

๑) ทีฆนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือเทศนาขนาดยาว
๒) มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือเทศนาขนาดกลาง
๓) สังยุตตนิกาย ว่า ด้วยพระสูตร เทศนาอันประมวลธรรมะ หรือเรื่องราวไว้เป็นพวก เช่นว่าด้วยเรื่องพระมหากัสสปเถระ เรียกว่า กัสสปสังยุต ว่าด้วยเหตุการณ์ในแคว้นโกศล เรียกว่า โกศลสังยุต เป็นต้น
๔) อังคุตตรนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือเทศนาเป็นข้อ ๆ ตามลำดับจำนวน โดจัดเป็นธรรมหมวด ๑ ธรรมหมวด ๒ ธรรมหมวด ๓ เป็นต้น
๕) ขุททกนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือเทศนาเบ็ดเตล็ด รวมทั้งภาษิตของพระสาวกประวัติต่าง ๆ และชาดก

(๓) พระอภิธรรมปิฎก เป็นหมวดว่าด้วยข้อธรรมชั้นสูงล้วน ๆ ไม่มีประวัติ และท้องเรื่องประกอบแบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ คือ

๑) ธรรมสังคณี ว่าด้วยธรรมรวมเป็นหมวด เป็นกลุ่ม
๒) วิภังค์ ว่าด้วยธรรมแยกเป็นข้อ ๆ
๓) ธาตุกถา ว่าด้วยธรรมจัดระเบียบความสัมพันธ์ โดยถือธาตุเป็นหลัก
๔) ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ชนิด และแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติอันเกี่ยวกับบุคคล
๕) กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบในหลักธรรมชั้นสูง เป็นคำถาม ๕๐๐ ข้อ เพื่อถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรม
๖) ยมก ว่าด้วยธรรมที่รวมเป็นคู่ ๆ
๗) ปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือ สิ่งที่เกื้อกูลสนับสนุน ๒๔ อย่าง

๑. คัมภีร์พระไตรปิฎก
๒. คัมภีร์อรรถกถา
๓. คัมภีร์ฎีกา
๔. คัมภีร์อนุฎีกา
๕. คัมภีร์มธุ
๖. คัมภีร์กนิฏฐคันถะ
๗. คัมภีร์คัณฐิ
๘. คัมภีร์คันถันตระ
๙. คัมภีร์โยชนา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก
» ความหมาย การเรียกชื่อย่อ การจัดหมวดหมู่
» ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

บรรณานุกรม

  • กลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
  • อธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นตรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๑.
  • กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
  • พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๓.
  • พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). การปกครองคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๓๙.
  • พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
  • _______________. พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
  • พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม ป. ๙). นำเที่ยวในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
  • เสถียรพงษ์ วรรณปก. คำบรรยายพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๓.
  • สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ เปรียญ ๙). พระวินัยแปล. กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,๒๕๓๙.
  • อุทัย บุญเย็น. พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โพธิ์เนตร, ๒๕๔๘.
  • Sayagyi U ko Lay. Guide to Tipitaka. Selangor Buddhist Vipassana Meditation Society : Selangor Malaysia, ๒๐๐๐.