ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ประวัติพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
ความหมายของศาสนา
ศาสนสถาน
ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา
วิปัสสนา
สมาธิ

สมาธิ

ความหมายของสมาธิ สามารถอธิบายได้ทั้งในเชิงลักษณะผลของสมาธิที่เกิดขึ้นและอธิบายในลักษณะในเชิงการปฏิบัติ

1. ความหมายในเชิงลักษณะผลของสมาธิ
สมาธิ คือ อาการที่ใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ สงบรวมเป็นหนึ่ง มีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นด้วยใจตนเอง

2.ความหมายในเชิงลักษณะการปฏิบัติสมาธิ
สมาธิ แปลว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด หรือการที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน

การฝึกสมาธิ (เริ่มต้น) อย่างง่ายๆ ก่อนที่เราจะฝึกสมาธินั้น ต้องหาความหมายของคำว่า "สมาธิ" ก่อนว่า สมาธิคืออะไร? สมาธิเกิดจากอะไร ? สมาธิคือการที่มีจิตมุ่งอยู่ในอารมณ์ ๆ เดียว สมาธินั้นมีการฝึกกันเรื่อยมา ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ชี้นำให้เกิดปัญญาในการพิจารณาสภาวะที่จะเกิดขึ้นในธรรมชาติ พูดง่ายๆ คือในตัวเรา เราจะรู้ได้ว่า....เราได้สมาธิจากอะไร ?

การที่จิตจะตั้งมั่นนั้นเกิดขึ้นจากการเจริญสติ การเจริญสติ.....ก็คือการรู้ รู้ตัว รู้รอบ นี่เป็นบทสำคัญที่สุด เพราะอยู่ในพุทธศาสนา จึงสอนไว้ในเรื่องมหาสติปัฏฐาน 4 ให้เรามีสติ รู้เรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม นี่เป็นเรื่องเบื้องต้น

เราต้องทำความรู้เนื้อรู้ตัวกับตัวเองก่อน โดยการเริ่มมาศึกษาตัวเอง โดยทำความรู้เนื้อรู้ตัว และทำสติให้เจริญเกี่ยวกับกาย เวทนา จิต ธรรม เริ่มต้นจาก กาย เมื่อเราอยู่กับกาย ให้เริ่มต้นจากลมหายใจ ระลึกได้ รู้ได้ว่ามีลมหายใจอยู่ เพราะฉะนั้น.....วิธีแรกก็คือมีสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ เป็นอนุสสติ 1 ใน 10 ที่สำคัญมาก การกำหนดลมหายใจถือว่าเป็นกรรมฐานที่มีผลดีที่สุดใน 40 วิธี มีคุณมาก อันตรายที่เกิดขึ้นน้อยที่สุด อันตรายที่เกิดจากการวิปลาสน้อยมาก การนั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องมานั่งหลับหูหลับตา อยู่ที่ต้องมีสติกับอากัปกริยาทั้ง 4 ไม่ว่าจะ ยืน เดิน นั่ง นอน มีสติตามดูตามรู้ตลอด นี่คือการเจริญสติ

เมื่อสติตั้งมั่น สมาธิก็เกิด อย่างเช่น เวลาที่เราทำงาน เราทำงานด้วยความตั้งใจตลอด ทำไปโดยที่ไม่ต้องสนใจคนรอบข้าง ใครเรียกก็แทบไม่ได้ยิน นั่นแหละสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ว่าสมาธิต้องมานั่งหลับตา แยกตัวออกจากสังคม ไม่ใช่อย่างนั้น นี่เป็นขั้นพื้นฐาน เป็นการทำควบคู่กับการใช้ชีวิตประจำวัน คือการกำกับสติตลอด เมื่อเราทำอย่างนี้มากขึ้น ความละเอียดก็จะมีมากขึ้น สติมีมากขึ้น สมาธิก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำตรงนี้ให้มากขึ้น เราต้องการให้เกิดสมาธิ เพื่อให้เกิดผล ตรงนี้มันเป็นผล มันไม่ถูก เหมือนเราปลูกต้นไม้ เรารดน้ำ ให้ปุ๋ย ส่วนจะออกผลหรือไม่ ไม่ต้องไปสนใจ ทำให้ดีที่สุด ตั้งใจ ทำด้วยความจริงใจ จับจด จับจ้อง แล้วผลมันจะเกิดขึ้นเอง

 

ทั้งนี้ต้องทำด้วยความตั้งใจ พร้อมด้วยอิทธิบาท 4 คือ

ฉันทะ (ความพึงพอใจที่จะศึกษา)
วิริยะ (ความเพียร)
จิตตะ (ตั้งใจมั่น เอาจริงเอาจัง)
วิมังสา (พิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบ)

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ

  1. เราทำสมาธิเพื่อให้จิตของเราสงบเป็นสมาธิ เกิดความมั่นคง สามารถที่จะต้านทานต่ออารมณ์ที่มากระทบไม่ให้เกิดความหวั่นไหว
  2. เมื่อจิตของเราสงบเป็นสมาธิปราศจากอารมณ์ เราจะได้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตของเราที่ไม่มีอารมณ์นั้นเป็นอย่างไร เมื่อมันออกมารับรู้อารมณ์แล้ว

เมื่อเรารู้ความเป็นจริงของจิตของเรา เมื่อจิตอยู่ว่างๆ ไม่มีอารมณ์ มันสบายหรือไม่ มีความสุขหรือไม่ รู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น เราทุกข์หรือไม่ เราเดือดร้อนหรือไม่ ต้องอ่านจิตของเราก่อน

ในขั้นตอนต่อไป เราสามารถที่จะทำจิตของเรานี้ให้ดำรงอยู่ในความอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งอื่นใด เมื่อเราได้ทำไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าเรายังมีความคิดว่า การทำสมาธิต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้วิเศษเข้ามาช่วยดลจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบสุข เข้าไปสู่พระนิพพาน ก็เป็นการเข้าใจผิด และผิดหลักของพระพุทธศาสนา

คิดบวกชีวิตบวก

  • เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ
  • เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือบทเรียนที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ
  • เวลาเจอความทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต
  • เวลาเจอนายจอมละเมียด ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือการฝึกตนให้เป็นคนสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)
  • เวลาเจอคำตำหนิ ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือการชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ
  • เวลาเจอคำนินทา ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือการสะท้อนว่าเรายังคงเป็นคนที่มีความหมาย
  • เวลาเจอความผิดหวัง ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือวิธีที่ธรรมชาติกำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต
  • เวลาเจอความป่วยไข้ ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือการเตือนให้เห็นคุณค่าของการรักษาสุขภาพให้ดี
  • เวลาเจอความพลัดพราก ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือบทเรียนของการรู้จักหยัดยืนด้วยขาตัวเอง
  • เวลาเจอลูกหัวดื้อ ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือโอกาสทองของการพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง
  • เวลาเจอแฟนทิ้ง ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือความเป็นอนิจจังที่ทุกชีวิตมีโอกาสพานพบ
  • เวลาเจอคนที่ใช่แต่เขามีคู่แล้ว ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือประจักษ์พยานว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างดั่งใจหวัง
  • เวลาเจอภาวะหลุดจากอำนาจ ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือความอนัตตาของชีวิตและสรรพสิ่ง
  • เวลาเจอคนกลิ้งกะล่อน ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คืออุทาหรณ์ของชีวิตที่ไม่น่าเจริญรอยตาม
  • เวลาเจอคนเลว ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือตัวอย่างของชีวิตที่ไม่พึงประสงค์
  • เวลาเจออุบัติเหตุ ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือคำเตือนว่าจงอย่าประมาทซ้ำอีกเป็นอันขาด
  • เวลาเจอศัตรูคอยกลั่นแกล้ง ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือบททดสอบว่าที่ว่า “มารไม่มีบารมีไม่เกิด”
  • เวลาเจอวิกฤต ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือบทพิสูจน์สัจธรรม “ในวิกฤตย่อมมีโอกาส”
  • เวลาเจอความจน ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือวิธีที่ธรรมชาติเปิดโอกาสให้เราได้ต่อสู้ชีวิต
  • เวลาเจอความตาย ให้บอกตัวเองว่า
    นี่คือฉากสุดท้ายที่จะทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย