ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

แนวทางการใช้เหตุผลของมนุษย์แนวตะวันตก

การใช้เหตุผลแนวเหตุผลนิยม
การใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม
การใช้เหตุผลแนวปฏิบัตินิยม
การใช้เหตุผลแนวประโยชน์นิยม
การใช้เหตุผลแนวมนุษย์นิยม
บรรณานุกรม

การใช้เหตุผลแนวเหตุผลนิยม

ความหมาย

เหตุผลนิยมเป็นชื่อเรียกแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มหนึ่ง เช่น โสกราติส (Socrates : ก่อนคริสตศักราช 469?-399 ปี), เพลโต(Plato:ก่อนคริสตศักราช 427-347 ปี), เดการ์ต (Descartes: ค.ศ.1596-1650) , ฯลฯ โดยพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้นิยามเหตุผลนิยม(rationalism) ว่าหมายถึงแนวคิดในทางญาณวิทยาซึ่งยืนยันว่า มนุษย์สามารถหาความรู้บางอย่างเกี่ยวกับโลกได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านประสาทสัมผัส แต่โดยการใช้เหตุผล นักเหตุผลนิยมบางกลุ่มถึงกับยืนยันว่าประสาทสัมผัสไม่สามารถให้ความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับโลกได้

การใช้เหตุผลตามทัศนะของนักเหตุผลนิยมมิได้หมายรวมถึงการสรุปที่เกิดจากการอุปนัย (induction) แต่หมายถึงกระบวนการคิดที่โยงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดหนึ่งกับความหนึ่ง แนวคิดแบบเหตุผลนิยมเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับแนวคิดแบบประสบการณ์นิยม (empiricism) (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540: 85.)

จากคำนิยามดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุผลนิยมเป็นแนวคิดทางญาณวิทยา(epistemology) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวิชาปรัชญาที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง “ความรู้” (Knowledge) เช่น “ความรู้” มีลักษณะเช่นไร “ความรู้” ได้มาทางไหน แนวคิดแบบเหตุผลนิยมได้พยายามจะตอบปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาในวิชาปรัชญาจึงจะไม่กล่าวทั้งหมดในที่นี้แต่จะกล่าวถึงแนวคิดบางส่วนของเหตุผลนิยม คือ “เหตุผล” นั้นคืออะไร และ ทำไมเหตุผลนิยมให้ความสำคัญกับเหตุผลมากกว่าประสาทสัมผัสในการได้มาซึ่งความรู้

แนวคิด

เหตุผลคืออะไร

คำว่า “เหตุผล” มีความหมายที่แตกต่างกันตามบริบทของการใช้ เช่น “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล”, “เราควรใช้เหตุผลพิจารณาก่อนที่จะเชื่อหรือทำในสิ่งต่าง ๆ”, “ไม่มีเหตุผลอะไรที่สนับสนุนในสิ่งที่เธอพูด”, “ปัญหาการทุจริตเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องลาออก” , ฯลฯ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะความหมายที่สำคัญ 3 ความหมาย

  1. “เหตุผล” คือข้อความหรือหลักฐานที่ถูกนำมาใช้สนับสนุนความคิดความเชื่อหนึ่งเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตาม ประโยคว่า “ไม่มีเหตุผลอะไรที่สนับสนุนในสิ่งที่เธอพูด” เป็นตัวอย่างของคำกล่าวที่ใช้คำว่า “เหตุผล” ในความหมายนี้

    “เหตุผล” ในความหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “การอ้างเหตุผล” ซึ่งเป็นลักษณะการใช้ภาษาของมนุษย์ที่ผู้ใช้ภาษาใช้ผ่านการพูดหรือเขียนเพื่อต้องการให้ผู้อื่นเห็นด้วย เห็นจริง หรือเห็นตาม โดยพยายามยกตัวอย่าง หลักฐานหรือความเชื่อบางอย่างมาเป็น “เหตุผล” หรือ “ข้ออ้าง” เพื่อชักจูงให้อีกฝ่ายคล้อยตามความคิดความเชื่อของผู้ใช้ภาษาหรือเรียกว่า “ข้อสรุป” ของการอ้างเหตุผลนั้น เช่น “เจ้าของร้านนี้สวยดี เรากินข้าวร้านนี้กันเถอะ” เป็นการอ้างเหตุผลชุดหนึ่งซึ่ง “เจ้าของร้านนี้สวยดี” เป็นส่วนที่เรียกว่าข้ออ้าง และ “เรากินข้าวร้านนี้กันเถอะ” เป็นส่วนที่เรียกว่าข้อสรุปของการอ้างเหตุผลชุดนี้, หรือ “ร้านที่ขายของถูกทุกร้านเป็นร้านที่มีคนเข้ามาก ร้านตาดำจิ้มจุ่มมีคนเข้ามาก ดังนั้นร้านตาดำจิ้มจุ่มต้องขายของถูกแน่เลย” เป็นการอ้างเหตุผลอีกชุดหนึ่งที่ “ร้านที่ขายของถูกทุกร้านเป็นร้านที่มีคนเข้ามาก” และ “ร้านตาดำจิ้มจุ่มมีคนเข้ามาก” เป็นส่วนที่เรียกว่าข้ออ้าง และ “ร้านตาดำจิ้มจุ่มต้องขายของถูกแน่เลย” เป็นส่วนที่เรียกว่าข้อสรุปของการอ้างเหตุผลชุดนี้
  2. “ เหตุผล” คือ สาเหตุ ประโยคว่า “ปัญหาการทุจริตเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องลาออก” เป็นตัวอย่างของคำกล่าวที่ใช้คำว่า “เหตุผล” ในความหมายนี้

    “เหตุผล” หมายถึงคำอธิบายเหตุการณ์ในเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ เช่น เราเห็นเหตุการณ์เด็กชายสมศักด์ล้อชื่อพ่อของเด็กชายสมส่วนแล้วเด็กชายสมส่วนชกเด็กชายสมศักดิ์ เราจะอธิบายเหตุการณ์ที่นี้ว่า “เด็กชายสมศักดิ์ล้อชื่อพ่อของเด็กชายสมส่วน เด็กชายสมส่วนเลยชกเด็กชายสมศักดิ์” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งให้ชัดเจนในแง่สาเหตุ-ผลลัพธ์คือ “การที่เด็กชายสมศักดิ์ล้อชื่อพ่อของเด็กชายสมส่วนเป็นเหตุผลหรือสาเหตุทำให้เด็กชายสมส่วนชกเด็กชายสมศักดิ์”
  3. “เหตุผล” คือศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ ประโยคว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล”, “เราควร

ใช้เหตุผลพิจารณาก่อนที่จะเชื่อหรือทำในสิ่งต่าง ๆ” เป็นตัวอย่างของคำกล่าวที่ใช้คำว่า “เหตุผล” ในความหมายนี้

เหตุผลเป็นศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์อื่น เพราะมนุษย์สามารถใช้เหตุผลในแสวงความจริงหรือความรู้ และคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เหตุผลเป็นศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ ในการเข้าใจถึงการเชื่อมโยงที่จำเป็นต่าง ๆ (necessary connections ) เช่น การเชื่อมโยงที่จำเป็นของแต่ละเหตุการณ์ (รู้ว่าสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด) การเชื่อมโยงเช่นนี้สามารถนำไปสู่การคาดเดาเชื่อมโยงการเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ในอดีตเราเห็นสองเหตุการณ์คือ

1.เมฆดำ
2.ฝนตก

เกิดขึ้นติดต่อกันเสมอ นำไปสู่การใช้เหตุผลเข้าใจได้ว่าสองเหตุการณ์นี้มีความเชื่อมโยงที่จำเป็นระหว่างกัน คือ เมื่อมีเมฆดำแล้วฝนจะตก เหตุผลในแง่ของศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ ในการเข้าใจในการเชื่อมโยงที่จำเป็นของสิ่งต่าง ๆ นำไปสู่การเกิดขึ้นของความรู้ต่าง ๆ ดังเช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการทดลองต่าง ๆ เช่น จากการทดลองต้มน้ำหลาย ๆ ครั้ง แล้วพบว่าน้ำจะเดือดที่หนึ่งร้อยองศาเซลเซียสทุกครั้ง นำไปสู่ข้อสรุปอันเป็นความรู้จากการทดลองว่า “น้ำมีจุดเดือดที่หนึ่งร้อยองศา” ซึ่งหมายความว่าไม่ว่าเราจะต้มน้ำสักกี่ครั้งทั้งในอดีตหรืออนาคตน้ำจะเดือดที่หนึ่งร้อยองศาเสมอ

การเชื่อมโยงที่จำเป็นอีกอย่าง คือ กฎทางคณิตศาสตร์ ดังคำถามว่า “เรารู้ได้อย่างไรว่า 1+1=2” แน่นอนว่า เราอาจจะตอบได้หลายคำตอบ เช่น ครูอนุบาลเคยสอนเราอย่างนั้น, นับนิ้วเอา แต่ถ้าเราลองมานึกถึงกรณีดังต่อไปนี้ เช่น คำถามที่ว่า “1,000,000 + 111 เท่ากับเท่าไร” เราคงตอบได้ว่าเป็นจำนวน 1,000,111 และเราคงไม่บอกว่ามีคนเคยสอนเรามาหรือนับนิ้วเอา เพราะครูคงสอนเราแค่กฎการบวกแต่อาจไม่เคยถามโจทย์นี้และคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะนับนิ้วเพื่อหาคำตอบกับจำนวนมากขนาดนั้น สิ่งที่สำคัญคือ เรา “รู้” ได้อย่างไรว่า “1,000,000 + 111 เท่ากับ 1,000,111” ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยมีประสบการณ์กับตัวเลขดังกล่าวมาก่อน และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่การเดาหรือเป็นเรื่องความรู้สึกอีกด้วยเพราะ เรารู้แน่ ๆ ว่า “1,000,000 + 111 เท่ากับ 1,000,111” สิ่งที่ทำให้เรา “รู้” แน่ ๆ คือสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” ในแง่ของศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ ในการเข้าใจในการเชื่อมโยงที่จำเป็นของกฎทางคณิตศาสตร์ซึ่งในตัวอย่างนี้คือกฎของการบวก

การเชื่อมโยงที่จำเป็นอย่างสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึง คือ การเชื่อมโยงทางตรรกะซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการอ้างเหตุผล เช่น “เจ้าของร้านนี้สวยดี เรากินข้าวร้านนี้กันเถอะ” เรารู้ด้วยเหตุผลได้ว่าการอ้างเหตุผลชุดนี้เป็นการอ้างเหตุผลที่ไม่ดี เพราะข้ออ้าง “เจ้าของร้านนี้สวยดี” ไม่มีความเชื่อมโยงทางตรรกะที่ดีกับข้อสรุป “เรากินข้าวร้านนี้กันเถอะ” หากกล่าวโดยง่ายคือ เราสามารถคิดได้ด้วยเหตุผลว่าการที่เราจะเลือกกินข้าวร้านใดร้านหนึ่งไม่ใช่เพราะเจ้าของร้านสวยหรือไม่ แต่เพราะร้านนั้นขายอาหารที่ถูก อร่อย และสะอาดหรือไม่ ดังนั้น “เจ้าของร้านนี้สวยดี เรากินข้าวร้านนี้กันเถอะ” จึงเป็นการอ้างเหตุผลที่ไม่ดีไม่น่าเชื่อถือ

ส่วนตัวอย่างการอ้างเหตุผลอีกชุดหนึ่ง “ร้านที่ขายของถูกทุกร้านเป็นร้านที่มีคนเข้ามาก ร้านตาดำจิ้มจุ่มมีคนเข้ามาก ดังนั้นร้านตาเดิมจิ้มจุ่มต้องขายของถูกแน่เลย” ซึ่งดูเหมือนเป็นการอ้างเหตุผลที่น่าเชื่อถือ แต่เราสามารถคิดได้ด้วยเหตุผลว่า จากข้ออ้างว่าร้านที่ขายของถูกทุกร้านเป็นร้านที่คนเข้ามากและร้านตาดำจิ้มจุ่มก็มีคนเข้ามาก ไม่จำเป็นต้องสรุปว่าร้านตาดำจิ้มจุ่มเป็นร้านที่ขายถูก เพราะการที่ร้านตาดำจิ้มจุ่มมีคนเข้ามากอาจเพราะสาเหตุอื่นก็ได้เช่นขายอาหารอร่อย สะอาดและคนขายมีอัธยาศัยให้บริการดี

ส่วนตัวอย่างการอ้างเหตุผลที่ดีมีความเชื่อมโยงทางตรรกะ เช่น “คนทุกคนต้องตาย นายยมเป็นคน ดังนั้นนายยมก็ต้องตาย” ข้ออ้างของการอ้างเหตุผลชุดนี้คือ “คนทุกคนต้องตาย” และ “นายยมเป็นคน” ส่วนข้อสรุปคือ “นายยมต้องตาย” ซึ่งเราสามารถคิดได้ด้วยเหตุผลว่าข้อสรุปของการอ้างเหตุผลชุดนี้ต้องเป็นจริงเสมอ เพราะเมื่ออ้างว่าคนทุกคนต้องตาย นายยมก็เป็นคนคนหนึ่ง ดังนั้นนายยมต้องตายอย่างแน่นอน

จากที่กล่าวมา “เหตุผล” ในความหมายที่สามมีความสัมพันธ์กับ “เหตุผล” ในความหมายที่หนึ่งคือ เราใช้ “เหตุผล” ในความหมายแรกซึ่งเป็นศักยภาพของมนุษย์ในการเข้าใจความเชื่อมโยงที่จำเป็นของสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมโยงทางตรรกะ เพื่อ ประเมิน “การอ้างเหตุผล” ของผู้อื่น ซึ่งเป็น “เหตุผล” ในความหมายที่สองที่เป็นลักษณะการใช้ “ภาษา” และเรายังใช้ “เหตุผล” ในความหมายแรกในการแสดง “การอ้างเหตุผล” ที่ดีของตนเองเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตามความคิดเห็นของเรา

และ “เหตุผล” ในความหมายที่สามมีความสัมพันธ์กับ “เหตุผล” ในความหมายที่สองคือ “เหตุผล” ในความหมายที่สองหรือสิ่งที่เป็นสาเหตุสามารถเข้าใจได้จาก “เหตุผล” อันเป็นศักยภาพของมนุษย์ในการเข้าใจความเชื่อมโยงที่จำเป็นคือการเป็นสาเหตุและผลลัพท์

“เหตุผล” ในความหมายที่สามจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะมนุษย์สามารถใช้เหตุผลในแสวงความจริงหรือความรู้ และคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ซึ่งแม้มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลแต่มนุษย์แต่ละคนมีความสามารถในการใช้เหตุผลที่แตกต่างกันเพราะในการใช้เหตุผลมีปัจจัยที่สำคัญสองประการ ปัจจัยแรกคือ “เหตุผล” อันเป็นศักยภาพทางความคิดซึ่งมาจากการทำงานของสมองมนุษย์ที่แม้มนุษย์ทุกคนมีแต่ก็แตกต่างกัน เช่น มนุษย์บางคนอย่างไอน์สไตน์ มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนอื่นทั้งนี้มีการวิจัยที่พบว่าสมองของไอน์สไตน์นั้นมีความแตกต่างจากบุคคลทั่วไปทำให้เขามีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์มากกว่าผู้อื่น ปัจจัยที่สอง คือ ประสบการณ์ ประสบการณ์เป็นเหมือนข้อมูลประกอบการใช้เหตุผลของมนุษย์ในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ผู้ที่มีประสบการณ์หรือข้อมูลมากกว่าย่อมมีความสามารถในการใช้เหตุผลได้ดีกว่า เราจะเห็นว่าปัจจัยแรกของการใช้เหตุผลเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างยาก แต่ปัจจัยที่สองเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า การมีประสบการณ์มากไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ ผู้ที่มีอายุเท่ากันไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เท่ากัน เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความกระตือรือล้นแตกต่างกันในการแสวงหาค้นคว้าเพิ่มเติมประสบการณ์ให้แก่ตัวเอง

ที่ผ่านมาเป็นการอธิบายความหมายของคำว่า “เหตุผล” ในสามความหมาย ซึ่งแนวคิดแบบเหตุผลนิยมนั้นให้ความสำคัญกับ “เหตุผล” ในความหมายที่สามคือศักยภาพในการคิดของมนุษย์นี้มากจนเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญในการได้มาซึ่งความรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดแบบเหตุผลนิยมก็มีรูปแบบการอ้างเหตุผลของตัวเองอันเป็น “เหตุผล” ในความหมายแรกเพื่อนำเสนอแนวคิดของตัวเองว่าทำไมจึงให้ความสำคัญกับเหตุผลมากกว่าประสาทสัมผัสในการได้มาซึ่งความรู้



ความน่าเชื่อถือของเหตุผลในการเป็นที่มาของความรู้

เหตุผลนิยมไม่ได้ปฏิเสธว่าประสาทสัมผัสไม่ได้ให้ความรู้ นักเหตุผลนิยมยอมรับว่าประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย(สัมผัส) นั้นทำให้เรารับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโลก แต่บางครั้งนั้นประสาทสัมผัสทั้งห้านี้หลอกลวงเรา เช่น ถ้าเราเอามือซ้ายที่เพิ่งจับน้ำแข็งและมือขวาที่เพิ่งแช่น้ำร้อนมาแช่น้ำในตุ่มหนึ่ง มือซ้ายจะรู้สึกว่าน้ำในตุ่มร้อนส่วนมือขวาเย็น ซึ่งนี่หมายความว่า น้ำในตุ่มซึ่งน่าจะมีอุณหภูมิแน่นอนหรือเท่ากันทั้งตุ่มนั้นกลายเป็นไม่แน่นอนหรือมีอุณหภูมิไม่เท่ากันเสียแล้วเมื่อใช้มือทดสอบ, ถ้าเราไปทานมะนาวมาใหม่แล้วมาทานส้ม เราอาจจะรู้สึกว่าหวาน ในขณะที่คนอื่นที่ทานส้มผลเดียวกันบอกว่าเปรี้ยว, หรือตาของเราเห็นรางรถไฟบรรจบกันซึ่งเรารู้ดีว่าไม่เป็นเช่นนั้น(เพราะรางรถไฟเป็นเส้นขนาน), จากตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่ได้จากประสาทสัมผัสนั้นไม่แน่นอนและไม่สามารถเชื่อถือได้ นักเหตุผลนิยมจึงไม่เชื่อในประสาทสัมผัสเพราะบางครั้งประสาทสัมผัสหลอกลวงเรา

การที่เรารู้ว่าบางครั้งประสาทสัมผัสหลอกหลวงเราเพราะเราสามารถคิดได้ด้วยเหตุผล เช่น เราสามารถคิดด้วยเหตุผลว่าแท้จริงแล้วน้ำในตุ่มเดียวกันน่าจะมีอุณหภูมิเท่ากัน หรือส้มผลเดียวกันน่าจะมีรสเหมือนกัน หรือเมื่อตาของเรามองทางรถไฟที่ทอดไปข้างหน้าเราเห็นมันบรรจบกัน แต่เราก็ไม่เชื่อตามที่ตาเห็น ทั้งนี้เพราะเราคิดด้วยเหตุผลว่าถ้ารางรถไฟมาบรรจบกันตามที่ตาเห็นแล้วรถไฟจะวิ่งได้อย่างไร ดังนั้นนักเหตุผลนิยมจึงให้ความสำคัญกับเหตุผลมากกว่าประสาทสัมผัส ประสาทสัมผัสอาจให้ข้อมูลแต่เหตุผลเป็นตัวตัดสิน (วิทย์ วิศทเวทย์, 2532(b): 101-102.)

นักเหตุผลนิยมพยายามหาเหตุผลเพื่อพิสูจน์ความรู้ในสิ่งต่างๆ ดังเช่นตัวอย่างการอ้างเหตุผลของนักเหตุผลนิยมคนสำคัญ คือ เดการ์ต (Descartes: ค.ศ.1596-1650) ซึ่งเป็นผู้ศรัทธาในพระเจ้าพยายามแสดงการอ้างเหตุผลในการอธิบายถึงความมีอยู่จริงของสิ่งต่าง ๆ ในโลก โดยเขาเริ่มจากการสงสัยว่าโลกภายนอกมีอยู่จริงหรือไม่ พระเจ้า มนุษย์หรือแม้แต่ร่างกายของตัวเขาเองนั้นมีจริงหรือไม่ ท้ายสุดแล้วเขาเห็นว่าถึงแม้ว่าเขาจะสงสัยในการมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ แต่สิ่งที่มีอยู่จริงแน่นอนคือการสงสัยหรือการคิดของเขา ดังนั้นเขาจึงเริ่มจากข้ออ้างแรกในการอ้างเหตุผลว่า “การที่ข้าพเจ้าสงสัย แสดงว่าข้าพเจ้ามีอยู่จริง” (cogito ergo sum) เพื่อยืนยันเริ่มต้นในความแน่ใจในการมีอยู่ของตัวเขาเองว่าอย่างน้อยเขาคือสิ่งที่คิดได้หรือจิตนั้นมีอยู่จริง แต่เขายังไม่ได้พิสูจน์การมีอยู่ทางร่างกายของเขา เขาได้ข้ามไปสู่การพิสูจน์การมีอยู่ของจิตของพระเจ้า โดยอ้างว่าเราไม่อาจคิดเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของจิตของเราได้ โดยปราศจากความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่สมบูรณ์แบบมาก่อน และความคิดเกี่ยวกับจิตที่สมบูรณ์ย่อมต้องมาจากสิ่งที่สมบูรณ์ หรืออีกแง่หนึ่ง คือ เราไม่อาจคิดถึงพระเจ้าได้ นอกเสียจากว่าพระองค์ได้ประทานความคิดของตัวพระองค์ให้แก่เรา ดังนั้นความคิดเกี่ยวกับสิ่งสมบูรณ์ย่อมแสดงถึงการมีอยู่จริงของสิ่งสมบูรณ์สูงสุดซึ่งได้แก่พระเจ้า และต่อมาเขาได้พิสูจน์การมีอยู่ของโลกภายนอกรวมทั้งร่างกายของเขาด้วยโดยอ้างว่าเพราะพระเจ้าเป็นสิ่งสมบูรณ์ที่สุดจึงเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะหลอกลวงเรา ดังนั้นโลกภายนอกแห่งการสัมผัสของเราจำต้องมีอยู่จริง (เพราะพระเจ้าสร้างขึ้น) แต่ก็มิได้หมายความว่าประสาทสัมผัสของเราจะรายงานต่อเราอย่างถูกต้องเสมอไป (จุฑาทิพย์ อุมะวิชนี, 2547: 71-73.)

การประยุกต์

จากส่วนที่แล้ว เหตุผลนิยมได้แสดงเหตุผลหรือ “การอ้างเหตุผล” ว่าประสาทสัมผัสไม่สามารถให้ความรู้หรือความจริงที่แน่นอนแก่เรา “เหตุผล” ซึ่งเป็นศักยภาพทางการคิดของมนุษย์ในการเข้าใจความเชื่อมโยงที่จำเป็นของความคิดหรือข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัสต่างหากที่ให้ความรู้ที่แน่นอนกับเรา ประสาทสัมผัสอาจให้ข้อมูลแต่เหตุผลเป็นตัวตัดสิน

แน่นอนว่าการอ้างเหตุผลแบบเหตุผลนิยมเป็นสิ่งที่ค่อนข้างห่างไกลจากการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เราคงไม่สงสัยในการมีอยู่จริงของโลกภายนอกหรือสงสัยว่าประสาทสัมผัสของเราหลอกลวงเราหรือไม่เช่นดังนักเหตุผลนิยม แต่การสงสัยต่อการมีอยู่จริงของโลกภายนอกของเหตุผลนิยมอาจให้ข้อคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ชีวิตประจำได้ว่าอย่างน้อยเราควรสงสัยว่าสิ่งที่เรารับรู้อาจไม่เป็นจริงหรือถูกต้องดีงามเสมอไป สิ่งที่เรารับรู้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงข้อมูลโลกภายนอกจากประสาทสัมผัสเช่นเดียวกับข้อสงสัยของนักเหตุผลนิยมแต่เป็นข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ในปัจจุบันเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งข่าวสารข้อมูลหลั่งไหลเข้าหาเราผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ สิ่งที่เรารับรู้อาจไม่เป็นจริงตามที่สื่อนำเสนอ เราจึงต้องใช้ “เหตุผล” ในการตัดสินใจในการเชื่อในสิ่งที่สื่อนำเสนอ

เราจะเห็นว่าข่าวสารข้อมูลที่หลั่งไหลเข้าหาเราผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ บางส่วนมีลักษณะของการอ้างเหตุผลคือพยายามเสนอว่าทำไมจึงควรยอมรับหรือเชื่อในสิ่งที่สื่อกำลังเสนอ ดังในโฆษณาต่าง ๆ พยายามทำให้เราเชื่อว่าสินค้าต่าง ๆ เป็นสิ่งที่น่าใช้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น ดื่มเครื่องดื่มบางยี่ห้อแล้วทำให้ดูเป็นคนดีหรือเป็นคนรักชาติไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราในการใช้ “เหตุผล” ซึ่งเป็นศักยภาพทางการคิดของเราพิจารณาเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ว่าสิ่งที่สื่อต่าง ๆ นำเสนอน่าเชื่อถือ ถูกต้องหรือดีงามหรือไม่ ดังจากตัวอย่างที่กล่าวมาเราสามารถพิจารณาด้วย “เหตุผล” ได้ว่า การดื่มเครื่องดื่มบางยี่ห้อกับการเป็นคนดีหรือเป็นคนรักชาติไทยนั้นไม่สัมพันธ์กัน โฆษณานั้นจึงไม่น่าเชื่อถือ นอกจากโฆษณาแล้วยังมีข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การดำเนินนโยบายของรัฐทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ค่านิยมหรือวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเรา เราควรที่จะตั้งคำถามหรือสงสัยก่อนที่จะยอมรับหรือนำมาใช้ในชีวิต “เหตุผล” จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตท่ามกลางสังคมข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย