ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

แนวทางการใช้เหตุผลของมนุษย์แนวตะวันตก

การใช้เหตุผลแนวเหตุผลนิยม
การใช้เหตุผลแนวประสบการณ์นิยม
การใช้เหตุผลแนวปฏิบัตินิยม
การใช้เหตุผลแนวประโยชน์นิยม
การใช้เหตุผลแนวมนุษย์นิยม
บรรณานุกรม

การใช้เหตุผลแนวมนุษย์นิยม

ความหมาย

มนุษย์นิยมเป็นชื่อเรียกกลุ่มนักปรัชญาที่มีแนวคิดที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพของมนุษย์ในการแสวงหาความจริง ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามแนวคิดแบบมนุษย์นิยม (Humanism) ว่าคือทัศนะที่ถือว่า มนุษย์เป็นสิ่งหนึ่งในธรรมชาติ มีศักดิ์ศรี มีค่า และมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองโดยอาศัยเหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องอาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่มนุษย์นิยมตามทัศนะของกลุ่มศาสนาบางกลุ่มถือว่า มนุษย์จะพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ได้ก็แต่โดยอาศัยหลักคำสอนทางศาสนา (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540: 44.)

จากคำนิยามดังกล่าวเราต้องเข้าใจในเชิงประวัติศาสตร์ว่า “Humanism” เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งเป็นยุคแห่งการรู้แจ้ง (Enlightenment) ของยุโรป โดยใช้เรียกนักคิดกลุ่มหนึ่งในยุคสมัยนั้น เช่น วอลแตร์ (Voltaire: ค.ศ.1694-1778), รุสโซ (Rousseau: ค.ศ.1712-1778) ,มองเตสกิเออ (Montesquieu :ค.ศ. 1689-1755), ล็อค (Locke :ค.ศ.1632-1704), ฮิวม์ (Hume: ค.ศ.1711-1776), ฯลฯ ซึ่งมีแนวคิดที่เชื่อว่าคุณค่าในการดำรงอยู่ของมนุษย์ไม่ได้มาจากการค้นหาเจตจำนงของพระเจ้าและดำรงชีวิตในสอดคล้องกับเจตจำนงของพระองค์ แต่อยู่ที่การใช้เหตุผลอันเป็นศักยภาพของมนุษย์ในการค้นหาความจริงโดยตัวมนุษย์เองอันจะนำไปสู่การสร้างชีวิตและสังคมที่ดีของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพของความเป็นมนุษย์ในการแสวงหาความจริงนั้น เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ดังเช่นโปรตากอรัส (Protagoras: ก่อนคริสตศักราช 480-421 ปี) ที่แสดงความเห็นว่า มนุษย์ไม่มีทางรับรู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับพระเจ้า เพราะพระองค์ไม่เคยปรากฏให้เห็น ดังนั้น เขาจึงกล่าวว่า “มนุษย์เป็นตัวการวัดและกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง” ซึ่งไม่ได้เป็นคำกล่าวที่มุ่งแสดงความสูงส่งของมนุษย์ แต่มีความหมายว่า มนุษย์สามารถค้นพบความจริงของทุกสิ่งหรือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้โดยศักยภาพของตัวมนุษย์เอง ผ่านกระบวนการหาความรู้โดยการตั้งคำถามและเสวนากันระหว่างมนุษย์ (Jim Herrick, 2005: 5.) นอกจากนี้แนวคิดของนักคิดคนสำคัญในสมัยกรีกโบราณ เช่น โสกราติส (Socrates : ก่อนคริสตศักราช 469?-399 ปี), เพลโต(Plato:ก่อนคริสตศักราช 427-347 ปี), อริสโตเติ้ล (Aristotle: ก่อนคริสตศักราช 384-322 ปี) ต่างตั้งอยู่บนความเชื่อในศักดิ์ศรีและศักยภาพของความมนุษย์ในการแสวงหาความจริง

ต่อมาแนวคิดนี้ค่อย ๆ ถูกครอบงำโดยแนวคิดทางคริสต์ศาสนา พร้อมๆ กับการมีอำนาจมากขึ้นของ คริสตจักร โดยหลังจากอาณาจักรโรมันล่มสลายลง ยุโรปตะวันตกเข้าสู่ยุคมืดหรือยุคกลาง (Dark ages - คริสตศตวรรษที่ 6-13) ซึ่งเป็นยุคที่คริสตจักรมีอำนาจมากที่สุด เพราะประชาชนในยุโรปในสมัยนั้นศรัทธาและเชื่อในคำสอนทางศาสนาอย่างเคร่งครัดจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นความงมงาย แทนที่พวกเขาจะเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพของความเป็นมนุษย์ แต่กลับเชื่อว่า ทุกสิ่งล้วนถูกกำหนดจากพระเจ้าเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ทุกสิ่งทุกอย่างของสังคมสมัยนั้นจึงขึ้นกับนครวาติกันซึ่งเป็นศูนย์กลางของคริสตจักรเป็นผู้รับรองหรือให้ความเห็นชอบโดยอ้างว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าหรือสิ่งที่ได้มาจากการเปิดเผยโดยพระเจ้าผ่านเหล่าบาทหลวงเท่านั้น เช่น อำนาจในปกครอง การขึ้นเป็นกษัตริย์ในยุโรปต้องได้รับการเห็นชอบจากพระสันตะปาปา การศึกษาของสังคมยุโรปในยุคนั้นก็มีความคับแคบ เพราะผูกขาดอยู่แต่ในกลุ่มบาทหลวงผู้รู้ภาษาละติน และความเชื่อว่าความรู้ที่ถูกต้องต้องมาจากการรับรองของวาติกันโดยอ้างว่าเป็นความรู้ที่มาจากพระเจ้า ทำให้ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากนักคิดในยุคนั้น เช่น กาลิเลโอ ถูกปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องจากสังคม เพราะวาติกันปฏิเสธไม่ยอมรับความรู้ดังกล่าว

หลังยุคมืด ยุโรปเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปและวิทยาการ (Renaissance- คริสตศตวรรษที่ 14-16) คริสตจักรเริ่มเสื่อมอำนาจลง เพราะบาทหลวงมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา พร้อมกับกระแสชาตินิยมซึ่งประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเริ่มปฏิเสธอำนาจการปกครองหรืออำนาจในการแต่งตั้งกษัตริย์ของประเทศตนเองจากวาติกัน นอกจากนั้นสังคมในยุคนี้ให้ความสนใจและมีการฟื้นฟูความรู้ในสมัยกรีกและโรมันโบราณขึ้นมาใหม่ซึ่งทำให้วิทยาการเจริญมากขึ้น เกิดความรู้ใหม่ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องและเป็นความรู้ที่ปฏิเสธความเชื่อเดิมแบบวาติกัน เช่น ความเชื่อว่าโลกแบน เหตุเหล่านี้ทำให้อำนาจของคริสตจักรเสื่อมสลายลง ในขณะเดียวกันแนวคิดที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพของมนุษย์เริ่มมีอิทธิพลขึ้นอีกครั้งหนึ่งในสังคมยุโรป จนทำให้เกิดคำว่า “Humanism” ขึ้นในยุคแห่งการรู้แจ้งเพื่อใช้เรียกแนวคิดที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพของความเป็นมนุษย์

แนวคิด

แนวคิดแบบมนุษย์นิยมแบ่งย่อยเป็นหลายแนวคิดแต่อาจแบ่งได้เป็นสองแนวคิดใหญ่

  • แนวคิดแรกคือ แนวคิดแบบมนุษย์นิยมที่ไม่เชื่อในศาสนา(Secular humanism) ซึ่งเป็นแนวคิดแบบมนุษย์นิยมที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพความเป็นมนุษย์โดยไม่ให้ความสำคัญหรือปฏิเสธคำสอนทางศาสนา เช่น แนวคิดของฌอง ปอล ซาร์ท(Jean-Paul Sartre, ค.ศ. 1905-1980) ที่เชื่อมั่นในเสรีภาพของมนุษย์ในการกระทำสิ่งต่าง ๆ แต่เสรีภาพนั้นต้องมาพร้อมกันความรับผิดชอบ , แนวคิดแบบคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx, ค.ศ. 1818-1883)ที่เห็นว่า “ศาสนาเป็นเหมือนยาฝิ่น” เพราะศาสนาเป็นเหมือนยาเสพติดที่ทำให้มนุษย์ผู้เสพคลายความทุกข์ในขณะเสพและหลีกหนีการเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต ตามแนวคิดของมาร์กซ์ คำสอนของศาสนาที่สอนให้มนุษย์เชื่อว่าชีวิตนี้แม้จะทุกข์ยากแต่หากทำดีตามคำสอนก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีในโลกหน้า ทำให้มนุษย์ผู้ศรัทธานับถือศาสนาก้มหน้ายอมรับชะตากรรมความทุกข์ยากลำบากในโลกโดยไม่คิดแก้ไขให้ดีขึ้น หวังแต่ความสุขในโลกหน้าจากการทำความดีโลกนี้ ทั้งที่มนุษย์เองมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตในโลกปัจจุบันให้ดีขึ้นได้โดยไม่ต้องรอชีวิตหลังความตาย
  • แนวคิดที่สองคือแนวคิดแบบมนุษย์นิยมที่เชื่อในศาสนา (Religious humanism)ซึ่งเป็นแนวคิดแบบมนุษย์นิยมที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพความเป็นมนุษย์ แต่เชื่อว่า มนุษย์จะพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ได้ก็แต่โดยอาศัยหลักคำสอนทางศาสนา เช่น แนวคิดแบบมนุษย์นิยมทางคริสต์ศาสนา (Christian Humanism) ซึ่งเป็นแนวคิดทางคริสต์ศาสนาที่ไม่ได้เชื่อว่า ทุกอย่างต้องรอให้ถูกดลบันดาลจากพระเจ้า แนวคิดนี้เห็นว่าการรอให้พระเจ้าดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นกับมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามคำสอนทางศาสนา เรา(มนุษย์)ต้องกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองในการยับยั้งสงคราม อาชญากรรม ความโหดร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต มนุษย์มีศักยภาพที่น่าทึ่ง มีเสรีภาพที่จะเลือกในสิ่งที่เราทำ สังคมและโลกที่เราอาศัยอยู่ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา และเราเองต้องรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านั้น

แม้แนวคิดแบบมนุษย์นิยมจะสามารถแบ่งย่อยเป็นหลายแนวคิด แต่ก็มีแนวคิดพื้นฐานที่เหมือนกันคือ

  1. เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ในการแสวงความจริงและคำตอบในปัญหาต่าง ๆ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการเข้าใจความจริงหรือความรู้ต่าง ๆ ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของความรู้หรือความจริงสูงสุดที่มนุษย์ผู้อื่นไม่สามารถเข้าใจเพียงคนเดียวหรือกลุ่มบุคคลเดียว เช่น ความรู้ความสามารถพิเศษในการติดต่อกับพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์
  2. เชื่อในการใช้เหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์
  3. เชื่อว่า ความหมาย คุณค่า และเป้าหมายของมนุษย์สามารถพบได้ในชีวิตปัจจุบันไม่ใช่ตายไปแล้ว
  4. เชื่อว่ามนุษย์มีเสรีภาพในการกระทำสิ่งต่าง ๆ แต่มนุษย์ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ ตนเองกระทำ
  5. เชื่อในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่คิดค้นโดยมนุษย์เพื่อตอบสนองความต้อง การและการแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตของมนุษย์
  6. เชื่อในระบอบประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน การมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียม

การประยุกต์

แนวคิดแบบมนุษย์นิยมเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ในการใช้เหตุผลในการค้นคว้าหาความรู้หรือความจริงโดยตัวมนุษย์เอง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างชีวิตและสังคมที่ดีของมนุษย์

ความเชื่อดังกล่าวมาจากแนวคิดพื้นฐานว่าคุณค่าของมนุษย์มาจากการใช้เหตุผล (reason) ความมีอิสระทางความคิดและการกระทำโดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้อื่น (autonomy) และความรู้จักช่างสงสัย ซักถามและแสวงหาคำตอบ(scepticism) ของมนุษย์

เมื่อมนุษย์เชื่อมั่นในการใช้เหตุผลของตนในการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับตนเอง โลก การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยี ระเบียบ กฎหมายในการอยู่ร่วมเป็นสังคม มนุษย์ก็ต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการใช้เหตุผลในการค้นพบและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งต่างจากความเชื่อว่าทุกอย่างในชีวิตมนุษย์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดเองแต่ถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอก เช่น พระเจ้า ชะตากรรม พรหมลิขิต สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในแง่นี้มนุษย์ก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งใด ๆ เลยปล่อยให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว

เมื่อมนุษย์พร้อมที่จะยอมรับความผิดพลาดจากการใช้เหตุผลของมนุษย์ ย่อมแสดงว่า มนุษย์ทุกคนผิดพลาดได้ สิ่งที่ผู้หนึ่งคิดไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป ไม่มีใครสามารถจะบอกว่าตัวเองถูกต้องเสมอ ทุกสิ่งสามารถผิดได้และหักล้างได้โดยเหตุผลของผู้อื่น เช่น ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกหักล้างโดยทฤษฎีใหม่และเปลี่ยนแปลงไปตลอด

ด้วยเหตุนี้ การใช้เหตุผลของมนุษย์จึงถูกขับเคลื่อนด้วยสองอย่างคือ การวิพากษ์(criticism) และการรู้จักสงสัย (scepticism) ข้ออ้างถึงสิ่งต่าง ๆ หรือความรู้ในสิ่งต่าง ๆ สามารถพิสูจน์ได้ว่าผิดเสมอ ไม่มีผู้ใดอ้างได้ว่า ความรู้ที่ตนเองค้นพบหรือคิดค้นขึ้นเป็นความจริงที่ถูกต้องนิรันดร์ ไม่สามารถหักล้างได้ ดังนั้น ความรู้ในทัศนะแบบมนุษยนิยมจึงมีลักษณะสาธารณะหรือมีลักษณะเป็นวัตถุวิสัย (objective) กล่าวคือสามารถ พิสูจน์ แสดงเหตุผลสนับสนุน อธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้ ไม่ใช่เป็นความรู้ที่อ้างว่ามาจากการที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งมีอำนาจพิเศษต่างจากมนุษย์ผู้อื่นในการรับรู้ถึงความรู้นั้น ๆ และความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ เช่น คำสอนหรือการตีความคำสอนทางศาสนาที่นักบวชมักอ้างว่าได้รับจากการเปิดเผยของพระเจ้าหรือสัมผัสพิเศษ ดังนั้นความรู้ในแบบมนุษยนิยมมีลักษณะสำคัญที่เด่นชัดอยู่ที่พลังที่ขับเคลื่อนให้ความรู้นั้นก้าวหน้า คือ ความเป็นสากลในวิธีการได้มาซึ่งความรู้ คือ การวิพากษ์ การรู้จักสงสัย การเป็นความรู้ที่พร้อมที่ผิดได้ และมีความเป็นสาธารณะ

การให้ความสำคัญกับการมีและใช้เหตุผลของมนุษย์ในแนวคิดแบบมนุษย์นิยมจึงเป็นการปลดปล่อยมนุษย์ในสามวิถีทาง คือ

  1. ปลดปล่อยจากอำนาจครอบงำภายนอก เช่น ความเชื่องมงายทางศาสนา ความงมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ และหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น
  2. เปิดกว้างต่อกระบวนการแสวงหาความรู้และความจริงต่อทุกคน ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อ้างถึงอำนาจพิเศษในการเป็นเจ้าของความรู้หรือความจริง
  3. ปลดปล่อยบุคคลจากการมีทัศนะที่คับแคบเป็นอัตวิสัย คือเชื่อว่าตัวเองถูกเสมอ และมีอคติต่อความคิดเห็นของผู้อื่น มาเป็นการเปิดรับฟังความเห็นผู้อื่น พร้อมที่จะถูกวิพากษ์และพร้อมที่จะวิพากษ์คนอื่น

การมีและใช้เหตุผลของมนุษย์จึงไม่เป็นเพียงแค่การปลดปล่อยความจริง แต่ยังแสดงถึงความเป็นอิสระทางความคิดและการ ตัดสินใจได้ด้วยตัวเองโดยไม่ถูกครอบงำจากผู้อื่น และความเท่าเทียมกันของมนุษย์

หากเราปรับประยุกต์ใช้แนวคิดแบบมนุษย์นิยมในสังคมจะทำให้เกิดสังคมแบบมนุษย์นิยมที่มีการใช้เหตุผลภายใต้การขับเคลื่อนของการวิพากษ์และสงสัย คนในสังคมจะโต้แย้งถกเถียงกันอยู่เสมอก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ทำให้สังคมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความรู้หรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่จากการใช้เหตุผลของมนุษย์ ซึ่งตัวอย่างสังคมแบบมนุษย์นิยมที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันคือ สังคมเสรีนิยม(Liberalism) ของตะวันตก

จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า มนุษย์นิยมหมายถึงทัศนะที่ให้คุณค่าและความสำคัญสูงสุดแก่ความเป็นมนุษย์ มุ่งแสวงหาแนวทางชีวิตที่ดีที่สุดเพื่อมนุษย์ในโลกปัจจุบัน ถือมนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่ามนุษย์มีเจตจำนงอิสระ พลังความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความพยายาม ศักยภาพ ศักดิ์ศรี โดยธรรมชาติ มนุษย์อยู่ในวิสัยต้องรับผิดชอบชะตากรรมของตนเองได้เพราะเป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของตนเอง โลกย่อมเป็นไปตามความคิดและการกระทำของมนุษย์ สังคมแบบมนุษย์นิยมจึงเป็นสังคมที่มนุษย์ดำรงชีวิตโดยเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองในการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองและสังคมให้ดีขึ้นโดยไม่พึ่งพาอำนาจเหนือธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ทุกแนวคิดย่อมมีจุดบกพร่อง เพราะถ้ามองว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์เป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ย่อมทำให้เกิดอหังการของมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่ความคิดที่ว่า มนุษย์สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้แต่การเข้าไปจัดการกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างขาดสติ โดยเอาความละโมบของมนุษย์เองเป็นที่ตั้ง สุดท้ายก็เกิดการทำลายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย แต่มนุษย์จำเป็นที่จะต้องมีสัมมาทิฏฐิแล้วนำเอาศักยภาพของตนเองมาพัฒนาแล้วนำไปใช้อย่างบูรณาการ ปราศจากอคติ ลดความอหังการ ปรับตัวเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย