วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

จริยธรรมในการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด

ใครได้ ใครเสียประโยชน์ และใครควรถูกคุ้มครอง
ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อไหร่
แนวทางขององค์การ UNESCO
อังกฤษ ผู้นำของการวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านตัวอ่อนและการเจริญพันธุ์
สหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายไม่สนับสนุนการวิจัยที่ใช้ตัวอ่อน
แนวปฏิบัติสำหรับประเทศไทยยังอยู่ในระยะทดลองใช้

สหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายไม่สนับสนุนการวิจัยที่ใช้ตัวอ่อน

     ในยุคของประธานาธิบดีคลินตัน ได้มีการร่างแนวปฏิบัติ (guidelines) เพื่อพิจารณาให้ทุนวิจัยด้านสเต็มเซลล์จากรัฐบาลกลางโดยผ่านทาง National Institutes of Health (NIH) แนวปฏิบัติที่ร่างไว้นี้มีหลักการที่มีพื้นฐานทางจริยธรรมอยู่ว่า ตัวอ่อนที่ใช้ในการวิจัยจะต้องได้มาโดยเหลือใช้จากการสร้างตัวอ่อนขึ้นมาเพื่อการเจริญพันธุ์ โดยเจ้าของตัวอ่อนต้องเป็นสามีภรรยากัน ได้รับการแจ้งให้ทราบจุดประสงค์ของการนำตัวอ่อนไปใช้และให้ฉันทานุมัติโดยไม่มีสิ่งจูงใจทางการเงินใด ๆ

แต่ทว่าเมื่อถึงยุคของประธานาธิบดีบุช ไม่ทันที่จะนำแนวปฏิบัติที่ร่างเอาไว้มาใช้ในการพิจารณาให้ทุนนโยบายการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยของรัฐบาลก็เปลี่ยนไป โดยมีการประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 2001 ห้ามมิให้ใช้งบประมาณของรัฐบาลในการสนับสนุนการวิจัยสเต็มเซลล์ที่มีการทำลายตัวอ่อน

นโยบายนี้มีผลทำให้แนวปฏิบัติเดิมที่ร่างไว้ต้องถูกยกเลิกไป และนักวิจัยในสหรัฐที่ขอรับทุนวิจัยจากรัฐบาล จะต้องใช้สเต็มเซลล์ไลน์ที่มีการพัฒนาขึ้นไว้แล้วก่อนวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 2001 เท่านั้นเป็นวัสดุสำหรับการวิจัย ห้ามสร้างตัวอ่อนขึ้นใหม่ และห้ามสนับสนุนแม้กระทั่งการนำตัวอ่อนเหลือใช้จากการทำ IVF ที่มีอยู่เป็นจำนวนนับแสนมาใช้ในการวิจัยสเต็มเซลล์ กล่าวได้ว่าเป็นนโยบายที่อยู่บนหลักการความเชื่อในทางจริยธรรมที่เข้มงวดที่สุดอันหนึ่ง แม้ว่าจนถึงปัจจุบันนี้จะถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่นักวิจัย ผู้ให้ทุนวิจัยรายเอกชน มหาวิทยาลัย และผู้ป่วยที่รอความก้าวหน้าทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคของพวกเขา ในจำนวนผู้คัดค้านนี้มีนายจิม คลาร์ค ผู้ก่อตั้งบริษัท Silicon Graphics และเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของสถาบันวิจัยทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง และนาย Christopher Reeves ดาราภาพยนตร์ผู้ป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุที่ทำให้กระทบกระเทือนสันหลัง



ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐยังคงให้อิสระ ในการทำวิจัยกับตัวอ่อนในภาคเอกชน และไม่มีกฎหมายใด ๆ ที่ห้ามในเรื่องนี้ จึงเกิดสถานการณ์ที่แปลกประหลาดว่า ขณะที่ด้านหนึ่งปิดกั้นการวิจัยในภาครัฐ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปล่อยงานวิจัยที่อยู่ในมือบริษัทให้ดำเนินต่อไป ทำให้กลุ่มศาสนา ฯลฯ ที่สนับสนุนการออกกฎหมายห้ามวิจัยตัวอ่อนโดยเด็ดขาด หันมาต่อต้านนโยบายนี้เช่นกัน ว่าเป็นการดำเนินนโยบายสองมาตรฐาน

พร้อมกับการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีบุช รัฐบาลสหรัฐก็ได้เปิดเผยรายชื่อของสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีสเต็มเซลล์ที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นเซลล์ไลน์แล้ว และสนับสนุนให้นักวิจัยใช้เซลล์จากแหล่งที่มีอยู่แล้วเหล่านี้ ท่ามกลางความเป็นห่วงของนักวิจัยว่า เซลล์เหล่านั้นอาจไม่ได้คุณภาพ (ขาดเสถียรภาพในความเป็นเซลล์ไลน์) หรือแม้เมื่อรวมกันแล้วก็ยังมีความหลากหลายทางพันธุกรรมไม่เพียงพอในการศึกษาวิจัยโรคบางอย่าง และไม่หลากหลายพอสำหรับเป็นตัวเลือกในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้เข้ากันได้กับคนไข้ที่ต้องการนำเนื้อเยื่อไปปลูกถ่าย

สหรัฐไม่มีหน่วยงานกลางที่ได้รับมอบอำนาจทางกฎหมายให้ควบคุมในเรื่องจริยธรรมของการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับตัวอ่อน ทำให้แต่ละมลรัฐต่างก็มีนโยบายและการออกกฎหมายควบคุมการวิจัยตัวอ่อนมนุษย์ในหลากหลายระดับต่าง ๆ กันไป แต่ขณะนี้มีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลกลางจัดตั้งหน่วยงานลักษณะดังกล่าวขึ้นเพื่อควบคุมการวิจัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ในทำนองเดียวกับหน่วยงานควบคุมการบินของรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Aviation Administration) ที่เกิดขึ้นเพราะความก้าวหน้าและความเสี่ยงของเทคโนโลยีการบินทำให้จำเป็นต้องมีการควบคุมด้วยมาตรฐานเดียวกัน

ประเทศอื่น ๆ ที่มีความเคลื่อนไหวคืบหน้าในเรื่องนี้ได้แก่ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่ห้ามการใช้เทคโนโลยีโคลนนิ่งมนุษย์เพื่อเจริญพันธุ์ (Law Concerning Regulation Relating to Human Cloning Techniques an Other Similar Techniques, 2000) แต่ในการสกัดสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนเหลือใช้จากการทำ IVF เพื่อช่วยเจริญพันธุ์และได้รับบริจาคมาเพื่อทำการวิจัยนั้น ให้ใช้แนวปฏิบัติ (Guidelines for Derivation and Utilization of Human Embryonic Stem Cells, 2001) กำหนดเงื่อนไขในการใช้ตัวอ่อนไว้ระดับหนึ่งแต่ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2004 สภานโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบาย ได้เสนอแนวทางอนุญาตให้นักวิจัยสร้างตัวอ่อนขึ้นด้วยการโคลนได้เพื่อใช้ในการวิจัย แต่ยังไม่ถึงขั้นยินยอมให้นำโคลนนี้ไปสกัดสเต็มเซลล์ไลน์ เนื่องจากต้องการใช้ความรอบคอบในเรื่องความปลอดภัยของการใช้เซลล์โคลนเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว

ด้านออสเตรเลียได้ออกกฎหมาย Research Involving Human Embryos Act 2002 มีแนวทางคล้ายกับของญี่ปุ่นนั่นคือให้ใช้เฉพาะตัวอ่อนที่เหลือจากการบำบัดรักษาเพื่อช่วยการเจริญพันธุ์เท่านั้นในการวิจัย

เพื่อให้ง่ายแก่การเปรียบเทียบ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อมูลสถานภาพของนโยบายและการควบคุมการวิจัยตัวอ่อนมนุษย์ในหลายประเทศ เรียงตามลำดับความเข้มงวด ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าในระดับนานาประเทศมีความแตกต่างของระดับการควบคุม การยินยอมหรือสนับสนุนให้มีการวิจัยได้ต่าง ๆ กัน ตั้งแต่กลุ่มที่มีระดับการควบคุมที่เข้มงวด ไปจนถึงกลุ่มที่ผ่อนผันและเอื้ออำนวยต่อการวิจัยมาก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย