สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

วัยกับการออกกำลังกาย

วัยทารก (Infant)

วัยทารก เป็นวัยที่มีความสำคัญมาก ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ทารกคลอดจากครรภ์มารดาจนกระทั่งอายุถึง 2 ปี ชีวิตจะก้าวไปสู่วุฒิภาวะ (Maturity) ต่าง ๆ มากมาย

วัยเด็ก (Childhood)

วัยเด็กนี้อายุอยู่ระหว่าง 2 – 12 ปี จึงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
1. วัยเด็กตอนต้น (Primary Childhood) อายุระหว่าง 2 – 6 ปี
2. วัยเด็กตอนปลาย (Secondary childhood) อายุระหว่าง 6 –12 ปี

วัยเด็กตอนต้น
เด็กวัยนี้บางทีเรียกว่า วัยเด็กก่อนเข้าเรียน ในวัยนี้ควรยึดหลักความต้องการพื้นฐาน ของเด็ก ซึ่งการเล่นของเด็กวัยนี้คือ การเรียนรู้ (Playing is Learning) พยายามให้มีอิสระในการเคลื่อนไหว รูปแบบของกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยนี้คือ การใช้อุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เด็กสนใจ และมีส่วนร่วมกิจกรรมนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างมาก คือ ความปลอดภัย ซึ่งเกี่ยวกับสถานที่เล่น ลักษณะของกิจกรรม จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด เช่น สนามเด็กเล่น สนามกลางแจ้ง เป็นต้น

วัยเด็กตอนปลาย
เด็กวัยนี้บางทีเราเรียกว่า เด็กวัยเรียน กิจกรรมการออกกำลังกายสำหรับเด็กวัยนี้ควรเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับเกมส์ การเล่นที่เป็นทักษะอย่างง่าย มีระเบียบวิธีการเล่นที่ไม่ซับซ้อนมากนักและสามารถที่จะแนะนำส่งเสริมและปลูกฝังความเป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา ความเสียสละ และช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากนี้ยังให้ความรู้เพิ่มพูนเกี่ยวกับการออกกำลังกายได้อีกด้วย เช่น ศัพท์ต่าง ๆ ทาง การกีฬา เป็นต้น ความแตกต่างทางวิธีการของเด็กวัยนี้ระหว่างเพศชาย และเพศหญิงยังไม่มีความแตกต่างกันมากนัก กิจกรรมนั้นสามารถที่จะเรียน และเล่นร่วมกันได้

วัยรุ่น (Adolescence)

วัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายรวดเร็วมาก อันได้แก่ รูปร่าง ทรวดทรง น้ำหนักของร่างกาย ส่วนสูง ตลอดจนการเจริญเติบโตของกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบอวัยวะ ภายในต่าง ๆ เช่น ระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น

การแบ่งวัยนี้สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

1. ช่วงวัยเรียนที่เข้าสู่วัยรุ่น อายุประมาณ 10-15 ปี เด็กวัยนี้มีความพร้อมทางร่างกายเป็นอย่างมากในการที่จะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา แต่ยังมีอีกหลายด้านที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่โดยเฉพาะเพศชายจะเจริญเติบโตกว่าเพศหญิงในด้านความแข็งแรง และความอดทนของกล้ามเนื้อ การเลือกกิจกรรมการออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬาสำหรับการแข่งขันสามารถที่จะกระทำได้แล้ว แต่ควรเป็นการแข่งขันในวัยเดียวกัน ระยะเวลาการเล่น หรือการแข่งขันควรมีระยะเวลาที่สั้น หรือการลดขนาดของสนามแข่งขัน ลดแต้มลง เช่น การแข่งขันฟุตบอลสนามควรจะแคบ หรือเล็กลงเวลาแข่งขันไม่ควรเกินครึ่งละ 30 นาที อุปกรณ์ เช่น ลูกฟุตบอลก็ควรจะใช้ขนาดที่เล็กลงน้ำหนักของลูกบอลน้อยลงเช่นกัน และสมรรถภาพทางกายของเด็กผู้ชายจะเริ่มสูงกว่าเด็กผู้หญิง ดังนั้น ควรแยกกิจกรรมที่ใช้แข่งขันออกจากกัน และเด็กวัยนี้สามารถเลือกเล่นกีฬาได้บางชนิดที่เหมาะสมกับรูปร่างการเจริญ เติบโตของร่างกาย เช่น ว่ายน้ำ ยิมนาสติก เป็นต้น วัตถุประสงค์ของการออกกำลังกายของวัยนี้เพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วว่องไว เน้นหรือฝึกทักษะเฉพาะอย่าง และปลูกฝังความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา

2. ช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว อายุประมาณ 16 - 30 ปี ในวัยนี้เป็นช่วงที่ร่างกายมีการพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว การออกกำลังกายในวัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกาย เพื่อในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเพื่อการแข่งขันได้อย่างเต็มที่ สามารถที่จะออกกำลังกาย และเล่นกีฬาได้ทุกชนิด สมรรถภาพในช่วงนี้จะมีความสามารถทางร่างกายสูงสุด หลังจากที่เลยวัยนี้ไปแล้วจะเริ่มสู่วัยที่สมรรถภาพต่างๆ เริ่มเสื่อมลง วัยนี้สามารถที่จะเล่นกีฬาเพื่อการแข่งขันได้ดีที่สุด

วัยผู้ใหญ่ (Adulthood)

วัยนี้อายุประมาณ 30 – 60 ปี เป็นวัยที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเริ่มเสื่อมลงแล้วลักษณะเฉพาะของคนวัยนี้ทั้งเพศชาย และเพศหญิง ร่างกายจะมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้น ความอดทน และความแข็งแรงของร่างกายจะลดลงไปเรื่อยๆ วัตถุประสงค์การออกกำลังกายของคนวัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสุขภาพ ชะลอความเสื่อม และฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับคืนมาสู่สภาพปกติตามความเหมาะสมของเพศ และวัย ลักษณะกิจกรรมการออกกำลังกาย ควรเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เพลิดเพลิน ไม่ต้องใช้แรงกายในการออกกำลังกายที่เกี่ยวกับความเร็วมากนัก เป็นกิจกรรมที่ไม่มีความซับซ้อน สามารถปฏิบัติได้ง่าย การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาในวัยนี้ ควรเป็นเกี่ยวกับ การออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพมากกว่าเพื่อการแข่งขัน หรือเพื่อความเป็นเลิศ ดังนั้น กิจกรรมการออกกำลังกายจะเป็นไปตามความสนใจ และความเหมาะสมของแต่ละบุคคลมากกว่า การเลือกกิจกรรมแต่ละอย่างนั้น มักจะขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญ กิจกรรมที่เหมาะสมได้แก่ การวิ่งเหยาะๆ การบริหารกาย ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

วัยสูงอายุหรือวัยชรา (Elderly or Senescence)

วัยนี้อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมลงอย่างมาก เช่น อาการตามัว หูตึง กล้ามเนื้อต่าง ๆ ลดประสิทธิภาพลง รูปร่างหน้าตา หนังเหี่ยวย่น ระบบขับถ่ายเสื่อมลง เป็นต้น การออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬาในวัยนี้ไม่ใช่เป็นข้อห้ามแต่กลับช่วยให้ร่างกายสดชื่นกระฉับกระเฉงขึ้น แต่มีข้อที่พึงระวังคือ ต้องเลือกกิจกรรมการออกกำลังกาย หรือประเภทกีฬาที่มีความหนักของงานให้เหมาะสมแก่สภาพของร่างกาย คือ ไม่หนักมาก ไม่เร็วมาก ไม่มีการเกร็งหรือเบ่งกำลัง ไม่มีการกลั้นการหายใจ การเหวี่ยง การกระแทก และการเล่นนั้นจะต้องคำนึงถึงความสนุกสนาน และเพื่อสุขภาพมากกว่าเพื่อการแข่งขันเอาจริง เอาจัง วัตถุประสงค์ของการออกกำลังกายวัยนี้เป็นการรักษา และฟื้นฟูสุขภาพให้อยู่ในภาวะที่ควรจะเป็นตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ตลอดจนเป็นการให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง

เพศกับการออกกำลังกาย

ธรรมชาติของเพศชาย และเพศหญิงมีความแตกต่างกันทั้งในทางกายวิภาคศาสตร์ และสรีรวิทยา สำหรับเด็กอายุระหว่าง 2 – 10 ปี ความสามารถทางร่างกายอาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่พออายุระหว่าง 10-15 ปี ความสามารถของชายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าหญิง ทั้งนี้เนื่องมาจากขนาดของร่างกาย ส่วนประกอบของร่างกาย โครงสร้างของร่างกาย ระบบการใช้พลังงาน ความแข็งแรง และความอดทนของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน

ประวัติการออกกำลังกาย
คุณค่าของการออกกำลังกาย
วัยกับการออกกำลังกาย
หลักปฏิบัติสำหรับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
ประเภทของการออกกำลังกาย
การกำหนดแนวทางวิธีดำเนินการในการออกกำลังกายและการทดสอบสำหรับแต่ละบุคคล
การกำหนดแนวทางวิธีดำเนินการในการออกกำลังกาย
ความอ่อนตัว
สมรรถภาพของกล้ามเนื้อ
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค
ชีพจรกับการออกกำลังกาย
ผลของการออกกำลังกายที่มีต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย