วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

จริยธรรมในการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด

ใครได้ ใครเสียประโยชน์ และใครควรถูกคุ้มครอง
ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อไหร่
แนวทางขององค์การ UNESCO
อังกฤษ ผู้นำของการวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านตัวอ่อนและการเจริญพันธุ์
สหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายไม่สนับสนุนการวิจัยที่ใช้ตัวอ่อน
แนวปฏิบัติสำหรับประเทศไทยยังอยู่ในระยะทดลองใช้

ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อไหร่

ส่วนปัญหาสถานภาพในความมีชีวิตหรือความเป็นมนุษย์ของตัวอ่อน เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน ที่แม้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะให้ข้อมูลที่สามารถนำมาเป็นเกณฑ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่แม้ในระดับสากลก็มิได้มีข้อสรุปที่ลงตัว คงเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศไปจัดการตั้งกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติกันเองต่าง ๆ กันไป

ด้วยความรู้ปัจจุบัน เราทราบว่ากระบวนการพัฒนาไปเป็นตัวอ่อน (development) เริ่มขึ้นตั้งแต่ เมื่อเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และสเปอร์ม) ผสมกัน นำเอาสารพันธุกรรมจากพ่อและแม่อย่างละครึ่งมารวมกันเป็นเซลล์ที่มีโครโมโซมอยู่ 23 คู่ นี่คือไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว (fertilized egg หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า zygote) จากนั้นเป็นต้นไปเซลล์นี้จะแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์ นักชีววิทยาการสืบพันธุ์บางคนเสนอให้ใช้คำว่า pre-embryo สำหรับเรียกตัวอ่อนในระยะนี้มากกว่าใช้คำว่า embryo ด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติมากกว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ในระยะแรกนี้เซลล์จะแบ่งตัวเป็นสอง สี่ แปดเซลล์ หากเราแยกเซลล์ที่แบ่งตัวอยู่นี้ออกจากกัน แต่ละเซลล์ก็จะยังสามารถพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนได้ด้วยตัวของมันเอง (นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดครรภ์แฝด)

แต่เมื่อถึงระยะ 16 เซลล์ จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเซลล์เล็ก ๆ นี้ จากที่เคยเหมือนกันทุก ๆ เซลล์ก็จะเริ่มมีบางเซลล์ที่พัฒนาตัวเองแตกต่างออกไป (differentiate) พร้อมกันนี้ ความสามารถของแต่ละเซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนได้ด้วยตัวเองก็จะลดลง บางเซลล์เริ่มปรากฏหน้าที่เฉพาะของเซลล์เอง เช่น เซลล์ที่อยู่ภายนอกจะเริ่มรับรู้ว่าตนเองอยู่ “ด้านนอก” และเตรียมตัวพัฒนาไปเป็นรกและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่ห่อหุ้มและปกป้องตัวอ่อนที่จะเติบโตต่อไปภายใน

เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง กลุ่มเซลล์ทั้งหมดนี้จะหลุดออกมาจากเปลือกของเซลล์ไข่ และฝังตัวติดกับผนังมดลูกของมารดา ร่างกายของมารดาจะรับรู้การมีอยู่ของตัวอ่อนเป็นครั้งแรกและเริ่มการตั้งครรภ์เพื่อหล่อเลี้ยงตัวอ่อน แต่กลุ่มเซลล์ที่อยู่ “ข้างใน” ตัวอ่อนนั้น แต่ละเซลล์ยังมีความสามารถที่จะกลายไปเป็นอวัยวะทุก ๆ อย่างในร่างกายได้ หรือแม้กระทั่งแตกตัวออกกลายเป็นตัวอ่อนหลายตัวเกิดเป็นครรภ์แฝดก็เป็นไปได้ ในระยะนี้เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเซลล์ที่อยู่ข้างในนี้ เซลล์ไหนจะกลายเป็นส่วนของร่างกายมนุษย์ และเซลล์ไหนจะกลายเป็นรก (ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์) แต่เมื่อถึงวันที่สิบสาม ระยะเวลาช่วงที่นักปฏิบัติบางคนเรียกว่าระยะ pre-embryo ก็จะหมดลง

 

นับจากวันที่สิบสี่หรือวันที่สิบห้าเป็นต้นไป กลุ่มเซลล์ส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งที่อยู่ภายในตัวอ่อนจะเริ่มพัฒนาไปเป็น fetus ที่จะกลายเป็นมนุษย์ ผู้ศึกษาวิจัยจะเริ่มมองเห็นความแตกต่างของเซลล์แต่ละเซลล์ และพบว่าเซลล์กลุ่มหนึ่งพัฒนาขึ้นเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า primitive streak ซึ่งเป็นระยะแรกของเส้นประสาทและกระดูกสันหลัง นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒนาการของตัวอ่อน เพราะว่าจากวันนี้เป็นต้นไปจะไม่มีการแยกตัวออกเป็นแฝดอีกต่อไป ตัวอ่อนอายุสิบห้าวันหนึ่งตัว จะกลายเป็นมนุษย์หนึ่งคน (ถ้าไม่แท้งเสียก่อน) ไม่มากไปกว่านั้น

จากจุดนี้ไปตัวอ่อนจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในการสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 ตัวอ่อน embryo ก็จะกลายเป็น fetus เราจะเริ่มเห็นสิ่งที่คล้ายแขน ขา และอวัยวะอื่น ๆ ของมนุษย์

ปัญหาจริยธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการวิจัยด้านสเต็มเซลล์นั้น เป็นเพราะในกรณีที่นักวิจัยต้องการสกัดเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์มักจะใช้ตัวอ่อนที่มีอายุ 5-7 วันหลังปฏิสนธิ (เรียกว่า blastocyst) ซึ่งมีกลุ่มมวลเซลล์ภายใน (inner cell mass) ที่เหมาะจะเป็นแหล่งของสเต็มเซลล์ที่นักวิจัยต้องการ และผลของการสกัดเซลล์นี้ออกมาคือ ตัวอ่อนนั้นถูกทำลายมิให้เจริญเติบโตต่อไปได้นั่นเอง

จากความรู้ที่กล่าวมาข้างต้น ข้อกำหนดของหลายประเทศจึงมักจะมีแนวทางให้ปฏิบัติกับตัวอ่อนอย่างระมัดระวัง (และให้ความเคารพระดับหนึ่ง) โดยห้ามมิให้ใช้เซลล์จากตัวอ่อนภายหลังระยะ 14 วันหลังปฏิสนธิ

การกำหนดระยะเวลาหลังปฏิสนธิที่จะนำตัวอ่อนมาใช้ได้หรือไม่ได้นี้ แม้ว่าจะอ้างอิงอยู่บนฐานของความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของตัวอ่อนมนุษย์ในครรภ์ดังที่กล่าวมาแล้ว (โดยอาศัยเกณฑ์ที่ว่าในวันที่ 14 ตัวอ่อนต้องยังไม่มีพัฒนาการของสิ่งที่ใกล้เคียงกับระบบประสาทหรือความรับรู้ใด ๆ) แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มากว่า ตัวอ่อนเริ่มเป็นมนุษย์เมื่อใด

คำตอบชัด ๆ ในเรื่องนี้คงจะไม่สามารถอิงอยู่กับความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว มิใช่ว่าข้อมูลวิทยาศาสตร์ไม่ชัดเจนเพียงพอ หากแต่เป็นเพราะมนุษย์เองมีความเห็นเกี่ยวกับการตีความหมายของคำว่า “ชีวิต” แตกต่างกันไป ทำให้ปัญหาเรื่องนี้ถูกนำไปพิจารณาในระดับปรัชญาและความเชื่อทางศาสนา ในเมื่อความเห็นในเรื่อง “ชีวิต” ยังต่างกันบนพื้นฐานความเชื่อ ความศรัทธา และการตัดสินใจทางการเมืองของแต่ละประเทศ “การปฏิบัติต่อตัวอ่อนด้วยความเคารพ” จึงมีความเข้มงวดไม่เท่ากัน ดังตัวอย่างที่จะนำเสนอต่อไปนี้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย