สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

ความอ่อนตัว

ความอ่อนตัว หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนไหวสูงสุด ตลอดช่วงของการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับการยืดขยายของข้อต่อ อุณหภูมิของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เป็นต้น และมีความเกี่ยวข้องกับ Ligaments และ Tendons ของข้อต่อซึ่งมีผลต่อช่วงของการเคลื่อนไหว ฉะนั้นการทดสอบความอ่อนตัวเพียงแห่งใดแห่งหนึ่งของข้อต่อของร่างกาย จึงไม่สามารถที่จะบ่งบอกถึงความสามารถในการอ่อนตัวของร่างกายทั้งหมดได้ ในการทดสอบจากห้องทดลอง ปกติแล้วคุณภาพของความอ่อนตัวจะอยู่ในความหมายของช่วงของการเคลื่อนไหว ซึ่งจะแสดงผลเป็นองศา โดยทั่วไปเครื่องมือที่ใช้ทดสอบได้แก่ Electrogoniometers, Leighton flexmeter เป็นต้น ในการทดสอบภาคสนามจะทำการประเมินความอ่อนตัว โดยการประเมินความสามารถของการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ (Shoulder elevations test) ความอ่อนตัวของข้อเท้า (Ankle flexibility test) การงอพับของลำตัวหรือนั่งงอตัวไปข้างหน้า (Trunk flexion : Sit – and - reach test) และการเหยียดของลำตัว (Trunk extension test)
การนั่งงอตัวไปข้างหน้าหรือการงอพับของลำตัว ส่วนมากมักจะนำไปใช้ในการประเมินความสมบูรณ์ทางสุขภาพ (Health-oriented fitness) ของหลังส่วนล่าง และความอ่อนตัวของข้อสะโพก การที่มีความสามารถของกล้ามเนื้อส่วนล่าง และความอ่อนตัวของข้อสะโพกต่ำ มักจะมีความเกี่ยวเนื่องมาจากการที่มีความแข็งแรง ความอดทนของกล้ามเนื้อท้อง และหลังต่ำซึ่งจะนำไปสู่การเจ็บปวดบริเวณหลังส่วนล่าง (Low back pain)

โดยปกติความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อ และกระดูกโครงร่างจะมีความสัมพันธ์กัน ถ้าได้รับการฝึกที่ดี จะส่งผลทำให้ช่วงของการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายมีการเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพ การฝึกความอ่อนตัวนั้นสิ่งสำคัญที่จะเน้นในการฝึกคือ การฝึกความอ่อนตัวของบริเวณหลังส่วนล่าง (Lower back) และบริเวณต้นขาด้านหลัง (Posterior thigh) ถ้าทั้งสองบริเวณนี้ขาดความอ่อนตัว หรือความยืดหยุ่นแล้ว จะทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเจ็บปวดบริเวณหลังส่วนล่างเรื้อรัง (Chronic low back pain) การขาดความอ่อนตัว ซึ่งมีมาก่อนแล้วของบุคคลวัยสูงอายุ จะทำให้ความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมประจำวันลดลง เพราะฉะนั้น โปรแกรมการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ ควรจะเน้นการออกกำลังกายแบบ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching exercise) ทั้งบริเวณคอ สะโพก ลำตัวส่วนบน และส่วนล่าง ซึ่งการยืดเหยียดนี้สามารถจะพัฒนาและรักษาสภาพช่วงของการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

การยืดเหยียดนี้จะทำการเคลื่อนไหวช้า ๆ และมีการยืดเหยียดแบบหยุดนิ่ง (Static Stretching) ประมาณ 10 - 30 วินาที ปฏิบัติในแต่ละท่าประมาณ 3 - 5 ครั้ง และปฏิบัติไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งสามารถกระทำได้ในช่วงการอบอุ่นร่างกาย และช่วงการผ่อนคลายในขณะที่ออกกำลังกายในแต่ละครั้งจึงจะเกิดผลดีต่อร่างกาย

การยืดเหยียดของกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหน้า และขาส่วนล่างจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บบริเวณรยางค์ส่วนล่าง ดังนั้นในการออกกำลังกายแต่ละครั้งจะต้องมีการฝึกความอ่อนตัวควบคู่กันไปด้วยจึงจะมีประโยชน์และก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ที่ออกกำลังกายนั้น

ประวัติการออกกำลังกาย
คุณค่าของการออกกำลังกาย
วัยกับการออกกำลังกาย
หลักปฏิบัติสำหรับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
ประเภทของการออกกำลังกาย
การกำหนดแนวทางวิธีดำเนินการในการออกกำลังกายและการทดสอบสำหรับแต่ละบุคคล
การกำหนดแนวทางวิธีดำเนินการในการออกกำลังกาย
ความอ่อนตัว
สมรรถภาพของกล้ามเนื้อ
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค
ชีพจรกับการออกกำลังกาย
ผลของการออกกำลังกายที่มีต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย