ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
ฐานะและความสำคัญของพระไตรปิฎกและคัมภีร์ชั้นรอง
๑. ประเภทคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
แม้ว่าพระไตรปิฎกจะนับว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญ และเป็นหลักฐานทางพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังมีคัมภีร์อื่นอีกที่เกี่ยวข้องด้วย จึงควรทราบประเภทของคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ไว้ดังต่อไปนี้ :-
๑. พระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้นที่ ๑ เรียกว่า บาลี
๒. คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้นที่ ๒ เรียกว่า อรรถกถา หรือ วัณณนา
๓. คำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้นที่ ๓ เรียกว่า ฎีกา
๔. คำอธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้นที่ ๔ เรียกว่า อนุฎีกา
นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้นว่าด้วยไวยากรณ์ภาษาบาลีฉบับต่าง ๆ และอธิบายศัพท์ ต่าง ๆ เรียกรวมกันว่า สัททาวิเสส เป็นสำนวนที่เรียกกันในวงการนักศึกษาฝ่ายไทย ปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทำสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททาวิเสสต่างๆ ด้วย โดยมีพระพุฒาจารย์เป็นแม่กอง
การจัดชั้นของบาลีอรรถกถา ก็เนื่องด้วยกาลเวลานั้นเอง พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน ก็เป็นหลักฐานชั้น ๑ คำอธิบายพระไตรปิฎกแต่งขึ้นประมาณ ๙๕๖ ปีหลังพุทธปรินิพพาน จึงจัดเป็นชั้น ๒ ส่วนฎีกานั้น แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗ จึงนับเป็นหลักฐานชั้นที่ ๓ อนึ่ง คัมภีร์อนุฎีกานั้น แต่งขึ้นภายหลังฎีกาในยุคต่อ ๆ มาเป็นคำอธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง จึงนับเป็นหลักฐานชั้น ๔
อย่างไรก็ตาม แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น ๑
เมื่อพิจารณาตามหลักพระพุทธภาษิตในกาลามสูตร ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป ดังคำว่า
ปิฏกสมฺปทาเทน อย่าถือโดยอ้างตำรา
เพราะอาจมีผิดพลาดตกหล่นหรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น
แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล
สอบสวนดูให้เห็นประจักษ์แก่ใจของตนเอง เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวาง
และให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่
นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้น ๆ
ด้วยตนเอง แม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้มิให้ติดตำราจนเกินไป
แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา
เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย
ฉะนั้น การศึกษาให้รู้และเข้าใจในพระไตรปิฎก จึงเป็นลำดับแรกเรียกว่า ปริยัติ
การลงมือกระทำตามโดยควรแก่จริตอัธยาศัยเรียกว่า ปฏิบัติ
การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้น ๆ เรียกว่า ปฏิเวธ
๒. ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
คัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนามี ๙ ลำดับ ดังนี้
๑. คัมภีร์พระไตรปิฎก
๒. คัมภีร์อรรถกถา
๓. คัมภีร์ฎีกา
๔. คัมภีร์อนุฎีกา
๕. คัมภีร์มธุ
๖. คัมภีร์กนิฏฐคันถะ
๗. คัมภีร์คัณฐิ
๘. คัมภีร์คันถันตระ
๙. คัมภีร์โยชนา
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก
» ความหมาย การเรียกชื่อย่อ การจัดหมวดหมู่
» ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
บรรณานุกรม
- กลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
- อธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นตรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๑.
- กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
- พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๓.
- พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). การปกครองคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๓๙.
- พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- _______________. พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม ป. ๙). นำเที่ยวในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- เสถียรพงษ์ วรรณปก. คำบรรยายพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๓.
- สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ เปรียญ ๙). พระวินัยแปล. กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,๒๕๓๙.
- อุทัย บุญเย็น. พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โพธิ์เนตร, ๒๕๔๘.
- Sayagyi U ko Lay. Guide to Tipitaka. Selangor Buddhist Vipassana Meditation Society : Selangor Malaysia, ๒๐๐๐.