วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
จริยธรรมในการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด
ใครได้ ใครเสียประโยชน์ และใครควรถูกคุ้มครอง
ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อไหร่
แนวทางขององค์การ UNESCO
อังกฤษ ผู้นำของการวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านตัวอ่อนและการเจริญพันธุ์
สหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายไม่สนับสนุนการวิจัยที่ใช้ตัวอ่อน
แนวปฏิบัติสำหรับประเทศไทยยังอยู่ในระยะทดลองใช้
อังกฤษ ผู้นำของการวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านตัวอ่อนและการเจริญพันธุ์
เป็นที่ทราบกันดีว่าอังกฤษเป็นประเทศที่อยู่ในระดับแนวหน้าของการวิจัยเกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์
เห็นได้จากการที่ประเทศอังกฤษให้กำเนิดเด็กหลอดแก้ว
(เกิดด้วยกระบวนการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือ in vitro fertilisation IVF)
รายแรกของโลกที่ชื่อหลุยส์ บราวน์ เมื่อปี ค.ศ. 1978
จากนั้นเรื่องของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
และความเหมาะสมของการวิจัยเกี่ยวกับตัวอ่อนก็เป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1982 รัฐบาลก็ได้มอบหมายให้คณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า The
Warnock Committee ศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นของประชาชน
สรุปและจัดทำข้อเสนอแนะเป็นรายงานต่อรัฐบาลที่ชื่อว่า The Warnock Report (1984)
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่นำไปสู่การออกกฎหมาย Human Fertilisation and
Embryology Act ในปี ค.ศ. 1990
กฎหมายฉบับนี้มอบอำนาจแก่หน่วยงานอิสระที่ชื่อว่า Human
Fertilisation and Embryology Authority (HFEA) ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991
ให้เป็นองค์กรระดับชาติที่ควบคุมดูแล
และออกใบอนุญาตแก่ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านตัวอ่อนมนุษย์และการเจริญพันธุ์
ภายใต้บทบังคับของกฎหมายฉบับนี้นักวิจัยอังกฤษสามารถใช้ตัวอ่อนที่มีอายุไม่เกิน 14
วันในการวิจัย (ด้านสเต็มเซลล์ ฯลฯ) หรือแม้แต่สร้างตัวอ่อนขึ้นเพื่อการวิจัยก็ได้
แม้ว่าต่อมาในปี ค.ศ. 2001 อังกฤษได้ออกกฎหมายเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งชื่อว่า Human
Reproductive Cloning Act
ทำให้การโคลนมนุษย์เพื่อเจริญพันธุ์เป็นสิ่งผิดกฎหมายและมีบทลงโทษทางอาญาที่ชัดเจนก็ตาม
แต่ก็มิได้ห้ามการโคลนมนุษย์เพื่อ (สร้างสเต็มเซลล์สำหรับ) บำบัดรักษา
ทำให้นักวิจัยอังกฤษมีอิสระค่อนข้างมากในการวิจัย
อย่างไรก็ตาม
ในทางกลับกันการที่มีหน่วยงานเฉพาะทางที่มีอำนาจควบคุมดูแลตามกฎหมายเช่นนี้
เปิดโอกาสให้มีการระงับการวิจัยในอนาคต
(เมื่อมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ)
ที่อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมได้โดยทันทีด้วยการเพิกถอนใบอนุญาต
ไม่ต้องรอให้มีการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบใหม่
จึงถือได้ว่าเป็นระบบที่ทั้งเข้มงวดและยืดหยุ่นในเวลาเดียวกัน