สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
นันทนาการ นันทนจิต นันทนจิตศึกษา หมายถึงอะไร
ทำไมต้อง นันทนจิต
นันทนจิต ต่างกันหรือเหมือนกันกับ นันทนาการ หรือไม่ อย่างไร
ความหมายและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับนันทนาการ
ที่มาของคำ นันทนจิต แนวคิด ความหมายและคำที่เกี่ยวข้อง
อิวาซากิและแมนเนลล์ (Iwasaki & Mannell, 2000)
แรงกระตุ้นของนันทนจิต
นันทนจิตเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองหรือไม่
ประสบการณ์นันทนจิต (Leisure Experiences)
สรุป
บรรณานุกรม
ที่มาของคำ นันทนจิต แนวคิด ความหมายและคำที่เกี่ยวข้อง
นันทนจิต เป็นคำที่ผู้เขียนคิดขึ้นได้เมื่อครั้งไปเข้ารับการศึกษาอบรมเกี่ยวกับ
นันทนาการบำบัด ที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา บลูมมิงตัน รัฐอินเดียนา
ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2546 เป็นคำมาจากคำในภาษาไทยว่า
นันทน์ อันเป็นคำที่เป็นทั้งคำในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต และเป็นคำนาม มีคำแปลว่า
ความสนุก ความยินดี ความรื่นเริง (พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530, หน้า
272) มาสมาสกับคำว่า จิต ที่เป็นคำนาม มีคำแปลว่า ใจ สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิด
และนึก (พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530, หน้า 144)
เมื่อนำคำแปลของคำทั้งสองมารวมกันน่าจะแปลว่า
ใจที่มีแต่ความสนุกสนานรื่นเริงยินดี
ความหมายของนันทนจิต
ดังที่ได้เคยกล่าวถึงเกี่ยวกับคำว่า
Leisure ที่ผู้ใช้คำนี้ส่วนใหญ่มักจะคิดกันถึงแต่ความหมายที่ว่า เวลาว่าง ยกเว้น
นิสิตนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาพลศึกษา
ซึ่งจะหมายรวมถึงบัณฑิตในสาขาวิชาสุขศึกษาและสาขาวิชานันทนาการ
และนิสิตนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับนันทนาการ เช่น
นันทนาการขั้นนำ ค่ายพักแรม การเป็นผู้นำนันทนาการ เป็นต้น
รวมถึงผู้ที่มีความสนใจใฝ่รู้เท่านั้นที่ (บางคนอาจ) จะทราบถึงความหมายของคำว่า
Leisure (ซึ่งผู้เขียนจะเขียนคำนี้เป็นภาษาไทยว่า นันทนจิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป)
ที่ลึกซึ้งมากกว่าคำว่า เวลาว่าง และมากความหมายขึ้น ในปี 1899 เว็บเบล็น
(Veblen, 1953 อ้างถึงใน Kelly, 1996) ให้คำจำกัดความของคำ
นันทนจิตว่าเป็นการใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
แคพแพลน (Kaplan, 1975) ได้ให้คำจำกัดความของคำนันทนจิต โดยแบ่งออกเป็น 6
ประเภท
คาแพลนยอมรับว่าคำจำกัดความที่จะกล่าวไม่ได้เริ่มมาจากพื้นฐานที่จะนำไปสู่การสรุปเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น คำจำกัดความที่เกี่ยวข้องกับ Humanistic or Classic
เริ่มต้นจากความคิดรวบยอดของ Humanity และต้องการอิสระจากสิ่งที่เป็นความจำเป็น
ในแง่ของการบำบัด (Therapeutic Approach) มีสมมติฐานว่า คนบางคนมีสุขภาพด้อยกว่า
และนันทนจิตจะดีสำหรับพวกเขา ในแง่ของรูปแบบที่เน้นปริมาณ (Quantitative Model)
จะกล่าวถึงเวลาที่ถูกใช้ว่าใช้ไปอย่างไร ในแง่ที่เกี่ยวกับความคิดด้านสถาบัน
(Institutional Concept) จะกล่าวถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ
ภายในระบบของสังคมที่นันทนจิตควรจัดให้บริการโดยโรงเรียน ครอบครัว โบสถ์ เศรษฐกิจ
และจังหวัด/รัฐ ในแง่ของความคิดรวบยอดที่เกี่ยวกับทฤษฎีความรู้ (Epistemological
Conception) มีพื้นฐานอยู่ที่คุณค่าทางวัฒนธรรม และในแง่ของสังคม (Sociological
Approach) เริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่า คำว่า นันทนจิตและคำอื่น ๆ
ถูกให้คำจำกัดความในบริบททางสังคม โดยผู้มีบทบาททางสังคม (Social Actors)
เป็นผู้กำหนดความหมายให้ คาแพลนกล่าวให้ชัดเจนขึ้นว่า
คำจำกัดความมักจะแตกต่างกันอย่างลิบลับตามวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันของมนุษย์และโลก
เมอร์ฟีย์ (Murphy, 1974) ได้จัดประเภทคำจำกัดความของคำว่า นันทนจิต ไว้
6 ประเภท คล้ายกับที่คาแพลนได้กล่าวมาแล้ว ได้แก่
- เวลาที่สามารถใช้ได้ตามต้องการ (Discretionary Time) นันทนจิตในฐานะของเวลาที่เหลือ จากการทำงานในหน้าที่และภาระกิจตามความจำเป็นของมนุษย์
- เครื่องมือทางสังคม (Social Instrument) นันทนจิตในฐานะสื่อไปสู่เป้าหมายทางสังคม เช่น การบำบัดการเจ็บป่วย (Therapy for the ill) เป็นหนทางไปสู่การมีส่วนร่วมทางสังคม เป็นการพัฒนาทักษะ และเป็นการทำหน้าที่ทางสังคมให้สมบูรณ์ (Fulfillment of Social Functions)
- ชั้นทางสังคม เชื้อชาติ และอาชีพ (Social Class, Race, and Occupation) นันทนจิตในฐานะ ที่ถูกกำหนดโดยสังคมและมรดกทางสังคม รูปแบบการกำหนดเป็นพื้นฐานของการวิจัยเกี่ยวกับการทำนายการเข้าร่วมกิจกรรม และ ดังนั้น ที่กล่าวนี้จึงมิใช่คำจำกัดความแต่เป็นสมมติฐานทางสังคม (Sociological Assumption)
- ความหมายดั้งเดิม (Classic) นันทนจิตในฐานะที่เป็นภาวะของความเป็นอิสระ สภาวะ ของจิตวิญญาณ และ เป้าหมายที่บรรลุได้ยาก
- การต่อต้านผู้ถือลัทธิเอาประโยชน์ (Antiutilitarian) นันทนจิตในฐานะที่เป็นจุดจบใน ตัวเอง ไม่ใช่ สิ่งที่เป็นรองจากการงาน (Not Secondary to Work) เช่น การแสดงออกส่วนตน (Self-Expression) และ การทำให้ตนเองได้รับความพึงพอใจอย่างเต็มที่ (Self-Fulfilling Satisfaction)
- โดยภาพรวม (Holistic) นันทนจิตในฐานะของสิ่งที่สามารถค้นพบได้ในสิ่งที่ไม่เคยได้พบ หรือไม่เคยรู้มาก่อนจากกิจกรรมใดใด ในทุกสถานที่ ดังที่ เมอร์ฟีย์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า นันทนจิต ที่แท้จริงก็คือ ความเป็นอิสระจากการสนับสนุนของตนเองที่แสดงออกในกิจกรรม (Murphys premise is that true leisure is person-enhancing freedom expressed in activity)
จากพจนานุกรมเวิร์ดเน็ต ( WordNet Dictionary) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า
นันทนจิต ในฐานะที่เป็น คำคุณศัพท์ (adj) ว่า
เป็นการว่างจากหน้าที่หรือความรับผิดชอบ
จากการสัมมนานานาชาติเกี่ยวกับนันทนจิตศึกษา (Leisure Education)
ที่เมืองเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล เมื่อปี ค.ศ. 1993 ได้ให้ความหมายคำ
นันทนจิตไว้ว่า นันทนจิตเป็นบริเวณเฉพาะ (Specific Area)
ของประสบการณ์ของมนุษย์ที่พร้อมด้วยคุณประโยชน์ของตัวมันเอง อันรวมไปถึง
ความเป็นอิสระที่จะเลือก (Freedom of Choice) ความสร้างสรรค์ (Creativity)
ความพึงพอใจ (Satisfaction) ความร่าเริง (Enjoyment)
และความพึงพอใจและความสุขที่เพิ่มมากขึ้น (Increased pleasure and happiness)
นันทนจิต
เป็นการรวบรวมรูปแบบของการแสดงออกหรือกิจกรรมที่มีองค์ประกอบทางกายภาพ สติปัญญา
สังคม ศิลปะ
หรือจิตใจที่มีสภาพเป็นธรรมชาติด้วยความตั้งใจที่แรงกล้าให้เข้ามาก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับการดำรงชีวิตในฐานะที่เป็น
วิถีแห่งชีวิต (WLRA International Charter for Leisure Education. Drafted and
Approved at the WLRA International Seminar on Leisure Education, Jerusalem,
Israel, August 2-4 1993 and ratified by the WLRA Board, Jaipur, India, Dec. 3
1993.)
นอกจากนั้น นันทนจิต ในฐานะที่เป็นคำนาม อาจแปลว่า
เวลาที่มีอยู่เพื่อใช้ในการทำสิ่งที่ทำให้มีความสุขสบายและความผ่อนคลาย
ดังประโยคตัวอย่างที่ว่า "His job left him little leisure"
โดยมีความหมายในคำภาษาอังกฤษว่า leisure time หรือ free time, หรือ spare time
ที่มีความหมายว่า - to that is free for leisure activities
หรือที่ใช้เป็นภาษาไทยว่า เวลาว่าง ที่ส่วนใหญ่เข้าใจและใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
นันทนจิต อาจหมายถึง เวลาที่ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกได้อย่างอิสระ
และ/หรือเป็นกิจกรรมที่คัดสรรสำหรับแต่ละบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานหรือรูปแบบกิจกรรมอื่น
ๆ ที่นับว่าเป็นความจำเป็นหรือว่าถูกบังคับให้กระทำ และเป็นสิ่งที่คาดว่า
หลังจากการเข้าร่วมหรือประกอบกิจกรรมนั้น ๆ ไปแล้วจะทำให้เกิดความรู้สึกที่พึงพอใจ
มีความผูกพัน มีความสุข เป็นไปเอง โดยตนเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครมากระตุ้น
ที่เกิดขึ้นทันที เป็นความประหลาดมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในใจ หรือเกิดจินตนาการ
ทำให้บรรลุสมความปรารถนา ได้แสดงออกซึ่งตัวตนของตน และมีการพัฒนาตนเอง อาจกล่าวว่า
นันทนจิต เป็นอาณาจักรของกิจกรรมที่สำคัญของชีวิต
เป็นสาระที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาตลอดชีวิต (lifelong development)
และเป็นความเจริญรุ่งโรจน์ความผาสุกความสุขใจของบุคคล (personal well-being)
คอร์เดส และ อิบราฮิม (Cordes and Ibrahim, 1996)
ได้กล่าวถึงการให้คำจำกัดความของคำ นันทนจิตว่า เป็นการยากที่จะให้คำจำกัดความ
เพราะแนวโน้มของผู้ให้จะกล่าวถึงคำจำกัดความในเชิงอัตนัยระดับสูง
และความหมายของนันทนจิตจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละวัฒนธรรม
นักวิชาการด้านนันทนาการศาสตร์จำนวนมากก็รู้สึกเสียใจกับความยากที่จะให้คำจำกัดความของคำนันทนจิตให้เป็นที่พึงพอใจได้
อย่างไรก็ตาม คอร์เดส และ อิบราฮิม
ก็ได้สรุปความหมายของนันทนจิตไว้เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของการเขียนหนังสือ
เรื่อง Applications in Recreation and Leisure ว่า นันทนจิต คือ
ความยินยอมที่จะกระทำสิ่งใดใดตามความพึงพอใจตามอัตภาพ
การเข้าร่วมในกิจกรรมตามการเลือกของตน
และการยกเลิกการเข้าร่วมกิจกรรมตามความตั้งใจของตนเอง