วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

จริยธรรมในการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด

ใครได้ ใครเสียประโยชน์ และใครควรถูกคุ้มครอง
ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อไหร่
แนวทางขององค์การ UNESCO
อังกฤษ ผู้นำของการวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านตัวอ่อนและการเจริญพันธุ์
สหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายไม่สนับสนุนการวิจัยที่ใช้ตัวอ่อน
แนวปฏิบัติสำหรับประเทศไทยยังอยู่ในระยะทดลองใช้

ใครได้ ใครเสียประโยชน์ และใครควรถูกคุ้มครอง

         ปัญหาการรักษาผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องนั้น มุ่งพิจารณากรณีที่ผู้วิจัยได้รับบริจาคตัวอ่อนมาจากผู้ป่วยที่ตั้งใจมารักษาการมีบุตรยาก ซึ่งควรมีเงื่อนไขในทางจริยธรรมกำกับในเรื่องนี้ เช่น (ร่าง) แนวปฏิบัติฯ ของไทยที่จัดทำโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติระบุว่า ตัวอ่อนที่ใช้ในการวิจัยเพื่อเป็นแหล่งที่มาของสเต็มเซลล์จะต้องเป็นตัวอ่อนที่เกินจากความต้องการที่ใช้ในการทำให้เกิดบุตร โดยจะต้องไม่มีการชี้ชวน หรือจ่ายเงินใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวอ่อนนั้น อีกทั้งจะต้องปราศจากการชี้นำของบุคคลใด ๆ ที่จะเป็นผู้ได้รับเซลล์นั้นในฐานะคนไข้หรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ที่ได้รับจากตัวอ่อน ส่วนทางด้านผู้วิจัยจะต้องจัดทำข้อตกลงในการสร้างตัวอ่อนขึ้นมาเพื่อรักษาการมีบุตรยาก และข้อตกลงในการบริจาคตัวอ่อนที่เหลือจากความต้องการสำหรับใช้ในงานวิจัยที่ต้องการสเต็มเซลล์ แยกกันคนละฉบับ รวมทั้งจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่จะทำให้บ่งชี้ได้ว่าผู้ที่บริจาคไข่หรือตัวอ่อนเป็นใคร

 

ในกรณีที่การวิจัยเสต็มเซลล์นั้นอาจมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ คำยินยอมที่ให้ผู้บริจาคฯ ลงชื่อจะต้องระบุว่าผู้บริจาคจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินตอบแทนหรือผลประโยชน์อันจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาสเต็มเซลล์ดังกล่าวในทางการค้า

การจัดการกับปัญหาจริยธรรมในข้อแรกนี้ ดูเหมือนว่ามีความคล้ายคลึงกับการจัดการเกี่ยวกับจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และนักวิจัย ที่มีจัดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน การแสวงประโยชน์ด้วยการชี้นำ และการเสียเปรียบเพราะขาดโอกาสรับรู้ข้อมูลที่เพียงพอ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย