ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
แนวทางการใช้เหตุผลของมนุษย์แนวตะวันตก
การใช้เหตุผลแนวเหตุผลนิยม
การใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม
การใช้เหตุผลแนวปฏิบัตินิยม
การใช้เหตุผลแนวประโยชน์นิยม
การใช้เหตุผลแนวมนุษย์นิยม
บรรณานุกรม
การใช้เหตุผลแนวปฏิบัตินิยม
ความหมาย
ปฏิบัตินิยม (Pragmatism)
เป็นแนวคิดและวิธีการให้เหตุผลซึ่งก่อตัวขึ้นในสหรัฐอเมริกา
ในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมีชาร์ล เอส. เพียร์ส (Charles S. Peirce,
ค.ศ.1839-1914) เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาแนวคิดขึ้นในปี ค.ศ. 1870 และต่อจากเพียร์ส
ก็มีวิลเลี่ยม เจมส์ (William James, พ.ศ.2385-2453) จอห์น ดิวอี้ (John Dewey,
พ.ศ.2402-2495) เป็นต้น
ซึ่งได้เป็นผู้นำเอาแนวคิดและวิธีการให้เหตุผลแนวปฏิบัตินิยมนี้ไปเผยแพร่
จนเป็นที่รู้จักกันในวงการวิชาการ
พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยาม
ปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ว่าเป็นแนวคิดทางปรัชญาที่มีสาระสำคัญว่าด้วยเรื่อง
ความหมาย และ ความจริง โดยยึดหลักว่า
- สิ่งใดจะถือว่ามีความหมายหรือไม่ ให้ดูที่ผลทางการปฏิบัติของสิ่งนั้น
เรื่อง 2 เรื่อง ถ้ามีผลทางการปฏิบัติอย่างเดียวกัน ก็ต้องถือว่า 2
เรื่องนั้นมีความหมายหรือมีค่าเท่ากัน เช่น ถนน 2 สายมุ่งตรงสู่ที่หมายเดียวกัน
สายหนึ่งเป็นทางตรง แต่ขึ้นภูเขาหลายเทือก อีกสายหนึ่งเป็นทางอ้อม คดเคี้ยวไปมา
ผลของการเดินรถ 2 คันที่ใช้เส้นทาง 2 สายนั้น ปรากฏว่าใช้เวลาถึงที่หมายพอ ๆ
กัน อย่างนี้ก็ต้องถือว่ามีความหมายหรือมีค่าเท่ากัน เป็นต้น
- สิ่งใด หากนำไปปฏิบัติแล้ว ได้ผลจริงตามที่คาดหมาย สิ่งนั้นก็ถือว่าจริง นั่นก็คือว่า สิ่งที่จะถือว่าเป็นจริงหรือไม่ ให้นำไปปฏิบัติก่อน ถ้าปฏิบัติแล้ว ได้ผลจริงตามที่คาดหมาย ก็ถือว่าจริง ถ้าปฏิบัติแล้ว ไม่ได้ผลจริงตามที่คาดหมาย ก็ถือว่าไม่จริง เช่น มีคนบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง (สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา) ก็ต้องไม่เชื่อทันที แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติโดยการสังเกต พิสูจน์ ทดลอง ดูสิ่งต่าง ๆ ว่า เป็นจริงตามที่พูดหรือไม่ ถ้าสังเกต พิสูจน์ ทดลองแล้ว ได้ผลจริงตามที่มีคนบอก คำพูดที่บอกนั้นก็ต้องถือว่าเป็นจริง ถ้าไม่ได้ผลจริง ก็ต้องถือว่าคำบอกนั้นไม่จริง เป็นต้น
ปฏิบัตินิยมเป็นการพยายามตีความแต่ละความคิดโดยการโยงไปสู่ผลในทางปฏิบัติ
หากปฏิบัติแล้วเกิดผลตามที่บอก คาดหมาย และปฏิบัติการ ก็ถือว่ามีความหมาย มีคุณค่า
และเป็นจริง ในกรณี 2 สิ่ง ถ้าความคิดหนึ่งเป็นจริงมากกว่าอีกความคิดหนึ่ง
ก็แสดงว่า 2 อย่างมีความแตกต่างกันบางอย่างในทางปฏิบัติ
ถ้าไม่พบความแตกต่างกันในการโยงไปสู่ผลในทางปฏิบัติ
ความคิดเหล่านั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือมีค่าเท่ากัน
แนวคิด
ปฏิบัตินิยม เป็นแนวคิดที่มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ
คือ
- มีแนวคิดว่า จักรวาลนี้เปิดกว้าง เปลี่ยนแปลง ไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะฉะนี้
เราจึงไม่อาจยึดติดอยู่กับทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งตลอดไปได้
ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า
ทฤษฎีที่เราใช้ยังมีผลทางปฏิบัติอยู่หรือไม่
ถ้าทฤษฎีใดยังคงมีผลทางการปฏิบัติอยู่ เราก็ใช้ทฤษฎีนั้นต่อไป ถ้าไม่มีผลแล้ว
เราก็เลิก ละ ทิ้ง ทฤษฎีนั้นเสีย หันไปใช้ทฤษฎีอื่นที่เหมาะสมกว่า
ไม่ควรกอดของเก่าเป็นสรณะอยู่ตลอดไปทั้งที่มันไม่มีประโยชน์ต่อตัวเรา สังคม
และประเทศชาติแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เราล้าหลัง ไม่ทันสมัย และไม่พัฒนา
- มีแนวคิดว่า การลงมือกระทำจริง โอกาสแห่งความสำเร็จมีความเป็นไปได้
นั่นก็คือ ในการกระทำการใด ๆ การเริ่มต้นลงมือทำการนั้น ๆ
ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสจะสำเร็จและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ถ้าเราไม่นับ 1
จะมี 2 มี 3... ได้อย่างไร ถ้าเราเริ่มนับ 1 นับ 2 นับ 3... ไปเรื่อย ๆ
โอกาสถึง 10 ก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ ด้วยเหตุฉะนี้ จึงถือว่า
การลงมือทำสร้างโอกาสที่จะสำเร็จเป็นจริง
- มีแนวคิดว่า อนาคตขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์ หมายความว่า โลกแห่งอนาคตขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ถ้ามนุษย์หยุดนิ่งไม่กระทำการใด ๆ ใหม่ ๆ ให้เกิดมีขึ้น โลกแห่งอนาคตก็จะหยุดนิ่งเช่นกัน
หลักการของปฏิบัตินิยม เป็นแนวคิดที่เน้นย้ำในเรื่อง :
- การลงมือปฏิบัติการจริง คือจะต้องไม่เพียงแต่คิดและพูดว่าจะทำ...จะทำ...เท่านั้น แต่ให้ลงมือ กระทำจริง ๆ แล้วผลทางปฏิบัติก็จะเกิดมีขึ้น
- การมีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ คือ ผลแห่งการกระทำที่ออกมา ให้ผลน่าพอใจ เป็นความ สำเร็จ กำไร คุ้มทุน คุ้มค่า
- การมีคุณประโยชน์ของผลทางการปฏิบัติ คือผลของการกระทำที่ออกมาจะต้องมีคุณประโยชน์แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติ
ปฏิบัตินิยม นอกจากจะเน้นย้ำใน 3 เรื่องดังกล่าวแล้ว
ยังได้ชื่อว่าเป็นแนวคิดแห่งการกระทำ การทดลอง และการแสวงหาความสำเร็จจากการกระทำ
เพื่อเอาชนะปัญหา อุปสรรคทั้งปวง โดยแสวงหาวิถีทางว่า จะทำอย่างไร
จึงจะปรับปรุงพัฒนาโลกนี้ให้ดีขึ้น
เพื่อก่อให้เกิดความผาสุกแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์
ชาวปฏิบัตินิยมเชื่อมั่นในหลักการและวิธีการของวิทยาศาสตร์ว่าจะช่วยให้มนุษย์มีความรู้ที่มีผลทางปฏิบัติ
ช่วยให้มนุษย์รู้ความเป็นไปของสรรพสิ่ง และให้อำนาจมนุษย์ที่จะควบคุมธรรมชาติ
คือการเปลี่ยนแปลงสภาพของโลกให้เป็นไปในแนวทางที่มนุษย์ต้องการ
ความรู้และความจริงในทัศนะปฏิบัตินิยมคือ
- ความรู้ต้องได้มาจากประสบการณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย
เพราะประสบการณ์ทั้ง 5 ทางนี้ให้ความรู้โดยตรงแก่เรา
ความรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์
เพราะประสบการณ์ที่ได้รับรู้มาก่อให้เกิดความคิด
และความคิดก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการกระทำการใด ๆ ของมนุษย์ต่อไป
ชาวปฏิบัตินิยมปฏิเสธความรู้ที่ได้โดยอาศัยปัญญาหรือการคิดหาเหตุผลทางทฤษฎีหรือนามธรรมล้วน ๆ ที่เรียกว่าเหตุผลนิยม (Rationalism) โดยถือว่า ความรู้ชนิดนี้ หากยังไม่เอาแนวคิดไปปฏิบัติจริง ยังไม่มีผลทางปฏิบัติเกิดขึ้น ก็ยังไม่ถือว่าเป็นความรู้ เป็นได้แค่ความเพ้อฝันเท่านั้น -
ไม่มีความรู้ใดในโลกคงที่แน่นอนตายตัวโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องยึดเป็นสรณะตลอดไป
โลกที่ประกอบไปด้วยส่วนย่อย ๆ หลากหลาย กระจัดกระจายกันอยู่นี้
มีการเปลี่ยนแปลงได้ เคลื่อนไหว และพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่งตายตัว
ความรู้ทุกอย่างที่รู้และที่มีอยู่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ
เพื่อแก้ปัญหาและก่อให้เกิดความผาสุก ความอภิรมย์ ในบั้นปลาย เช่น
กรณีการมีเงินของบุคคล เงินสำหรับเขา/เธอแล้วมิใช่ความสุข
แต่เป็นเครื่องมือในการก่อให้เกิดความสุข ถ้าใครยึดมั่นเงินว่าเป็นความสุข
เขา/เธอก็จะได้รับความทุกข์เพราะอุปาทานยึดมั่นในเงินนั้น เป็นต้น
มนุษย์จึงต้องคิดหาปรับปรุงความรู้ต่าง ๆ ของตนที่มีอยู่เสมอ
เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ทันต่อปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ความรู้ใดที่ไม่เหมาะ
ไม่สะดวก ที่จะนำเอาไปใช้เป็นเครื่องมือปฏิบัติการได้แล้ว ก็เลิก ละ ทิ้งเสีย
พยายามคิดค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ ที่ทันสมัยมาใช้ปฏิบัติอยู่เรื่อยไป
- โลกที่มนุษย์เรารับรู้เป็นสิ่งแท้จริง ถูกสร้างขึ้น แต่กระนั้นดูจะสร้างมายังไม่สมบูรณ์นัก เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องสร้างสรรค์เติมเต็มให้ดีขึ้นและสมบูรณ์ขึ้นตามที่ต้องการตรงตามความมุ่งหมายของตน สังคม และประเทศชาติต่อไป
ความจริงมีลักษณะ 5 ประการ คือ
1)
เป็นสิ่งที่ผ่านการปฏิบัติด้วยการสังเกต พิสูจน์ ทดลอง
2) เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยผลทางการปฏิบัติ
3) เป็นเหมือนเครื่องมือทางการปฏิบัติ ดังกระจกที่ส่องหาความจริง
4) เป็นสิ่งเฉพาะและสัมพัทธ์ ไม่ตายตัว
5) ไม่จำเป็นต้องเป็นจริงอยู่ตลอดไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง
ปฏิบัตินิยม
เป็นแนวคิดและวิธีการให้เหตุผลที่ผสมกลมกลืนทางทัศนะและทฤษฎีต่าง ๆ
โดยจะไม่ยึดติดทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดเป็นการเฉพาะแต่จะดัดแปลงแต่ละทฤษฎีที่มีอยู่เอาไปใช้ให้เกิดผลและมีประสิทธิภาพทางการปฏิบัติมากที่สุด
วิธีการปฏิบัตินิยมจะไม่มีการสรุปเป็นกฎใดกฎหนึ่งตายตัว
แต่จะอยู่ตรงกลางแนวคิดและทฤษฎีทั้งหลายที่สามารถจะหยิบฉวยเอามาใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้
วิธีการเข้าถึงความจริงตามทัศนะของปฏิบัตินิยมมี 3 ขั้นตอน คือ
1) ต้องมีแนวความเชื่อ สมมุติฐาน หรือทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่ง
2) ลงมือปฏิบัติการ ทดลอง พิสูจน์ ตามแนวคิดหรือทฤษฎีนั้น ๆ
3) แนวคิดหรือทฤษฎีใดสามารถนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติได้
หรือนำไปใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ได้
แนวคิดหรือทฤษฎีนั้นเป็นเครื่องมือให้บรรลุความจริงได้
ถ้าไม่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ หรือใช้แล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
ก็ถือว่ามิใช่เป็นวิธีการที่ดี
แนวคิดและวิธีการใช้เหตุผลแนวปฏิบัตินิยม อาจเห็นได้ ดังนี้
ชาวปฏิบัตินิยม โดยเฉพาะชาร์ลส์ เอส. เพียร์ส ผู้ได้ชื่อว่าเป็น
บิดาแห่งปฏิบัตินิยม เสนอแนวคิดว่า
ประสิทธิภาพทางการปฏิบัติในการนำแนวคิดหรือทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดมาใช้ปฏิบัติ
จะเป็นตัวกำหนดความจริงแห่งการกระทำของคนเรา
โดยดูที่ผลทางการปฏิบัติของสิ่งนั้นต่อชีวิตคนเราว่า มันจะจริงหรือเท็จ คุ้มหรือไม่
มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ในการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด
ความเชื่อมั่นของบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะว่าความเชื่อมั่นเป็นกฎแท้จริงแห่งการกระทำ ถ้าขาดความเชื่อมั่นเสียแล้ว
ก็จะกระทำการอย่างไม่จริงจังเติมที่ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของการกระทำนั้นมีน้อย
ถ้ายังไม่รู้วิธีอื่นใดในการดำเนินการ ก็ควรใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ คือการสังเกต
พิสูจน์ ทดลอง เป็นวิธีการปฏิบัติ เพราะเป็นวิธีการทางปฏิบัติที่ดี
เหมาะที่จะนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิต และใช้ได้ผลดีทางการปฏิบัติจริง แต่กระนั้น
ถ้ามีวิธีอะไรที่ดีกว่า ก็อาจเปลี่ยนไปใช้วิธีสิ่งอื่นหรือวิธีอื่นได้
ไม่ควรยึดติดอยู่เฉพาะวิธีการหนึ่งวิธีการใดเป็นการเฉพาะ
แนวคิดและวิธีการของสำนักปฏิบัตินิยม เช่น วิลเลี่ยม เจมส์
มีหลักทางการปฏิบัติว่า
- โลกของเรามีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี
มนุษย์เราเกิดมาก็เพื่อจะกำจัดความชั่วร้ายและสร้างสรรค์โลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม
โดยเชื่อว่า
โลกของเราสามารถจะทำให้ดีขึ้นได้ด้วยความพยายามสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่โลก
- โลกมีความหลากหลาย
การสร้างสรรค์ชีวิตให้เหมาะสมกับการดำรงอยู่เป็นสิ่งดีงาม
และการต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคใด ๆ เพื่อความถูกต้อง ชอบธรรม ดีงาม
นับเป็นการต่อสู่ที่น่าเพลิดเพลิน ชีวิตยังมีความหวังอันเต็มเปี่ยม
โดยพยายามดำเนินชีวิตอย่างมีหลักปฏิบัติ
- โลกที่เราอยู่อาศัยนี้เป็นโลกแห่งการปฏิบัติ เป็นโลกแห่งการเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อการปรับปรุงตนเองและโลกให้ดีขึ้น ชีวิตมนุษย์มีลักษณะผจญภัยและต้องต่อสู้อยู่เสมอ ความเชื่อมั่นในการกระทำการใด ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ชาวปฏิบัตินิยมถือว่า ความจริงไม่มีค่าในตัวเอง
ความจริงคือสิ่งที่มนุษย์นำมาปฏิบัติใช้ได้
แนวคิดหรือทฤษฎีใดหากปราศจากอิทธิพลทางการปฏิบัติก็ถือว่าไร้ความหมายและไร้ความค่า
สภาวะนามธรรมใด ๆ เป็นสิ่งไร้คุณค่า
ถ้ามันไม่อยู่ในฐานะที่จะปรากฏให้เห็นประจักษ์ทางปฏิบัติได้
และสิ่งที่จะยืนยันความมีคุณค่าแท้จริงของแนวคิดหรือทฤษฎีใด ๆ
อยู่ที่การสามารถนำเอาไปใช้ได้ หากสามารถนำไปใช้ในประสบการณ์ของชีวิตได้
แนวคิดหรือทฤษฎีนั้นก็ถือว่ามีค่าแห่งความจริง มีประโยชน์ มีผลดีในทางปฏิบัติ
มิเช่นนั้น มันก็เป็นแค่ความเพ้อฝันเท่านั้นเอง
หลักจริยศาสตร์ของปฏิบัตินิยมมีว่า สิ่งที่ให้ผล คือสิ่งที่จริง
และสิ่งที่จริง คือสิ่งที่ดี โดยถือว่า แก่นแท้ของคำว่า ดี
อยู่ที่สนองความต้องการของบุคคลและสังคมได้ หลักปฏิบัตินิยม โดยเฉพาะของวิลเลี่ยม
เจมส์ จะไม่ปฏิเสธข้อสมมุติใดที่ให้ประโยชน์แก่ชีวิต ดังนั้น ในทัศนะของปฏิบัตินิยม
ความเชื่อทางศาสนาที่คนบางคนในปัจจุบันบอกว่าเป็นเรื่องเหลวไหลหรือเป็นยาเสพติดก็ถือว่าอาจมีประโยชน์ทางปฏิบัติหากความเชื่อนั้น
ๆ ยังช่วยจรรโลงโลกได้ คือ ช่วยให้ชาวโลกที่นับถือมีความสุข ก่อเกิดผลดี
หรือเป็นแนวทางปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของชีวิตผู้คนได้
ภาวะเช่นนี้สำหรับนักปฏิบัตินิยมแล้วก็ถือว่าน่าพอใจและเป็นจริงได้
สำหรับนักปฏิบัตินิยมบางคน เช่น จอห์น ดิวอี้ แนวคิดหรือทฤษฎีใด ๆ
เป็นเครื่องมือในการขจัดปัญหา อุปสรรค
และในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยถือว่า
- ความรู้ใด ๆ ของมนุษย์มีค่าเสมือนกระจกส่องสะท้อนความจริงของโลกที่ถือว่ายังไม่สมบูรณ์นี้ ให้เราได้รับรู้และเพื่อการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
- ความคิดถึงอนาคตเป็นตัวกระตุ้นก่อให้เกิดความก้าวหน้าจึงควรใส่ใจต่อโลกแห่งอนาคตอย่างจริงจัง ไม่ใช่เอาแต่สนใจแต่อดีตที่ผ่านไปแล้วหรือคิดย่ำอยู่กับที่กับปัจจุบัน ไม่ยอมก้าวไปข้างหน้า
- โลกและทุกสิ่งในโลกมีสภาวะเป็นกลาง สามารถสร้างสรรค์ให้ดีงามกว่าเดิมได้ โดยอาศัยสติปัญญา และความพากเพียรพยายามของมนุษย์เอง
โดยนัยนี้ ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ เพราะไม่ว่าจะเป็นคำสั่งสอน กฎ แนวคิด หรือทฤษฎีใด ๆ ล้วนมีค่าเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ (means) ช่วยให้มนุษย์บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ (end) มิได้มีค่าในตัวเอง กล่าวคือ:
- ความรู้มีฐานะเป็นเครื่องมือกระทำการ :
มนุษย์มิได้แสวงหาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพียงเพื่อต้องการรู้
แต่ความรู้ของเขา/เธอยังมีฐานะเป็นเครื่องมือสำหรับกระทำการในสิ่งต่าง ๆ
ความรู้จึงมีลักษณะไม่แน่นอนตายตัวเพราะถ้าความรู้นั้น ๆ
ของเขา/เธอไม่เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว ก็อาจทิ้งมันไปเสีย ไม่จำเป็นต้องยึดติด
- ความรู้เป็นเข็มทิศบอกว่าควรทำอย่างไร :
ความรู้ของมนุษย์ในเรื่องบางเรื่องจะบอกเขา/เธอว่า ควรทำอย่างไร เช่น
มีความรู้ว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก คือหน้าบ้าน และตกทางตะวันตก
คือหลังบ้าน ความรู้นี้จะเป็นเข็มทิศชี้บอกว่า ถ้าซักผ้าในตอนเช้า
เขา/เธอจะต้องผึ่งผ้าหน้าบ้าน มันจึงจะแห้ง
- ความรู้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา : ปัญหาคือต้องตากผ้าให้แห้ง ตราบใดที่ความรู้ของมนุษย์ในเรื่องพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก ยังให้ผลทางปฏิบัติในการแก้ปัญหา เขา/เธอก็ยังยอมรับว่า มันเป็นจริงตราบนั้น แต่เมื่อใดมนุษย์ตากผ้าหน้าบ้านแล้ว ผ้าไม่ยอมแห้ง เพราะพระอาทิตย์กลับไปขึ้นทางตะวันตก (หลังบ้าน) เมื่อนั้นก็ต้องเลิกเชื่อความรู้แรก ความรู้จึงไม่ตายตัว เป็นเพียงสมมุติฐานในการช่วยเหลือการแก้ปัญหา เมื่อใดที่มันใช้ไม่ได้ เมื่อนั้นก็ต้องทิ้งไป แล้วพยายามหาความรู้ใหม่ แก้ไขปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ อยู่เสมอ
จริยศาสตร์ของปฏิบัตินิยมเน้นย้ำอยู่ที่การปฏิบัติและการลงมือทำจริง ๆ
การไม่ทำหรือไม่ปฏิบัติ เอาแต่ตั้งความหวังปรารถนาและคิด
ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เกิดผลอะไรเลยในทางปฏิบัติ
ปฏิบัตินิยมสำนักดิวอี้ถือว่า
การปฏิบัติเป็นเครื่องมือให้เข้าถึงความแท้จริง
ความรู้แท้จริงได้มาโดยผ่านการปฏิบัติ เพราะมันทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น มีทักษะขึ้น
และรู้จริง และความรู้ที่นับว่า แท้จริง ต้องปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน
คนเราจะตอบคำถามอะไรได้ ต้องมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาก่อน
การกระทำต้องมาก่อนความรู้ การเรียนรู้ต้องมาจากการลงมือกระทำจริง
และกิจกรรมดีที่สุดที่ก่อให้เกิดความรู้ก็คือ
การเรียนรู้โดยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำจริง (learning by doing)
การประยุกต์
แนวคิดและวิธีการใช้เหตุผลแนวปฏิบัตินิยม
สามารถนำไปใช้อธิบายความและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลและสังคมได้หลายแนว
ขอยกมากล่าวสัก 3 ตัวอย่าง ดังนี้
ใช้ส่งเสริมค่านิยมการลงมือทำจริง
แนวคิดของปฏิบัตินิยม
เช่น แนวคิดว่า การปฏิบัติและการลงมือปฏิบัติจริง ๆ เป็นความจริง
สามารถนำไปใช้ส่งเสริมค่านิยมการลงมือกระทำการจริง ๆ ได้ เพราะแนวคิดนี้สนับสนุนว่า
การลงมือกระทำจริง ๆ ในกิจการงานใด ความสำเร็จจะมีความเป็นไปได้
ภาษิตไทยแนวปฏิบัตินิยมมีว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" และว่า
การลงมือกระทำ ย่อมสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง
ปฏิบัตินิยมเน้นย้ำให้บุคคลแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ผ่านการเห็น อ่าน ฟัง สนทนา
ดมกลิ่น ลิ้มรส และถูกกระทบกายสัมผัสต่าง ๆ
ความรู้ที่ได้รับนี้นำพาให้บุคคลได้คิดสร้างแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ และความคิด
ทฤษฎีต่าง ๆ นี่เองก็จะเป็นเครื่องมือให้บุคคลลงมือกระทำการต่าง ๆ
เพื่อจุดหมายทางการปฏิบัติที่ตนต้องการ
การมีความรู้แล้วไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตน สังคม ความรู้ที่มีอยู่ย่อมไร้ค่า
ไม่มีประโยชน์เลย นอกจากนี้ ปฏิบัตินิยมยังส่งเสริมให้บุคคลเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ
จากการปฏิบัติจริง เพราะการปฏิบัติจริงทำให้บุคคลฉลาดขึ้น มีทักษะ และรู้จริง
สามารถนำเอาความรู้ไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน รู้วิธีที่จะคิด ทำ และแก้ปัญหา
จนเกิดเป็นคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น
พุทธศาสนา ที่ได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งการนิยมปฏิบัติ
ก็ส่งเสริมค่านิยมปฏิบัติจริง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ นั่นก็คือ
พุทธศาสนามีหลักปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติ
คือการเรียนรู้ความคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ส่งเสริมและสอนให้นำแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ
ที่เรียนรู้ไปปฏิบัติจริง ๆ โดยมองว่า ความรู้ต่าง ๆ
ที่เรียนรู้เป็นเพียงเครื่องมือช่วยเหลือการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย (ปฏิเวธ)
คือความสำเร็จหรือคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษาเรียนรู้และการปฏิบัติ การมีความรู้
แต่ไม่นำไปใช้ พุทธศาสนาก็มองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า
นอกจากนี้ ยังอาจเห็นได้จากแนวคิดเรื่องแหล่งเกิดความรู้ 3
ประการของพุทธศาสนา คือ
- สุตมยปัญญา ความรู้เกิดจากการฟัง การอ่าน การสนทนา
- จินตามยปัญญา ความรู้เกิดจากการคิด พิจารณา ไตร่ตรองเหตุผล
- ภาวนามยปัญญา ความรู้เกิดจากการทำให้เกิดมี การปฏิบัติ ทดสอบ ทดลอง
ความรู้ที่ได้ในขั้น ฟัง อ่าน สนทนา (สุตะ) เป็นฐานนำไปสู่การคิด กล่าวคือ
การมีประสบการณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทำให้เกิดความรู้ระดับเหตุผลหรือคิด
(จินตะ) แม้ว่าประสบการณ์ให้ความรู้โดยตรงแก่เรา แต่ก็ให้ความรู้ระดับหนึ่งเท่านั้น
ต้องนำไปสู่การคิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผล จึงจะทำให้เกิดความรู้อีกระดับหนึ่ง
(เหตุผล) ขึ้น แต่กระนั้น ความรู้ระดับเหตุผลก็ยังให้ความรู้เพียงระดับหนึ่ง
ซึ่งอาจยังไม่แจ่มแจ้งและชัดเจนพอ ต้องลงมือปฏิบัติการ ทดลอง ทำจริง
ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า ภาวนา จึงจะรู้แจ่มแจ้งและชัดเจน ภาษิตไทยว่า
สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าเอามือคลำดู
สิบมือคลำดูก็ไม่เท่าลงมือปฏิบัติจริง ตัวอย่างเช่น คำว่า ไฟร้อน การได้ยิน
ได้ฟัง ได้อ่าน และได้พูดคุยกัน เรื่อง ไฟร้อน อย่างไร
ก็ให้ความรู้ระดับประสบการณ์ ต่อมานำเอาประสบการณ์ ไฟร้อน จากขั้นได้ยิน ได้ฟัง
ได้อ่าน และได้พูดคุยกัน ไปคิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผล ก็จะได้ความรู้ระดับหนึ่ง
คือเหตุผล แต่ก็ยังไม่แจ่มแจ้งชัดเจนดีพอ ต่อเมื่อวันหนึ่ง
เผอิญมีประสบการณ์ตรงทางปฏิบัติจริง โดยไปเหยียบเอา ไฟร้อน เข้า
ก็จะรู้แบบแจ่มแจ้ง ถึงกึ๋น เลยว่า ที่ว่า ไฟร้อน นั้น
แท้จริงแล้วเป็นอย่างไรด้วยตัวเอง
ปฏิบัตินิยมไม่ส่งเสริมให้บุคคลเอาแต่คิดสร้างความหวังในจินตนาการแบบลม ๆ
แล้งไปวัน ๆ หรือฝากชีวิตไว้กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น เทพเจ้า ต้นไม้ ภูเขา
หรือสิ่งที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เป็นต้น
ซึ่งถือว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรในทางปฏิบัติ
แต่ที่ถูกต้องคือควรลงมือกระทำจริงด้วยวิธีการที่ดี เป็นจริง
ความสำเร็จก็จะเกิดมีได้ด้วยความพยายามของบุคคลจริง ๆ พุทธศาสนาให้ยึดหลัก อตฺตา
หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน เป็นแนวคิดเชิงปฏิบัตินิยมที่บอกว่า
บุคคลอยากจะได้อะไรต้องลงมือปฏิบัติกระทำจริงด้วยตนเอง
ไม่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เพราะไม่มีอยู่จริง
แต่ให้พยายามทำเหตุแห่งความสำเร็จให้ดีที่สุดจนสุดความสามารถของตน
ผลแห่งการปฏิบัติจริง เป็นความสำเร็จ ก็มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน
ใช้ส่งเสริมการทำงาน สร้างสรรค์ ผลิตงาน
แนวคิดของปฏิบัตินิยม เช่น แนวคิดว่า ประสิทธิภาพทางการปฏิบัติเป็นตัวกำหนดความจริง
สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการทำงาน สร้างสรรค์งาน และการผลิตงานได้
ด้วยว่าแนวคิดนี้มุ่งประเมินค่าการทำงานของบุคคล โดยถือว่า
ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน เป็นตัววัดค่าการทำงาน การสร้างสรรค์งาน
และการผลิตงานของบุคคลว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ประสิทธิภาพของงาน การสร้างสรรค์
การผลิต ดูได้ที่ผลของงาน ซึ่งเป็นตัวกำหนดความจริงแท้ คุณค่า
หรือประโยชน์ที่เกิดมีจากการกระทำ
แนวคิดปฏิบัตินิยมอย่างนี้นิยมนำมาใช้ในสถาบันการศึกษา บริษัท และห้างร้านต่าง ๆ
โดยประเมินดูจากผลงานที่ปฏิบัติการจริงของบุคลากรในสถาบัน บริษัท และห้างร้านนั้น ๆ
ว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งเป็นวิธีการกระตุ้นให้บุคลากรและหน่วยงานทำงาน สร้างสรรค์งาน
ผลิตงาน ให้คุ้มค่า คุ้มทุน และก่อเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
แนวคิดปฏิบัตินิยมทางศาสนาที่ว่า การทำงาน คือการรับใช้พระเจ้า
ซึ่งเป็นจริยธรรมของโปรแตสแตนท์ และที่ว่า การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม
ของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ ทั้งสองล้วนส่งเสริมการทำงาน การสร้างงาน
และการผลิตงานของบุคคล
การที่คนในยุโรปและอเมริกาในยุคสมัยใหม่แห่งประวัติศาสตร์ตะวันตก
กระตือรือร้นที่จะสร้างงาน เก็บเงิน และระดมทุนเพื่อสร้างงาน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ให้แก่สังคม
ตลอดจนมุ่งผลิตเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับสังคมในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและในยุคข้อมูลข่าวสาร
มาจากแนวคิดเชิงปฏิบัติที่ว่า การทำงานคือการรับใช้พระเจ้า
กระตุ้นพวกเขา/เธอให้กระทำการ บวกกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อันเฟื่องฟูในยุคนั้น
ทำให้ผู้คนได้นำเอาหลักการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติไปสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ
ให้กับสังคมตนและสังคมโลก เช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ชาวยุโรปและอเมริกากระตือรือร้น ขยันทำงาน และประหยัดอดออมเพื่อระดมทุน
จนเกิดเป็นระบบทุนนิยมขึ้น ก็เพราะพวกเขาคิดว่า นั่นเป็นการรับใช้พระเจ้าของพวกเขา
โดยไม่จำเป็นต้องไปโบสถ์เท่านั้น จึงจะรับใช้พระเจ้าได้
แนวคิดปฏิบัตินิยมของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา
สุราษฎร์ธานี ที่ว่า การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม
แม้จะไม่ทำให้คนไทยกระตือรือร้นและขยันทำงาน สร้างสรรค์งาน และผลิตงาน
เช่นที่ชาวยุโรปและอเมริกามี แต่แนวคิดนี้ก็ส่งเสริมการปฏิบัติ
เพราะทำให้ผู้คนไม่คิดที่จะหยุดทำงานเมื่อคิดจะปฏิบัติธรรม
หรือเมื่อคิดจะปฏิบัติธรรม จะต้องหยุดทำงานและหยุดผลิตงานทุกอย่างไปวัด
ไปปฏิบัติธรรมที่วัด โดยไม่สนใจสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับแนวคิดเชิงปฏิบัตินี้ของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ บอกให้คนทำงาน ผลิตงานได้ทุกที่
โดยการทำหน้าที่ของตนให้บริบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องไปวัด ทำงานเช่นนี้ทำได้ทุกที่
ทุกเวลา และนี่ก็คือการปฏิบัติธรรมในความคิดของท่าน
ใช้ส่งเสริมการแสวงหาความรู้
แนวคิดของปฏิบัตินิยม เช่น
แนวคิดที่ว่า ความรู้มีฐานะเป็นเครื่องมือในการทำการ เป็นเข็มทิศบอกว่า จะทำอย่างไร
และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา
สามารถนำไปใช้ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคคลแสวงหาความรู้ได้
ด้วยว่าปฏิบัตินิยมสอนให้บุคคลรู้คุณค่าของการแสวงหาความรู้และการมีความรู้
เนื่องจากว่าความรู้ที่บุคคลมีจะเป็นเครื่องมือเพื่อนำพาเขา/เธอไปสู่ความสำเร็จในการทำการใด
ๆ หรือเป็นเครื่องมือช่วยให้เขา/เธอทำกิจการใด ๆ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ทำให้เขา/เธอคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น
ในทัศนะของปฏิบัตินิยม บุคคลที่มีความรู้เป็นเครื่องมือดีในตนเอง
จะไม่กลัวปัญหาและอุปสรรคใด ๆ แต่จะมองปัญหาเป็นโอกาส (ทำวิกฤตให้เป็นโอกาส)
ที่จะพัฒนาศักยภาพทางการปฏิบัติของตน และทำตนให้แข็งแกร่ง เข้มแข็ง
เพราะปัญหาและอุปสรรคมักทำให้บุคคลกล้าแข็งหรือเข้มแข็งในการสู้ชีวิต
อีกทั้งบุคคลที่มีความรู้ดี ย่อมเป็นผู้ฉลาดในการคิด ทำ และแก้ปัญหา
ในการใช้ชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่เคยหยุดอยู่กับที่
ทั้งนี้ก็เพราะความรู้ที่เขา/เธอมีอยู่ในตัวจะเป็นเข็มทิศบอกให้รู้ว่า
เขา/เธอควรทำอย่างไรในตอนนี้ และจะทำอย่างไรในอนาคต
ปฏิบัตินิยมส่งเสริมให้บุคคลศึกษาเรียนรู้อยู่เรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง
เพราะโลกของเราเปลี่ยนแปลงเร็วและมีปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ
บุคคลจึงจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้อยู่เสมอทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน
และตามอัธยาศัย เพื่อสะสมความรู้ใส่ตัวไว้ให้มากที่สุด
เอาไว้เป็นเครื่องมือในการทำการ เป็นเข็มทิศบอกว่าจะทำอย่างไร
และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา บนโลกแห่งการปฏิบัติและการเผชิญปัญหาใบนี้