สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์

ระบบการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย

ระบบการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

ระบบผู้นำอาวุโสในพรรคการเมือง

วัฒนธรรมทางการเมือง เป็นกรอบบริบทของประเพณีปฏิบัติ และประเพณีของระบบความคิดที่ปลูกฝังสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง เชาวนะ ไตรมาศ ระบุว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย เป็นวัฒนธรรมแบบบุคลาธิษฐาน ซึ่งเน้นการเชิดชูผู้เฒ่า หรือระบบผู้นำอาวุโส ก่อให้เกิดภาวะอนุรักษ์ และผูกขาดอำนาจ ผลประโยชน์ ไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง หรือสนับสนุนส่งเสริมคนดี มีความสามารถรุ่นใหม่ ให้เติบโตก้าวหน้าได้ตามศักยภาพ หรือขีดความสามารถของตัวเอง เมื่อโอกาสของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ถูกปิดกั้น การเติบโตขยายตัวของพรรคถูกจำกัด และขาดแรงผลักดันจากกลุ่มพลังที่หลากหลายรุ่นใหม่ๆ บทบาทของตัวบุคคลก็มีความโดดเด่นเหนือบทบาทของพรรค พรรคจะผันแปรไปตามภาวะผู้นำ อำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นตัวบุคคล และกลุ่มบุคคลที่มีการร่วมมือ และแปรเปลี่ยนสภาพไปตามภาวะอุปถัมภ์ ซึ่งไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนแน่นอนเช่นกัน พรรคการเมืองไม่มีโอกาสขยายตัวให้มีการเติบโต โดยการพึ่งพารากฐานของสมาชิกใหม่ได้ หากแต่ต้องพึ่งเฉพาะแต่ในฐานสมาชิกเก่า กลุ่มที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเท่านั้น โอกาสความก้าวหน้า และบทบาทสำคัญต่างๆ จึงถูกยึดกุมอยู่โดยกลุ่มสมาชิกเก่า ซึ่งถือเป็น “ปูชนียบุคคล” อย่างเหนียวแน่นอยู่ต่อไป

 

ความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของพรรคการเมืองจึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ในการคัดสรรผู้นำทางการเมืองของพรรคนั้น จะเป็นสิทธิที่ผูกขาดอยู่แต่เฉพาะในกลุ่ม ส.ส. เก่า ที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ประจำ ในกรณีที่สมาชิกในกลุ่มซึ่งมีสิทธิพิเศษดังกล่าวอยู่นั้น ขาดความสามารถหรือความเหมาะสมในการบริหารประเทศ หรือกรณีที่มี ส.ส. ใหม่ หรือ บุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับเลือกตั้งเป็นบางครั้ง หรือเพียงครั้งเดียว เป็นบุคคลที่มีความสามารถสูงหรือมีความเหมาะสมสูงสุดในการดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ก็จะเสียโอกาส และไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผูกขาดสิทธิในการดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ไว้แต่เฉพาะในกลุ่มแกนนำอำนาจที่เป็นคณะกรรมการบริหารของพรรค ส่วนสมาชิกที่อยู่นอกกลุ่มแกนนำนอกจากจะไม่มีโอกาสได้เข้ารับตำแหน่งสำคัญในทางการเมืองแล้ว ในตำแหน่งการเมืองอื่นที่มีความสำคัญน้อยกว่า ก็ยังไม่ค่อยได้รับสิทธิโอกาสเข้าไปมีบทบาทในการดำรงตำแหน่งนั้นด้วย ดังจะเห็นได้จากการพยายามดำรงรักษาคนอาวุโสของพรรคไว้ให้นานที่สุดเท่าที่สุขภาพจะเอื้ออำนวยได้ หรือแม้แต่กระทั่งการเสียชีวิตในตำแหน่งในที่สุด หรือการดำรงอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งถูกแย่งยึดโดยกลุ่มอำนาจของคนรุ่นใหม่

ตามที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พรรคการเมืองไทยทุกพรรค ไม่สามารถเติบโตเป็นสถาบันการเมืองได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย