สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์
ระบบการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
ระบบการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
ระบบเจ้าขุนมูลนาย
ถ้าดูรูปแบบสังคมและการเมืองไทย จะพบว่าเป็นไปตามทฤษฎีชนชั้นนำ (Elitist Theory) หรือในบางตำราเรียก ทฤษฎีนิยมอภิชน (Elite Theorism) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางสังคม และการเมืองที่มีทัศนะหรือมีการปฏิบัติที่นำไปสู่การแบ่งแยกคนในสังคมเป็นผู้นำที่เป็นผู้ปกครอง และมวลชนที่ถูกปกครอง โดยจะมีกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจการเมืองสูง และมีอิทธิพลที่สุดในสังคม ประชาชนจริงๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก ชนชั้นนำจะอยู่ในระบบการเมืองทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบเผด็จการ หรือประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง อำนาจทั้งหลายก็ยังคงอยู่ในมือของคนกลุ่มนี้อย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ในประเทศไทย การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ข้าราชการทหารและพลเรือน จำนวน 102 นาย ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในนามของ “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ใช้นามของกลุ่มตนว่า “คณะราษฎร” (People) สมาชิก 102 นาย แบ่งออกเป็น 3 สาย คือ
- สายทหารบก 34 นาย มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า
- สายทหารเรือ 18 นาย มีนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้า
- สายพลเรือน 50 นาย มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า
สายพลเรือน นอกจากนายปรีดี แล้วก็ล้วนเป็นบุคคลที่ไม่ “ธรรมดา” ทั้งสิ้น อาทิเช่น นายตั่ว ลพานุกรม นักศึกษาเอกวิทยาศาสตร์ จากสวิสเซอร์แลนด์ หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนีย์) ผู้ช่วยทูตประจำกรุงปารีส นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ เป็นต้น ในบรรดาคณะราษฎรจำนวน 102 นาย อาจกล่าวได้ว่า ส่วนใหญ่จัดเป็นชนชั้นนำใหม่ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการใหม่ การก่อตัวของคณะดังกล่าวเป็นการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว การรู้จักกันในฐานะนักเรียนเก่าร่วมสถาบัน หรือการเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันอยู่ไม่น้อย
ในวันอังคารที่ 28 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ห้า ภายหลังจากการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญนั้น ได้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก (มีการอัญเชิญกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเปิดการประชุม) พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งผู้แทนราษฎร (ชั่วคราว) 70 นาย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นฝ่ายของคณะราษฎร 32 นาย
นอกเหนือจากนั้น เป็นขุนนางในระบอบเก่าระดับเจ้าพระยา 3 ท่าน ระดับพระยา 21 ท่าน (หรือหากพิจารณาด้านบรรดาศักดิ์ โดยรวมพระยาที่เป็นคณะราษฎรด้วย จะมีระดับเจ้าพระยา และพระยาเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด) พระ 5 ท่าน หลวง 19 ท่าน ฯลฯ หรือกล่าวได้ว่า การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ข้าราชการส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมยึดอำนาจ มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง แต่เมื่อมีการตั้งสถาบันทางนิติบัญญัติ อำนาจนั้นดูเหมือนจะโอนกลับไปที่ขุนนางระดับพระยา
ดังจะเห็นได้ว่า แม้ในจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย ประชาชนไม่ว่า “รากหญ้า” หรือ “รากแก้ว” ก็จะไม่มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องเลย จะอยู่ในกลุ่มของเจ้าขุนมูลนายทั้งหมด โดยเริ่มจากระบบการเมืองที่หนึ่ง ราชาธิปไตย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจอยู่ในมือของกษัตริย์ และกลุ่มเชื้อพระวงศ์ จนต่อมาเป็นยุคของระบบการเมืองที่สอง อมาตยาธิปไตย อำนาจอยู่ในมือของข้าราชการ (2475-2516) จนมาถึงระบบการเมืองที่สาม ธนาธิปไตย อำนาจอยู่ในมือของนายทุนนักธุรกิจ (หลัง 14 ตุลาคม 2516 - ปัจจุบัน) และเมื่ออยู่ในวังวนของอำนาจ การขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำก็มีอยู่เป็นธรรมดา จึงมีกบฏ รัฐประหาร และการเลือกตั้งสลับกันไปในแต่ละช่วงเวลา
อาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัจจัยทางวัฒนธรรมบางประการ กล่าวคือ ชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่กันเป็นชุมชนมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบเครือญาติและเพื่อนบ้าน ทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างมาก ประกอบกับวัฒนธรรมทางการเมืองที่เห็นว่า ผู้มีอำนาจเป็นที่พึ่งพิงได้ อันเป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดจากอดีตที่ชาวบ้านต้องมีสังกัดและพึ่งพิงอยู่กับเจ้าหรือเจ้านายแบบอุปถัมภ์ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการตัดสินใจในการให้การสนับสนุนทางการเมืองของชาวบ้านในรูปแบบที่พวกเขามีแนวโน้มที่จะเลือกคนที่เขารู้สึกว่า มีความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วย และเลือกนักการเมืองในแบบที่พวกเขาคาดว่าจะเป็นที่พึ่ง และให้การคุ้มครองได้ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดทัศนะการตัดสินใจของผู้นำชุมชนและหัวคะแนนก็สะท้อนลักษณะทางวัฒนธรรมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเขาจะได้รับประโยชน์จากความเชื่อเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม
ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวว่า ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่จะชอบรัฐบาลอุปถัมภ์ (Patronage Government) หรือรัฐบาลที่ดี (Good Government) มากกว่า ธรรมาภิบาล (Good Governance) คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นแต่เพียงผู้ร้องของ (Beg) การร้องขอเพียงอย่างเดียว ก็จะมีผลทำให้การเมืองเป็นไปในทิศทางที่ระบบทุนต้องการ พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยชินกับวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย ชินกับผู้นำประเทศที่มาจากการแต่งตั้ง การเลือกตั้งเป็นวัฒนธรรมแบบฝรั่งแปลกปลอมเข้ามา เมื่อไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา ก็ไม่เกิดความเข้าใจลึกซึ้ง ไม่เกิดการหวงแหนจะเห็นได้ว่า นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งนั้น คนจะชอบและชื่นชมมากกว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ดร.วิชัย ตันศิริ ระบุว่าธรรมชาติของระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้น มิได้มีผลในการเลือกสรรผู้นำที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ หรือมีวิสัยทัศน์ได้เสมอไป บ่อยครั้งมักจะได้ผู้นำที่ค่อนข้างปานกลาง เพราะคนที่ดีที่สุดในแผ่นดิน คนเก่งที่สุดในแผ่นดิน อาจไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้งก็ได้ ข้อสังเกตของ Robert E. Lane นักรัฐศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวว่า สองสิ่งที่ประชาธิปไตยสามารถให้เราได้ คือ หนึ่ง ความยุติธรรม สอง ความสุข (หรือความพอใจ) ในชีวิตของปุถุชนหากได้สองสิ่งนี้ก็ต้องถือว่ามากพอแล้ว
อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยจำนวนหลายท่านที่มาจากการแต่งตั้งล้วนเคยเป็นเจ้าขุนมูลนาย เคยเป็นข้าราชการมาก่อนทั้งสิ้น อาทิเช่น
1. นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 12 อดีตประธานศาลฎีกา
2. นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา
3. พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 อดีตผู้บัญชาการทหารบก
4. นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีคนที่ 18 อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
5. พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ดังนั้น ถึงเป็นนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้ง แต่ประชาชนมีความรู้สึกพอใจ มีความสุข และยังรู้สึกว่า เป็นการยุติธรรมที่คนดีจะได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศในทางบริหาร จึงเป็นวัฒนธรรมการเมืองเฉพาะในประเทศไทย เมื่อพอใจในคนที่ 1 คือ ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงไม่น่าประหลาดใจที่จะมีคนที่ 2, 3, 4, และ 5 ตามมาอีก รวมทั้งอาจจะมีคนต่อไปในอนาคตอีกด้วย