ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

คัมภีร์หลักบาลีมหาไวยากรณ์

บทนำ
ความเป็นมาพอสังเขป
ประวัติเกี่ยวกับผู้รจนา
รูปแบบและวิธีการรจนาคัมภีร์สัททนีติ
สาระสำคัญในสัททนีติ ปทมาลา
ส่วนที่เป็นเนื้อหาย่อย
เนื้อหาสาระโดยสังเขป

สาระสำคัญในสัททนีติ ปทมาลา

การรจนาคัมภีร์สัททนีตินี้ ท่านได้เริ่มรจนาปทมาลา โดยแบ่งเป็น 14 ปริจเฉทต่อจากนั้น จึงรจนาธาตุมาลาโดยแบ่งเป็น 5 ปริจเฉท ท้ายสุดท่านได้รจนาสุตตมาลาโดยแบ่งเป็น 9 ปริจเฉท และในการเรียงปริจเฉทนั้น ท่านได้เรียงปริจเฉทของทั้ง 3 ภาคด้วยลำดับตัวเลขที่ต่อเนื่องกัน คือตั้งแต่ปริจเฉทที่ 1 ถึง 28. สำหรับ 14 ปริจเฉทในปทมาลานี้ ท่านได้เรียงลำดับปริจเฉทไว้ดังนี้:-

1. สวิกรณาขฺยาติวิภาค
2. ภวติกิริยาปทมาลาวิภาค
3. ปกิณฺณกวินิจฺฉย
4. ภูธาตุมยนามิกรูปวิภาค
5. โอการนฺตปุลฺลิงฺคนามิกปทมาลา
6. อาการนฺตปุลฺลิงฺคนามิกปทมาลา
7. นิคฺคหีตนฺตปุลฺลิงฺคนามิกปทมาลา
8. อิตฺถิลิงฺคนามิกปทมาลา
9. นปุสกลิงฺคนามิกปทมาลา
10. ลิงฺคตฺตยมิสฺสกนามิกปทมาลา
11. วาจฺจาภิเธยฺยลิงฺคาทิปริทีปนนามิกปทมาลา
12. สพฺพนามตํสทิสนามนามิกปทมาลา
13. สวินิจฺฉยสงฺขฺยานามนามิกปทมาลา
14. อตฺถตฺติกวิภาค



คัมภีร์นี้สมบูรณ์ด้วยเนื้อหาสาระ เพียบพร้อมด้วยหลักการใช้ศัพท์, อรรถและแบบแจกบทต่างๆ เพื่อให้มองเห็นภาพบางส่วน จะขอยกตัวอย่างทั้งโดยภาพรวมและในส่วนของเนื้อหาเป็นแนวทางดังนี้

  1. วิเคราะห์, วิจารณ์ และวินิจฉัยบทต่างๆ เช่น บทนาม (สยาทยันตบท) บทอาขยาต (ตยาทยันตบท) โดยมีการเทียบเคียงกับพระบาลีในพระไตรปิฎก, อรรถกถา,ฎีกา และปกรณ์พิเศษอื่นๆ
  2. วิเคราะห์, วิจารณ์ และวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีของบทที่มักก่อให้เกิดความสับสน ในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทที่มีลักษณะเหมือนกันโดยศัพท์ แต่มีความหมายต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ศึกษาหลงประเด็น
  3. บอกวิธีการอ่าน การสะกดให้ถูกต้องตามจังหวะจะโคน
  4. วินิจฉัยความหมายพร้อมกับมีการตั้งคำถาม คำตอบเชิงตรรกะเข้ามาเป็นเครื่องมือหรือแนวคิดให้เกิดการสื่อสารที่เพียบพร้อมด้วยเหตุและผล
  5. แสดงอัตถุทธาระของศัพท์ที่มีความหมายหลากหลาย พร้อมกับยกหลักฐานตัวอย่างการใช้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์พิเศษ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่นักศึกษาผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักแปลภาษาบาลีชั้นสูง
  6. แสดงปริยายศัพท์ หรือศัพท์ไวพจน์ซึ่งเป็นคลังศัพท์ เหมาะสำหรับนักศึกษาผู้ใฝ่ฝันอยากจะเป็นเมธีผู้รอบรู้โวหารภาษาบาลีในระดับนิรุตติปฏิสัมภิทา
  7. แสดงการวินิจฉัยลิงค์ หรือลักษณะของนามศัพท์ที่มีความสลับซับซ้อนนับว่าเป็นส่วนยากระดับสูงของกระบวนการเรียนการสอนภาษาบาลีในทุกยุคทุกสมัย.
    ข้อนี้มีคุณูปการะอย่างยิ่งยวดต่อกระบวนการใช้ภาษาบาลีทั้ง 4 ทักษะไม่ว่าเป็นการพูด, อ่าน, เขียน, ฟัง หรือแม้กระทั่งการแปลวรรณกรรมบาลี - สันสกฤตตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับสูงสุด
  8. แสดงการใช้วิเสสนบท, สังขยา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ในประโยคที่ผู้ศึกษา จำเป็นต้องทราบ พร้อมข้อวินิจฉัยต่างๆ
  9. แสดงกลุ่มศัพท์ประเภทรูฬหี (ศัพท์ประเภทที่มีความหมายไม่ตรงกับสภาพที่เป็นจริงเป็นต้น), สรรพนาม และมิใช่สรรพนามแต่มีลักษณะเหมือนกับสรรพนามพร้อมข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับการนำบทเหล่านั้นไปใช้
  10. แสดงกลุ่มศัพท์ (ซึ่งจัดเป็นนิบาต) ที่ลงท้ายด้วย ตุ ปัจจัย (ตุมันตบท),ที่ลงท้ายด้วยตฺวาปัจจัยเป็นต้น (ตฺวาทยันตบท)
  11. แสดงแบบแจกของบทอาขยาต, บทนาม, บทสรรพนาม, สังขยา พร้อมกับวินิจฉัยแบบแจกนั้นๆ โดยยกหลักฐานจากพระไตรปิฎกเป็นต้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย