ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

แนวทางการใช้เหตุผลของมนุษย์แนวตะวันตก

การใช้เหตุผลแนวเหตุผลนิยม
การใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม
การใช้เหตุผลแนวปฏิบัตินิยม
การใช้เหตุผลแนวประโยชน์นิยม
การใช้เหตุผลแนวมนุษย์นิยม
บรรณานุกรม

การใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม

ความหมาย

ประสบการณ์นิยม (empiricism) หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ประจักษ์นิยม เป็นแนวคิดและวิธีการให้เหตุผลที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ นักคิดสำคัญ ๆ ที่มีแนวคิดประสบการณ์นิยมในตะวันตก เช่น ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon, ค.ศ.1561-1626), จอห์น ล็อค (John Locke, ค.ศ.1632-1704), ยอร์จ เบอร์คเลย์ (George Berkeley, ค.ศ.1685-1753), เดวิด ฮูม (David Hume, ค.ศ.1711-1776) เป็นต้น

ตามความหมายในพจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน “ประสบการณ์นิยม” ได้รับการนิยามว่า หมายถึง แนวคิดที่ถือว่า

  1. ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ (experience) คือ ความรู้ที่ได้ผ่านประสาทสัมผัสโดยตรงแห่งเดียวเท่านั้น เป็นจริงและเชื่อถือได้ คือ เรารับรู้สิ่งใด ๆ ผ่านประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส และสิ่งที่เราได้เห็น ได้ฟัง ได้สูดดมกลิ่น ได้ลิ้มชิมรส และได้ถูกต้องกายสัมผัส เป็นสิ่งที่ได้เห็น ฟัง สูดดมกลิ่น ลิ้มชิมรส และถูกต้องกายสัมผัสจริง ๆ เป็นจริง ๆ มิได้เป็นมายาภาพ จึงเป็นสิ่งหรือเป็นเรื่องน่าเชื่อถือได้
  2. ความรู้ใด ๆ ของบุคคลต้องเกิดมีหลังจากการมีประสบการณ์ (a posteriori knowledge) เท่านั้น หามีความรู้ที่มีอยู่ก่อนการมีประสบการณ์ (a priori knowledge) ใด ๆ อยู่ไม่ในโลกนี้ คือ การที่เราจะมีความรู้ใด ๆ ได้ เราต้องมีผ่านประสบการณ์การเห็น ฟัง สูดดมกลิ่น ลิ้มชิมรส และถูกต้องกายสัมผัส ค่อยสะสมความรู้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสไปทีละน้อย จนมากด้วยประสบการณ์ในที่สุด หามีความรู้ใดเกิดมีในตัวเราก่อนการได้รับประสบการณ์ไม่ นั่นก็คือปฏิเสธว่าไม่อาจมีความรู้ที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดนั่นเอง

แนวคิดและวิธีการใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม เน้นย้ำความสามารถของมนุษย์ในการรับรู้ผ่านการสังเกตและในการที่ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งภายนอก ความรู้ทุกอย่างของมนุษย์ได้มาจากการสร้างภาพพิมพ์ใจ (impression) แล้วกลายไปเป็นมโนภาพ (idea) ผ่านการรู้สึก/รับรู้ต่อสิ่งเร้าที่มากระทบประสาทสัมผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ของคนเรา (sensation)

แนวคิด

แนวคิดและการใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม จะถือว่า ประสบการณ์เป็นที่มาหรือเป็นรากฐานของความรู้ของมนุษย์อย่างแท้จริง มนุษย์จะมีความรู้อะไรหรือจะสามารถทำอะไรได้อย่างแท้จริง ล้วนอาศัยประสบการณ์การรับรู้ทางประสาทสัมผัสเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น ประสบการณ์นิยมเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และเป็นหัวใจของวิธีการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ดังเราจะพบว่า ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ล้วนมีรากฐานอยู่บนการสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของโลก คือ การทำการวิจัยเชิงประจักษ์และวิธีการใช้เหตุผลแบบอุปนัย โดยอาศัยประสบการณ์การสังเกต “สิ่งเฉพาะ” ซ้ำ ๆ แล้วสรุปเป็น “สิ่งสากล” ดังนั้น จึงถือว่า ประสบการณ์นิยมได้วางรากฐานให้แก่วิธีการทางวิทยาศาสตร์

ชาวประสบการณ์นิยมจะให้เหตุผลว่า ความรู้ที่แท้จริงต้องมาจากประสบการณ์ โดยถือว่า ความรู้เชิงประจักษ์หรือความรู้จากประสบการณ์ (empirical knowledge) เป็นจริง เพราะเป็นความรู้ที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ และตรงกับความจริงภายนอกที่เรารับรู้ ความรู้แบบเหตุผลนิยมเป็นความรู้ระดับรอง ถือว่าเป็นเพียงตัวเชื่อมประสานประสบการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันเท่านั้น เหตุผลที่ไร้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสรับรอง ถือว่าไม่อาจให้ความรู้ใด ๆ แท้จริงได้ เช่น ความเชื่อเรื่องพระเจ้า แม้จะมีคนพยายามให้เหตุผลพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้าด้วยการอ้างเหตุผล (arguments) ต่าง ๆ นานา แต่กระนั้นเราก็ไม่อาจประสบและพิสูจน์ความมีอยู่จริงของพระเจ้าได้ด้วยประสาทสัมผัสของเรา ดังนั้น ในทัศนะของชาวประสบการณ์นิยม ความเชื่อเรื่องความมีอยู่ของพระเจ้าจึงยังไม่อาจจัดเป็น “ความรู้แท้จริง” ได้

ประสบการณ์ ตามแนวคิดและการใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม คือ สิ่งที่บุคคลรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และ กาย ซึ่งเป็นประตูรับรู้ “สิ่งเร้า” ต่าง ๆ ทำให้บุคคลรับรู้รูปภาพ เสียง กลิ่น และสัมผัสทางกาย ความรู้จากประสบการณ์หรือความรู้เชิงประจักษ์จะเกิดขึ้น เมื่อมีวัตถุสิ่งเร้าภายนอกมากระทบประสาทสัมผัสแต่ละอย่างซึ่งทำหน้าที่ต่างกันและทำแทนกันไม่ได้ เช่น ตาทำหน้าที่เห็นรูป หูทำหน้าที่ฟังเสียง จมูกทำหน้าที่รู้กลิ่น ลิ้นทำหน้าที่รู้รส กายทำหน้าที่รู้สัมผัสที่มากระทบกาย ประสาทสัมผัสเหล่านี้ทำให้บุคคลสามารถรับรู้คุณลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งทั้งหลายในหลาย ๆ ด้าน และทำให้บุคคลมีความรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว

ชาวประสบการณ์นิยม มีวิธีการให้เหตุผลเป็นการเฉพาะตน คือ

1. ถือว่าประสบการณ์แหล่งเดียวเท่านั้นเป็นเหล่งเกิดความรู้จริง สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ สามารถพิสูจน์ทดสอบได้โดยประสบการณ์ของคนทุกคน เช่น ดอกมะลิสีขาว เมื่อเราพบเห็นมัน เราได้เห็นมันจริง ๆ โดยตรง ภาพที่เห็น คือเราเห็นดอกมะลิสีขาวจริง ๆ มิได้เป็นภาพมายา จึงถือว่าเป็นจริงและน่าเชื่อถือ คนอื่นมาพบเห็น ก็จะเห็นและยืนยันความจริงที่พบเห็นอย่างเรา ถ้าเขา/เธอไม่ตาบอดสี

2. ใช้วิธีการอุปนัย (induction) ที่กระทำผ่านกระบวนการการสังเกต ทดลอง รู้ความจริงแบบซ้ำ ๆ จาก “ความจริงเฉพาะอย่าง” ได้ผลแล้วสรุปเป็น “ความจริงสากล” เช่น การสังเกต ทดลอง รู้ความจริงเฉพาะว่า แผ่นกระดานของไม้ใด ๆ ลอยน้ำได้ ด้วยการทำซ้ำ ๆ ก็ยังได้ความจริงเป็นแบบเดิม จึงสรุปเป็นความจริงสากลว่า แผ่นกระดานของไม้ทุกชนิดลอยน้ำได้

3. ถือว่า ความรู้จะเกิดมีได้หลังจากผ่านการมีประสบประการณ์ทางประสาทสัมผัสก่อนเสมอ นั่นก็คือ ชาวประสบการณ์นิยมยอมรับความรู้หลังประสบการณ์ (a posteriori knowledge) ปฏิเสธความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (innate idea) และความรู้ก่อนมีประสบการณ์ (a priori knowledge) เช่น เด็กจะเขียนหนังสือได้ ก็ผ่านการฝึกฝนประสบการณ์การหัดขีดเขียนมาก่อน จึงจะเขียนหนังสือเป็น ไม่มีใครมีความรู้เรื่องการเขียนหนังสือมาตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องและทำอะไรได้โดยไม่เรียนรู้ เราก็ไม่เคยพบว่ามีคนเช่นนั้นอยู่ในโลก ดังนั้น ชาวประสบการณ์นิยมจึงปฏิเสธว่า ไม่มีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และความรู้ก่อนมีประสบการณ์

4. ถือว่า ประสบการณ์มี 2 ชนิด คือ ประสบการณ์ภายนอก เช่น เห็นรู้รูป ฟังได้ยินเสียง สูดดมรู้กลิ่น ลิ้มชิมรู้รสชาติ ถูกต้องสัมผัสรู้กายสัมผัส ประสบการณ์ชนิดนี้เป็นการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้งห้า อาจเรียกว่า เพทนาการ (sensation) และ ประสบการณ์ภายใน เช่น ความรู้สึก การคิด การสงสัย ความเข้าใจ ความปรารถนา-ต้องการ ความเชื่อ และการมีเจตจำนง เป็นต้น ประสบการณ์ชนิดนี้คือกระบวนการที่จิตทำหน้าที่ภายใน โดยการคิดทบทวนหรือคิดตรึกตรองในเรื่องต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากการนำเอาความคิดต่าง ๆ มาประสานกัน อาจเรียกว่า มโนภาพ (idea)

5. ถือว่า สิ่งต่าง ๆ ในโลกมีลักษณะสัมพัทธ์กับสภาพแวดล้อม มีการเปลี่ยนแปลง มิได้แน่นอนตายตัว เช่น เด็ก เมื่อตอนเกิดใหม่ ๆ เราเห็นตัวเล็ก เดินและพูดไม่ได้ ต่อนานเดือน นานปี ก็ปรากฏว่า ตัวโตขึ้น เดินได้ และพูดได้ เป็นต้น

สำนักคิดแห่งประสบการณ์นิยมบางสำนัก เช่น จอห์น ล็อค เชื่อว่า จุดเริ่มต้นของความรู้ทุกอย่างคือประสบการณ์ โดยให้เหตุผลว่า จิตของคนเราแรกเริ่มเดิมทีเป็นเช่นกับกล่องเปล่าหรือกระดาษเปล่าสีขาว เมื่อจิตของคนเราได้รับประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ก็จะบังเกิดความคิด/ความรู้ต่าง ๆ ขึ้น จิตของคนเราจึงได้รับความคิดหรือความรู้หลากหลายมาจากประสบการณ์ จึงกล่าวได้ว่า ความรู้เริ่มต้นจากประสบการณ์ ดังนี้ จึงไม่อาจมีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิดใด ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีของเด็กที่เกิดมาใหม่ ๆ เขา/เธอไม่รู้อะไรเลย แต่จากการศึกษาเล่าเรียนและจากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่รับรู้ จึงเริ่มรู้ความจริงขึ้นมาทีละน้อย ๆ ยิ่งนานวัน นานเดือน นานปี ก็ยิ่งมากไปด้วยวัสดุสิ่งของหรือรอยขีดเขียนของความรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาเพิ่มทวีขึ้น แต่ถ้าเด็กไม่ได้รับการศึกษาเรียนรู้ เขา/เธอก็จะไม่รู้อะไรเลย เมื่อเรียนจึงรู้ เมื่อไม่เรียนก็ไม่รู้ ด้วยเหตุดังนี้ ความรู้จึงเกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ ถ้ามีคนที่มีความรู้ได้โดยไม่ต้องเรียนรู้หรือไม่ต้องรับรู้ทางประสาทสัมผัสนั่นแหละ เราจึงจะพอเชื่อได้ว่า มีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เราก็ไม่เคยพบเห็นว่ามีคนเช่นนี้อยู่ในโลกใบนี้เลย

 

ล็อคให้เหตุผลว่า จิตของมนุษย์ โดยธรรมชาติมีสภาพเฉย ๆ (passive) แต่ ณ ขณะที่จิตรับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสอย่างหนึ่งอย่างใด มันก็จะทำหน้าที่ (active) รับรู้ “มโนภาพ” (idea) ของสิ่งที่ประสบโดยตรงทันที และดึง “สิ่งที่รับรู้” จากการสัมผัสนั้นมาเปรียบเทียบ พร้อมกับรวบรวมเข้าเป็นความคิดเชิงเดี่ยว (simple idea) และความคิดเชิงซ้อน (complex idea) ดังนั้น ความรู้จะเกิดขึ้นได้จะมีกระบวนการ 4 กระบวนการ คือ

1) การสัมผัสสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง
2) การสัมผัสนั้นนำไปสู่การสร้างความรู้สึก/รับรู้
3) ความรู้สึก/รับรู้จะสร้างความคิดแห่งมโนภาพ
4) ความคิดแห่งมโนภาพก่อเกิดเป็นความรู้ต่าง ๆ

ชาวประสบการณ์นิยมมีทัศนะว่า ความรู้จากประสบการณ์ภายนอกและภายในจะสร้าง “ภาพพิมพ์ใจ” (impression) และจากภาพพิมพ์ใจก็จะเกิดมโนภาพ (idea) ตามมา ทุกมโนภาพมาจากภาพพิมพ์ใจในการรับรู้ทางประสาทสัมผัสอย่างหนึ่งอย่างใด (perception) ดังนั้น ประสบการณ์นิยมจึงถือว่า การรับรู้ของคนเราทุกครั้งจะมาจากภาพพิมพ์ใจและมโนภาพ โดยแยกแยะว่า ภาพพิมพ์ใจ คือการรับรู้ภาพต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่จิตของเราโดยตรงด้วยกำลังแรงและชัดเจน ส่วนมโนภาพ คือภาพที่เลือนรางของภาพพิมพ์ใจในการคิดและการให้เหตุผล เช่น เมื่อเราเห็นดอกมะลิ เราเห็นดอกมะลินั้นโดยตรงและชัดเจน ซึ่งจัดเป็น “ภาพพิมพ์ใจ” เมื่อการเห็นนั้นผ่านไปโดยตัวเราไปที่อื่น แต่ย้อนคิดถึงภาพ “ดอกมะละสีขาว” ที่เคยประจักษ์มา การคิดถึงนี้จัดเป็นการเห็นภาพดอกมะลิสีขาวโดยอ้อม และไม่ชัดเจน เหมือนตอนที่เรากำลังเห็นดอกมะลิสีขาวโดยตรงนั้นจริง ๆ อย่างนี้เรียกว่ามโนภาพ ด้วยเหตุดังนี้ มโนภาพ จึงหมายถึงสิ่งที่เหลืออยู่ในจิตของเราหลังจากภาพพิมพ์ใจผ่านพ้นไปแล้ว และเป็นสิ่งที่ลอกแบบภาพพิมพ์ใจมาอีกทีหนึ่ง

มโนภาพ ในทัศนะของชาวประสบการณ์นิยม มี 2 ชนิด คือ

1. มโนภาพเชิงเดี่ยว (simple idea)
2. มโนภาพเชิงซ้อน (complex idea)

มโนภาพเชิงเดี่ยวลอกแบบมาจากภาพพิมพ์ใจ อันเกิดจากประสบการณ์ตรงทางประสาทสัมผัสภายนอก เช่น ความเย็น ความแข็งของก้อนน้ำแข็ง กลิ่น และ ความขาวของดอกมะลิ เป็นต้น ความคิดแต่ละอย่างนี้เป็นมโนภาพเชิงเดี่ยวของประสบการณ์ทางอินทรีย์สัมผัส ส่วนมโนภาพเชิงซ้อนเป็นสิ่งที่จิตของเราเชื่อมโยงหรือนำเอามโนภาพเชิงเดี่ยวหลาย ๆ หน่วย หลาย ๆ เรื่องมาสัมพันธ์กัน เช่น การคิดถึง “ดอกมะลิสีขาว” ก็เป็นการนำเอามโนภาพของ “ดอกมะลิ” กับ “สีขาว” มารวมกัน เป็นต้น

การประยุกต์

แนวคิดและวิธีการใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม สามารถนำไปประยุกต์ใช้อธิบายความ ไปปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ ขอยกมากล่าวสัก 3 ตัวอย่าง ดังนี้

ใช้ส่งเสริมการแสวงหาความรู้

แนวคิดประสบการณ์นิยม เช่น แนวคิดว่า จิตของมนุษย์เหมือนกล่องเปล่าหรือกระดาษเปล่าสีขาว สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการส่งเสริมการศึกษาและการแสวงหาความรู้ของบุคคลได้ เพราะประสบการณ์นิยมส่งเสริมให้บุคคลแสวงหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน นอกห้องเรียน หรือตามอัธยาศัย การแสวงหาความรู้นี้อาจทำได้โดยการอ่าน การฟัง หรือการสนทนา อันจะทำให้ได้ความรู้ แล้วนำไปคิดตริตรองให้เกิดเป็นความรู้ระดับเหตุผล และท้ายที่สุด ก็นำเอาความรู้ที่ได้จากการอ่าน การฟัง การสนทนา และการคิดนั้นไปปฏิบัติจริงให้เกิดเป็นรูปธรรม ก็จะเกิดเป็นความรู้แบบทักษะหรือเป็นศิลป์ขึ้น ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่กลายเป็นฐานของชีวิตบุคคลในการดำรงชีวิตในสังคม ทำให้บุคคลคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น คนที่มีประสบการณ์ด้านการเรียนรู้มากและประสบการณ์ชีวิตมาก ย่อมเป็นครูคนได้ คือสามารถแนะนำคนอื่นได้ ทำนองภาษิตไทยว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” พุทธศาสนาเรียกคนที่มีประสบการณ์มากว่า “รัตตัญญู” คือ รู้อะไรมามาก มีชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก และรู้อะไรดี ไม่ดี มามาก บุคคลที่เป็นรัตตัญญู จิตของเขา/เธอ ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ มีมโนภาพเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อนมาก เปรียบเช่นกล่องเปล่าที่ใส่สิ่งของจนเต็ม หรือกระดาษเปล่าที่เต็มไปด้วยรอยขีดเขียน

บุคคลในทัศนะของชาวประสบการณ์นิยม ควรรักที่จะศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้จิตของตนเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้อยู่เสมอ ในยุคข้อมูลข่าวสารปัจจุบันนี้ คนที่มีความรู้และมีประสบการณ์มาก ย่อมได้เปรียบ ดังนั้น จึงควรสร้างความรู้ให้เกิดมีอยู่เสมอผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์ แล้วจะเป็นคนเหนือคนในด้านประสบการณ์

ใช้ส่งเสริมการปลูกฝังความคิดและสิ่งดีงามให้แก่เด็กและเยาวชน

แนวคิดประสบการณ์นิยม เช่น แนวคิดที่ว่า ประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอกก่อให้เกิดภาพพิมพ์ใจแก่บุคคล สามารถนำไปปรับใช้กับการปลูกฝังความคิดและสิ่งดีงามให้แก่เด็กและเยาวชนได้ ด้วยว่าเด็กและเยาวชนย่อมเป็นเช่นไม้อ่อนที่ดัดได้ง่าย นั่นก็คือ บุคคลย่อมสามารถปลูกฝังและฝึกฝนสิ่งดีงามให้เกิดมีในนิสัยของเด็กและเยาวชนได้ อันจะทำให้เขา/เธอเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป การปลูกฝังนิสัยให้เกิดเป็นประสบการณ์ภายในและภายนอกแก่เด็ก อาจทำได้โดย :

  1. บุคคลอยากให้เด็กและเยาวชนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ก็ต้องสอนวิธีการคิด วิธีการทำ และวิธีการแก้ปัญหา ให้เขา/เธอเห็น ให้เข้าใจ และให้ลงมือกระทำ เด็กและเยาวชนก็จะเกิดภาพพิมพ์ใจติดอยู่ในจิตและนิสัยของเขา/เธอ เป็นการคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น ด้วยตนเอง ไม่พึ่งพึงผู้อื่นอยู่ร่ำไป
  2. บุคคลอยากให้เด็กและเยาวชนมีนิสัยมั่นคงหนักแน่น ขยันหมั่นเพียร รับผิดชอบ มีระเบียบวินัยและซื่อสัตย์ กตัญญูรู้คุณ รู้จักประมาณตน และมีคุณธรรม จริยธรรม ผู้ใหญ่ต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เด็กและเยาวชนเห็นเป็นแบบอย่าง พร้อมกับค่อย ๆ ปลูกจิตสำนึก สร้างนิสัยให้เขา/เธอมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ จนกลายเป็นภาพพิมพ์ใจหรือนิสัยที่ตราตรึงของเด็กและเยาวชนอย่างถาวร

ใช้ส่งเสริมให้มีใจรักวิธีการวิทยาศาสตร์

แนวคิดประสบการณ์นิยม เช่น แนวคิดที่ว่า ประสบการณ์เป็นจริงและเชื่อถือได้ เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์และเป็นหัวใจของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สามารถนำไปใช้ส่งเสริมให้บุคคลมีใจรักและเชื่อมั่นในวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์นิยมถือว่า วิทยาศาสตร์เป็นแบบอย่างของความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ เป็นจริงและเชื่อถือได้ เป็นความรู้ที่บุคคลควรแสวงหา เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นความจริงสากล ที่ช่วยให้บุคคลรู้จักโลกภายนอก ช่วยในการคาดหมายอนาคต และช่วยให้บุคคลดัดแปลงโลกภายนอกให้สอดคล้องตามความประสงค์ของตน นับเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ที่สุด

ประสบการณ์นิยมจะช่วยให้บุคคลเชื่อมั่นในหลักและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการอุปนัย ผ่านการสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อสังเกตได้ความคิดเป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็จะตั้งสมมุติฐานอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ แล้วก็สังเกตปรากฏการณ์ประเภทเดียวกันนั้นต่อเพื่อทดสอบ ทดลองสมมุติฐาน และเมื่อได้รับการยืนยัน ก็ตั้งเป็นกฎ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดนี้มีประสบการณ์เป็นหัวใจ กฎทางวิทยาศาสตร์ได้จากข้อมูลที่มาทางประสบการณ์ และการทดสอบความจริงของกฎ ก็ทดสอบโดยประสบการณ์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

เมื่อเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ บุคคลก็รักในวิธีการทางวิทยาศาสตร์และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน คือ นำเอาวิธีการสังเกต พิสูจน์ ทดลอง ไปใช้กับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตตน และไม่ยอมเชื่ออะไรเกี่ยวกับสิ่งอันไม่สามารถ “รู้จัก พิสูจน์ ทดลอง” ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยอ้างว่า มันอยู่นอกขอบเขตของวิทยาศาสตร์และประสบการณ์ เช่นที่ความเชื่ออย่างนี้มีอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์และนักประสบการณ์นิยมทั่วไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย