สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์
ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่ได้มาโดยง่ายดาย ไม่ได้มาจากปลายปากกระบอกปืน และไม่ใช่การต่อสู้ที่ถนนราชดำเนินฉากเดียวจบ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนานพอสมควรในการให้คนเข้ามามีส่วนร่วม การบ่มเพาะวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยผ่านการศึกษาอบรม การให้ประชาชนมีศรัทธาต่อระบบประชาธิปไตย และมีบุคลิกภาพประชาธิปไตย การมีพลังภายนอกสภา ทั้งหมดนี้ จะหล่อหลอมจนกลายเป็นพฤติกรรมที่ดีงามของคนในสังคมในที่สุด
ในปัจจุบันการเมืองไทยจะอยู่ในลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ สามวันดีสี่วันไข้
เดินหน้าถอยหลังอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากสองสาเหตุหลัก คือ
โครงสร้างประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง และสาเหตุรองคือ
ยังมีลักษณะสำคัญทางการเมืองไทยสามประการที่ขาดหายไปจากระบบคือ
หนึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย สอง
การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และสาม การเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง
ในบทความนี้จะมุ่งอธิบายความคิดความเข้าใจ
และแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่มากในสังคม และการเมืองของประเทศไทย
Lucien Pye นักรัฐศาสตร์ชื่อดังของโลก
ได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองไว้ดังนี้ วัฒนธรรมทางการเมือง คือ
ทัศนคติ ความเชื่อ ความรู้สึกเกี่ยวกับกระบวนการทางการเมือง
สิ่งดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของบุคคลในระบบการเมืองโดยครอบคลุมทั้งอุดมการณ์ทางการเมือง
และปทัสถานในทางปฏิบัติของบุคคลในระบบการเมืองนั้น วัฒนธรรมทางการเมือง
จึงเป็นรูปแบบรวมของมิติทางด้านจิตวิทยา และด้านความรู้สึกนึกคิดของการเมือง
แนวความคิดนี้ จึงครอบคลุมถึง
แนวความคิดหรือประเด็นปัญหาอันเก่าแก่ทางการเมืองเหล่านี้ได้ เช่น
อุดมการณ์ทางการเมือง ความชอบธรรมในการปกครอง อำนาจอธิปไตย ความเป็นชาติ
การปกครองโดยยึดหลักกฎหมาย และมติมหาชน เป็นต้น
วัฒนธรรมทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีเสถียรภาพ และประสิทธิผลของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบบการเมืองแบบหนึ่งแบบใด จะดำรงอยู่ได้จะต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เอื้ออำนวยต่อการปกครองแบบนั้น วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยจะมีผลต่อโครงสร้าง และพฤติกรรมทางการเมืองของประเทศนั้นๆ
ระบบการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย