ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
ความหมายของศาสนา
ศาสนสถาน
ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา
วิปัสสนา
สมาธิ
วิปัสสนา
วิปัสสนาก็คือ การเอาสติเข้าไปตามดูตามสังเกต เข้าไปจดจ่อ
เข้าไปใส่ใจ ต่อสภาวะลักษณะที่ปรากฎในขณะนั้น
และต่อความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปต่าง ๆ ทั้งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
เสื่อมไป ดับไปของรูปของนาม หรือของร่างกายของจิตใจ หรือของรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ สะสมข้อมูลที่สังเกตได้นั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ
และนำข้อมูลที่ได้จากการตามดูตามสังเกตนั้น มาพินิจพิเคราะห์ พิจารณาโดยแยบคาย
ให้เห็นว่ารูปนามนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือทุกข์
หรือความสุขที่ได้มานั้นคุ้มกับความทุกข์ที่ต้องเผชิญหรือไม่ อยู่ในอำนาจหรือไม่
เป็นไปตามความปรารถนาหรือไม่ ควรค่าแก่การยึดมั่นหรือไม่
ควรหรือไม่ที่จะถือว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา (
ถ้าจะถือว่าสิ่งใดเป็นเราแล้วสิ่งนั้นก็ควรจะอยู่ในอำนาจ
และเป็นไปตามความปรารถนาของเราอย่างแท้จริง ) ทั้งนี้ก็เพื่อทำการศึกษา
ให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปนามภายใน ภายนอก ในอดีต
ปัจจุบัน อนาคต
คือให้รู้แจ้งเห็นจริงอย่างชัดเจนด้วยปัญญาของตนเองอย่างทะลุปรุโปร่ง
โดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ และไม่ต้องอาศัยความเชื่อผู้อื่นอีกต่อไป (
เพราะรู้ด้วยปัญญาของตนเองแล้ว )
จนกระทั่งเห็นแจ้งว่าภายในเป็นอย่างไรภายนอกก็เป็นอย่างนั้น
ปัจจุบันเป็นอย่างไรอดีตและอนาคตก็เป็นอย่างนั้น ไม่ว่ารูปนามใด ๆ ในเวลาไหน ๆ
ก็เป็นอย่างนั้น
ทั้งนี้ควรทำประกอบกันทั้งการตามดูตามสังเกต
และการพิจารณาโดยแยบคาย ไม่ใช่ทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
เพราะการตามดูตามสังเกตแล้วไม่นำข้อมูลที่ได้นั้น มาพิจารณาโดยแยบคาย
ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นอย่างเต็มที่
ส่วนการตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโดยแยบคาย
โดยไม่มีข้อมูลจากการตามดูตามสังเกตอย่างมากพอ การพิจารณานั้นก็อาจผิดพลาดได้
ดังนั้นจึงควรตามดูตามสังเกตไปเรื่อย ๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาโดยแยบคายเป็นระยะ
ๆ สลับกันไป
เมื่อพิจารณาอะไรไม่ออกแล้ว
ก็แสดงว่าข้อมูลที่สังเกตได้มานั้นยังไม่มากพอที่จะพิจารณาต่อไป
ก็พักการพิจารณาเอาไว้ก่อนอย่าท้อใจเพราะเป็นธรรมดาของการปฏิบัติ
ใช้สติตามดูตามสังเกตรูปนามกันต่อไป เมื่อข้อมูลมากขึ้นก็จะพิจารณาต่อไปได้เอง
หรือบางครั้งเมื่อข้อมูลมากพอแล้ว แม้จะไม่ได้ตั้งใจพิจารณาจิตก็จะแล่นไปได้เอง
คือถึงไม่ได้ตั้งใจพิจารณาก็เหมือนพิจารณา
เมื่อเห็นธรรมชาติที่แท้จริงชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
ในที่สุดก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจของตนเอง
เป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายในรูปนามทั้งปวงอย่างแรงกล้า
เมื่อเบื่อหน่ายก็จะเกิดความรู้สึกคลายความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามทั้งปวงลงไป
เมื่อคลายความยึดมั่นถือมั่นมากเท่าไร กิเลสทั้งหลายที่อยู่ในระดับความหยาบ /
ความประณีตเดียวกันกับความยึดมั่นถือมั่นนั้น ก็จะถูกทำลายลงไปพร้อมกัน
ซึ่งเป็นการทำลายที่ต้นตอของกิเลสนั้นโดยตรง จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาได้อีกเลย
และความรู้สึกนี้จะแผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูของร่างกาย สำนวนในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า
เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดก็จะหลุดพ้น