ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
แนวทางการใช้เหตุผลของมนุษย์แนวตะวันตก
การใช้เหตุผลแนวเหตุผลนิยม
การใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม
การใช้เหตุผลแนวปฏิบัตินิยม
การใช้เหตุผลแนวประโยชน์นิยม
การใช้เหตุผลแนวมนุษย์นิยม
บรรณานุกรม
การใช้เหตุผลแนวประโยชน์นิยม
ความหมาย
แนวคิดแบบประโยชน์นิยมเกิดขึ้นในช่วงคริสตศตวรรษที่ 1819
โดยมีนักปรัชญาคนสำคัญคือ เบนแธม(Jeremy Bentham , ค.ศ. 1748-1832) และ จอห์น สจ๊วต
มิลล์ (John Stuart Mill, ค.ศ.1806-1873) พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามแนวคิดประโยชน์นิยม(utilitarianism)
ว่าคือทัศนะทางจริยศาสตร์ที่ถือเอาประโยชน์สุขเป็นเกณฑ์ตัดสินความผิดถูกชั่วดี
กล่าวคือ การกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด
ถือว่าเป็นการกระทำที่ดี (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540: 101.)
จากนิยามดังกล่าวอธิบายได้ว่าประโยชน์นิยมเป็นหนึ่งในแนวคิดทางจริยศาสตร์ที่พิจารณาว่าอะไรคือเกณฑ์พื้นฐานที่ใช้ตัดสินการกระทำว่าควรหรือไม่ควร
โดยประโยชน์นิยมเสนอว่า
เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินนั้นคือคือปริมาณความสุขที่เป็นผลจากการกระทำ ดังที่มิลล์กล่าวว่า
ความถูกต้องของการกระทำขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่การกระทำนั้นจะก่อให้เกิดความสุข
ความผิดขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่สวนทางกับความสุข (วิทย์
วิศทเวทย์, 2532 (a): 99.)
แนวคิด
เหตุผลของประโยชน์นิยมในการสนับสนุนการใช้ปริมาณความสุขเป็นเกณฑ์ตัดสินกระทำคือ
ความเห็นว่ามนุษย์นั้นมีธรรมชาติที่รักสุขเกลียดทุกข์
มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อทำอะไรย่อมมุ่งหาความสุข หลบเลี่ยงความทุกข์
ดังนั้นประโยชน์นิยมจึงสรุปว่าความสุขเป็นสิ่งเดียวที่มีค่าสำหรับมนุษย์
ด้วยเหตุนี้ประโยชน์นิยมจึงเสนอว่า
เมื่อเราต้องเลือกระหว่างการกระทำสองอย่าง วิธีเลือกก็ คือ
พิจารณาว่าการกระทำแต่ละอย่างจะนำไปสู่ผลอะไรบ้าง จะก่อให้เกิดความสุขเท่าไร
ความทุกข์เท่าไร เมื่อหักลบกันแล้ว
การกระทำใดก่อให้เกิดความสุขมากที่สุดเราควรเลือกกระทำนั้น
โดยความสุขนี้ต้องไม่ใช่แค่ความสุขของตนเองเท่านั้น
แต่ต้องกระจายไปสู่คนจำนวนมากที่สุดหรือนัยหนึ่งเป็นความสุขโดยรวมของมนุษย์ทุกคนที่ได้รับจากผลของการกระทำ
โดยพิจารณาอย่างเป็นกลางไม่ถือว่าความสุขของผู้กระทำสำคัญเหนือกว่าความสุขของคนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นความสุขของใครล้วนมีความสำคัญเท่ากัน
แล้วพิจารณานำความสุขของทุกคนที่ได้รับจากการกระทำมารวมกัน ดังที่มิลล์เขียนไว้ว่า
ความสุขซึ่งใช้เป็นมาตรฐานของประโยชน์นิยมที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูก
มิใช่ความสุขส่วนตัวของผู้กระทำ
แต่ของคนทุกคนที่เกี่ยวข้องระหว่างความสุขของผู้กระทำกับของผู้อื่น
ประโยชน์นิยมเรียกร้องให้ผู้กระทำวางตัวเป็นกลางอย่างเข้มงวด
โดยทำตัวเป็นเหมือนผู้ดูไม่เข้าข้างใด (วิทย์ วิศทเวทย์, 2532 (b): น.159.)
ความสุขจึงมีลักษณะเป็นปริมาณ
ความสุขที่มีปริมาณมากย่อมมีค่ามากกว่าความสุขที่มีปริมาณน้อย
ดังนั้นการกระทำที่ถูกต้องหรือที่ควรทำคือการกระทำที่ทำให้เกิดปริมาณความสุขสูงที่สุด
นั่นก็คือ เราควรเลือกการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุขจำนวนมากกว่าการกระทำอื่นๆ
หรือในกรณีที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็นำไปสู่ความทุกข์ทั้งสิ้น
เราก็ควรเลือกการกระทำที่ก่อให้เกิดความทุกข์น้อยที่สุด
ในการคำนวณประโยชน์สุข
ก็ต้องดูผลของการกระทำในระยะยาวเท่าที่สามารถจะคาดคะเนได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเราต้องเลือกระหว่างจะนำเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือยเพื่อตอบสนองความพอใจของเราหรือจะนำไปทำการกุศล
ประโยชน์นิยมให้เราคำนวณความสุขที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำสองอย่าง
แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ถ้าการนำเงินไปให้การกุศลทำให้ผู้ยากไร้มีความทุกข์น้อยลง
มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีในภายภาคหน้า
เทียบกันแล้วความสุขที่เกิดขึ้นมีปริมาณมากกว่าความสุขชั่วครู่ที่เกิดขึ้นกับการซื้อของฟุ่มเฟือย
เราก็ควรเลือกนำเงินไปทำการกุศล
หรือตัวอย่างที่เห็นได้ในการตัดสินใจของรัฐว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่
ถ้าใช้หลักประโยชน์นิยมก็ต้องคำนวณประโยชน์สุขว่า
การที่พื้นที่ป่าจำนวนหนึ่งต้องสูญเสียไป และผู้คนจำนวนมากต้องถูกอพยพจากที่ทำกิน
เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้จากเขื่อน หักลบความสุขความทุกข์ไปแล้ว
ประโยชน์สุขที่ได้จากการสร้างเขื่อนมีปริมาณมากกว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นหรือไม่
ถ้ามากกว่าก็ควรสร้าง
การประยุกต์
แนวคิดแบบประโยชน์นิยมสอดคล้องกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล
มักจะใช้วิธีคำนวณประโยชน์สุขเช่นนี้ หรือแม้แต่ในการตัดสินใจของบุคคล
คนที่มีศีลธรรมย่อมเลือกการกระทำที่ไม่เห็นแก่ตัว แต่คำนึงถึงความสุขของผู้อื่นด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ได้รับการวิจารณ์จากหลายแง่มุม เช่นมีผู้วิจารณ์ว่า
ไม่เป็นความจริงที่ความสุขเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์แสวงหา มนุษย์บางคนแสวงหาความรู้
คุณธรรม ฯลฯ โดยไม่สนใจความสุข
นอกนี้การที่ประโยชน์นิยมถือเอาปริมาณความสุขเป็นเกณฑ์ตัดสินการกระทำนั้นมีปัญหาว่าแท้จริงแล้วเราสามารถคำนวณความสุขเป็นปริมาณหรือหน่วยวัดที่แน่นอนได้หรือไม่
และการเสนอให้พิจารณาความสุขของแต่ละคนอย่างสำคัญเท่าเทียมกันนั้นไม่สามารถใช้ได้ในบางกรณี
เช่น สมมติว่ามีคนสองคนกำลังจะจมน้ำตายในแม่น้ำ คนหนึ่งในนั้นเป็นพ่อของคุณ
อีกคนหนึ่งคุณรู้ว่าเป็นนายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่คิดค้นวิธีการรักษาโรคร้ายต่าง ๆ
มามากมาย คุณว่ายน้ำไม่เป็นและกำลังอยู่บนฝั่งเห็นเหตุการณ์
ถ้าแถวนั้นไม่มีอะไรเลยที่พอจะโยนให้คนทั้งสองเกาะนอกจากไม้ขอนเดียวซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้คนเดียว
ตามหลักประโยชน์นิยมในสถานการณ์เช่นนี้คุณต้องเลือกโยนขอนไม้ให้คนที่เป็นนายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่
เพราะเมื่อคำนวณประโยชน์สุขในระยะยาว
ชีวิตที่ดำรงอยู่ต่อไปของนายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ย่อมสร้างประโยชน์สุขแก่คนโดยรวมมากกว่าชีวิตของพ่อคุณ
แต่จริง ๆ แล้วคุณจะทำเช่นนั้นหรือไม่
อีกประการหนึ่งถ้านำแนวคิดนี้ไปเป็นเกณฑ์ในการตัดสินการกระทำ
บางครั้งจะนำไปสู่การเลือกการกระทำที่ชั่วร้าย ตัวอย่างเช่น
สมมติว่าในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งซึ่งมีความเชื่อในเรื่องผีปอบ
เกิดมีคนตายโดยไม่ทราบสาเหตุขึ้นหลายคน
ชาวบ้านเชื่อว่าคนเหล่านี้ถูกผีปอบฆ่าจึงได้เชิญหมอผีมาทำพิธีไล่ผี
หมอผีได้ระบุถึงผู้หนึ่งในหมู่บ้านว่าเป็นผีปอบ
และต้องนำผู้นี้มาทำพิธีไล่ผีซึ่งเป็นพิธีที่ต้องทรมานหรือทำร้ายคนผู้นั้นจนกว่าจะเชื่อได้ว่าผีปอบได้ไปจากหมู่บ้านนี้แล้ว
ผู้ที่ถูกเชื่อว่าเป็นผีปอบได้หนีมาพึ่งตำรวจในหมู่บ้าน
ชาวบ้านต่างพากันมาชุมนุมกันหน้าสถานีตำรวจ เพื่อจะเอาตัวไปทำพิธี
ตำรวจซึ่งเป็นผู้มีหัวสมัยใหม่รู้ดีว่าความเชื่อเรื่องผีปอบนี้ไม่จริงและพยายามอธิบายให้ชาวบ้านฟัง
แต่ชาวบ้านเริ่มหมดความอดทน ไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงของตำรวจ และพร้อมที่จะก่อจลาจล
ตำรวจเห็นว่าถ้าขัดขืน ก็จะเกิดจลาจล สถานีอาจถูกเผา จะมีผู้บาดเจ็บล้มตาย
จึงมอบตัวผู้นั้นให้ชาวบ้านไปทำพิธีเพราะเห็นว่ามีผู้ได้รับการทรมานหรือถูกทำร้ายคนเดียวดีกว่าจะมีผู้บาดเจ็บล้มตายหลายคนและทรัพย์สินเสียหายย่อยยับ
ผู้วิจารณ์ประโยชน์นิยมกล่าวว่า การตัดสินใจเช่นนี้สอดคล้องกับหลักประโยชน์นิยม
แสดงให้เห็นว่าแนวคิดนี้นำไปสู่การกระทำบางอย่างที่สามัญสำนึกของเราตัดสินว่าผิดอย่างไม่มีข้อสงสัย
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า
แม้แนวคิดแบบประโยชน์นิยมดูเหมือนจะสอดคล้องกับสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันที่มักอ้างเหตุผลว่าการกระทำที่ดีคือกระทำเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนรวม
แต่จากการที่เกณฑ์ในการตัดสินการกระทำของประโยชน์นิยมมุ่งพิจารณาถึงผลของการกระทำไม่ใช่ตัวการกระทำเอง
บางครั้งทำให้การกระทำที่เลวร้ายหรือไม่ถูกต้องแต่ส่งผลให้เกิดผลประโยชน์สุขแก่ก็คนจำนวนมากก็จะเป็นที่ยอมรับกันได้
เช่น การขโมยของโดยอ้างว่าเป็นการขโมยของจากคนที่ร่ำรวยมาช่วยเหลือคนยากจน
การขโมยนี้ถูกต้องตามหลักประโยชน์นิยมเพราะประโยชน์สุขที่ลดลงของคนร่ำรวยคนเดียวย่อมเทียบไม่ได้กับประโยชน์สุขของคนจนจำนวนมากที่เพิ่มมากขึ้น
หรือในช่วงที่ผ่านมามีการวิสามัญฆาตรกรรมผู้ต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติดไปหลายคน
การกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องเพราะผู้ต้องสงสัยไม่มีโอกาสขึ้นศาลพิสูจน์ตัวเองซึ่งบางทีเขาอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ได้
แต่การกระทำเช่นนี้กลับได้รับการยอมรับจากบางส่วนในสังคมเพราะเชื่อว่าเป็นเยี่ยงอย่างไม่ให้คนอื่นกล้าค้ายาเสพติดและจะทำให้ยาเสพติดหมดไปจากสังคมในที่สุดซึ่งก่อประโยชน์สุขแก่คนโดยส่วนรวม
ดังนั้นการตัดสินการกระทำโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของคนจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการกระทำอาจไม่ถูกต้องเสมอไป
หากเราจะประยุกต์ใช้แนวคิดแบบประโยชน์นิยมในใช้ชีวิตประจำวันเราจึงต้องพิจารณาโดยรอบด้านไม่ใช่เพียงแค่ผลของการกระทำแต่ควรคำนึงถึงตัวการกระทำด้วย.