ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
บทนำ
ความเป็นมาพอสังเขป
ประวัติเกี่ยวกับผู้รจนา
รูปแบบและวิธีการรจนาคัมภีร์สัททนีติ
สาระสำคัญในสัททนีติ ปทมาลา
ส่วนที่เป็นเนื้อหาย่อย
เนื้อหาสาระโดยสังเขป
ความเป็นมาพอสังเขป
ภาษาบาลี เป็นเอกลักษณ์ประจำพระพุทธศาสนา
ในอดีตกาลประมาณ 2500 ปีมาแล้ว ภาษาถิ่นภาษาหนึ่งที่ใช้พูดกันในแถบแคว้นมคธ
เรียกว่า มาคธภาสา ตามชื่อแคว้น
ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ได้ทรงใช้ภาษามคธประกาศพระพุทธศาสนา เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษามคธ
จึงได้รับเกียรติ และได้รับการยกย่องว่าเป็น "สัมพุทธโวหารภาสา"
(ภาษาอันเป็นโวหารของพระพุทธเจ้า)"อริยโวหารภาสา" (ภาษาอันเป็นโวหารของพระอริยะ)
"ยถาภุจจพรหมโวหารภาสา"(ภาษาบันทึกสภาวธรรม). นอกจากนี้
ยังมีคำเรียกเป็นเชิงยกย่องอีกคำหนึ่งคือ "ปาฬิภาสา" (ภาษาบาลี)
ซึ่งเป็นคำที่นักปราชญ์นิยมใช้กันมากในยุคต่อมา ปาฬิภาสาหรือภาษาบาลีนี้
มีความหมายว่า "ภาษาที่เป็นระเบียบแบบแผน" หรือ"ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์"
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำที่ใช้เจาะจงเรียกเฉพาะภาษามคธที่ใช้บันทึกพระพุทธพจน์พระไตรปิฎกเท่านั้น
ไม่เกี่ยวกับภาษามคธที่ใช้พูดกันทั่วๆ ไป ส่วนภาษามคธที่ใช้ในคัมภีร์อรรถกถา, ฎีกา
และคัมภีร์ปกรณ์อื่นๆ เช่นพงศาวดารเป็นต้น ก็พอจะอนุโลมเรียกว่า "ภาษาบาลี"
ได้ในฐานะที่เป็นคัมภีร์ อธิบายพระพุทธพจน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังนั้น ในปัจจุบัน
เมื่อเอ่ยถึง "ภาษาบาลี" จึงมักหมายรวมเอาทั้งภาษา บาลีที่ใช้ในพระไตรปิฎก,
อรรถกถา, ฎีกา และปกรณ์ภาษาบาลีอื่นๆ ทั้งหมด
อนึ่ง ภาษาบาลีหรือภาษามคธนี้ เดิมเป็นภาษาถิ่นที่ชาวมคธในอดีต
ใช้สื่อสารกันตามธรรมชาติ ไม่ใช่ภาษาที่นักปราชญ์ทางไวยากรณ์ผูกขึ้นมาใช้
จึงเป็นภาษาที่ประชาชนในชมพูทวีปในอดีตเข้าใจกันดี เพราะเป็นภาษาที่ไม่ซับซ้อน
ไม่เหมือนกับบางภาษา เช่น
ภาษาพระเวทหรือภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่นักปราชญ์ทางภาษา
กำหนดกฏเกณฑ์ขึ้นมาใช้เป็นกรณีพิเศษเพื่อใช้อธิบายพระเวท และศาสตร์เฉพาะบางศาสตร์
พระพุทธองค์ ทรงเป็นอัตถทัสสิมา (ผู้ทรงมีวิสัยทัศน์ไกล)
จึงทรงเลือกเอาภาษามคธหรือภาษาบาลี เป็นภาษาประจำพระพุทธศาสนา
เพื่อให้สามารถเผยแผ่คำสอนของพระองค์ไปได้ในชนชั้นทุกวรรณะ
ภาษาพระเวท เป็นเอกลักษณ์ประจำศาสนาพราหมณ์
ศาสนาพราหมณ์เกิดก่อนศาสนาพุทธ มีคัมภีร์ประจำศาสนา คือ คัมภีร์พระเวท
หรือที่นิยมเรียกว่า ไตรเพท ซึ่งประกอบด้วยยชุรเวท, สามเวท และฤคเวท
(เรียกในภาษาบาลีว่าอิรุเวท). สำหรับภาษาที่ใช้รจนาคัมภีร์พระเวทดังกล่าว เรียกว่า
"เวทภาสา" (สันสกฤตโบราณ) รจนาโดยฤาษี (อาจารย์) อัฏฐกะ, วามกะ และอังคีรสะ
เป็นต้น. ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์พระเวท เป็นภาษาเก่าแก่ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถเข้าใจ
จึงไม่นิยมใช้เป็นภาษาสำหรับสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ทรงห้ามแสดงธรรมเป็นภาษาพระเวท
สมัยพุทธกาล ภิกษุชื่อยเมฬะ
และภิกษุชื่อเกกุฬะ
ทูลขออนุญาตพระพุทธองค์เพื่อจะใช้ภาษาพระเวทในการแสดงธรรมหรือประกาศคำสอน
แต่พระพุทธองค์ ไม่ทรงอนุญาต
มิหนำซ้ำยังทรงคาดโทษไว้สำหรับลงโทษพระภิกษุผู้กระทำการดังกล่าว
ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้า
ทรงยอมรับเฉพาะภาษาบาลีเท่านั้นเป็นภาษาประจำพระพุทธศาสนา
ข้อนี้เป็นเหตุให้นักปราชญ์ยุคหลัง เช่น พระพุทธโฆสเถระ,พระมหานามเถระ
และพระอานันทเถระ พยายามยกย่องภาษาบาลีในฐานะที่เป็นปัจจัยให้ได้คุณวิเศษต่างๆ เช่น
ปฏิสัมภิทาญาณเป็นต้น
จะอย่างไรก็ตาม ยังมีภิกษุนิกายอื่นๆ นอกจากเถรวาท เช่น อุตตราปถนิกาย
(ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมหายานในปัจจุบัน)
ได้นำเอาภาษาพระเวทมาบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า
อันเป็นเหตุให้เกิดข้อแตกต่างจากนิกายเถรวาทมาตั้งแต่ยุคโบราณ
คัมภีร์ไวยากรณ์กับความเป็นสันสกฤต
ชาวอินเดียโบราณ
เชื่อว่า คัมภีร์พระเวทเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่ก่อนสร้างโลก
การสอนหรือการถ่ายทอดคัมภีร์พระเวทในสมัยโบราณนั้น
นิยมใช้วิธีท่องจำปากเปล่า(มุขปาฐะ[ปากต่อปากคือจากปากอาจารย์สู่ปากศิษย์])
เพื่อเป็นการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์ไว้ พราหมณ์ผู้เป็นครู
จึงได้วางกฏเกณฑ์การท่องจำ, การออกเสียง และการประกอบพิธีกรรม
รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งต่อมาได้มีการรวบรวมขึ้นเป็นกลุ่มวิชาคู่มือประกอบการเรียนพระเวท โดยให้ชื่อว่า
เวทงฺค หรือ เวทางค์ แปลว่า "ส่วนประกอบหรืออวัยวะมีแขนขาเป็นต้นของพระเวท"
มีทั้งหมด 6 สาขาวิชา คือ
- สิกฺขา (คัมภีร์ศึกษา) วิชาว่าด้วยวิธีการท่องจำพระเวท และวิชาว่าด้วยการออกเสียง
- เวยฺยากรณ (คัมภีร์ไวยากรณ์) วิชาว่าด้วยการวิเคราะห์คำและสร้างรูปคำ
- นิรุตฺติ (คัมภีร์นิรุกตะ) วิชาว่าด้วยการถอดรหัสความหมายของคำสำคัญๆ ในพระเวท
- กปฺป (คัมภีร์กัลปะ) วิชาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีประกอบพิธีกรรม
- โชติสตฺถ (คัมภีร์ชโยติษะ) วิชาว่าด้วยการศึกษาดาราศาสตร์ เพื่อให้สามารถเลือกเวลาอันเป็นมงคลในการบวงสรวงและประกอบพิธีกรรม
- ฉนฺท (คัมภีร์ฉันท์) วิชาว่าด้วยลักษณะคำประพันธ์ครุ ลหุ เสียงสูงต่ำ
ในบรรดาเวทางค์ทั้ง 6 สาขานั้น พึงทราบว่า
คัมภีร์ไวยากรณ์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า
ชาวอินเดียเป็นชนชาติแรกในโลกที่มีการศึกษาเรื่องไวยากรณ์อย่างละเอียด
จนทำให้เกิดเป็นวิชาภาษาศาสตร์ปัจจุบัน
อนึ่ง
ไวยากรณ์ที่เก่าแก่ที่สุดและได้รับความนับถือมากที่สุดที่ตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน
ได้แก่คัมภีร์ไวยากรณ์ปาณินิ หรืออัษฎาธยายี (ปกรณ์มีแปดอัธยายะหรือแปดกัณฑ์).
บางครั้ง ก็เรียกว่าปาณินียะ (คัมภีร์ของท่านปาณินิ)
คัมภีร์ปาณินิ รจนาโดยนักไวยากรณ์ชื่อปาณินิ ภายหลังพุทธปรินิพพานประมาณ
100 - 200 ปี (บางแห่ง บอกว่า ปาณินิ เกิดก่อนคริสตศักราช 700 ปี, บางแห่ง บอกว่า
ก่อนคริสตศักราช 544 ปี, บางแห่ง บอกว่า ก่อนคริสตศักราช 350 ปี)
คัมภีร์ปาณินิ เป็นคัมภีร์ไวยากรณ์ที่มีสูตรมากที่สุดคือประมาณ 4000 สูตร
โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดระเบียบแบบแผน มีกฏเกณฑ์เป็นมาตรฐาน.
นับแต่นั้นมาภาษาพระเวทที่ได้รับการจัดระเบียบกฏเกณฑ์ตามคัมภีร์ปาณินิ ก็ได้ชื่อว่า
สกฺกต (สันสกฤต) หมายถึง ภาษาที่รับการจัดให้เป็นระเบียบมีกฏเกณฑ์
ความจริง ไวยากรณ์สันสกฤตสมัยก่อนหน้าปาณินินั้น มีจำนวนไม่น้อย
ดังจะเห็นได้จากการที่ในตำราปาณินิ
ได้มีการอ้างชื่อนักไวยากรณ์สมัยก่อนหน้าท่านเป็นสิบชื่อ และ
กล่าวอ้างถึงชื่อคัมภีร์ไวยากรณ์ต่างๆ อีกหลายสิบคัมภีร์ แต่เป็นที่น่าเสียดาย
ที่ตำราไวยากรณ์ที่ท่านอ้างถึงนั้น ไม่มีตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน
นักปราชญ์ชาวตะวันตกในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ ถือว่า
ไวยากรณ์ที่เป็นเวทางค์สำหรับประกอบการศึกษาพระเวทนั้น ไม่ใช่ไวยากรณ์ปาณินิ
แต่ควรเป็นตำราไวยากรณ์รุ่นเก่าก่อนหน้าปาณินิ แต่สำหรับบัณฑิตและพราหมณ์ชาวอินเดีย
หากพูดถึงไวยากรณ์ในกลุ่มเวทางค์ ก็จะหมายถึงคัมภีร์ที่เป็นผลงานของปาณินิเท่านั้น
ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 4 ในรัชสมัยพระเจ้าสุงคราช
ได้มีคัมภีร์หรือศาสตร์ต่างๆ ที่เขียนขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต เช่น คัมภีร์มหาภาษยะ
(อธิบายสูตรปาณินิ),คัมภีร์มนุธรรมศาสตร์,
คัมภีร์เภสัชศาสตร์ชื่อจรกะและชื่อสุสสุตะ, คัมภีร์พงศาวดาร ชื่อมหาภารตะ
(รามเกียรติ์), คัมภีร์พจนานุกรมร้อยกรองชื่ออมรโกษะ,
คัมภีร์ประเภทปรัชญาชื่อวิเสสิกทัสสนะ, นยายทัสสนะ, โยคทัสสนะ, เวทานตทัสสนะ,
มีมังสาทัสสนะและคัมภีร์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ความเจริญก้าวหน้าของสันสกฤต ส่งผลกระทบต่อภาษาบาลีเป็นอย่างมาก
หากเราได้ศึกษาดูประวัติศาสตร์จากคัมภีร์มหาวงค์ จะเห็นได้ว่า
ชาวพุทธฝ่ายอุตตรนิกายได้ศึกษาพระไตรปิฎก, อรรถกถาด้วยภาษาสันสกฤตทั้งสิ้น
ยังดีที่มีพระพุทธโฆสเถระ และพระอรรถกถาจารย์อีกหลายท่าน
ได้มาช่วยกู้วิกฤตจนสามารถรักษาพระไตรปิฎก,
อรรถกถาให้คงอยู่ในรูปของภาษาบาลีจนตกทอดมาถึงปัจจุบัน
พระพุทธโฆสเถระ ได้พยายามรณรงค์ให้ชาวพุทธนิกายเถรวาท
ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาบาลี ถึงกับกล่าวออกมาด้วยความมั่นใจว่า "ภาษาบาลี
หรือภาษามคธเท่านั้น ที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ได้มาซึ่งนิรุตติปฏิสัมภิทา"
ภาษาบาลี เริ่มฉายแสงในโลกอีกครั้งหนึ่ง
ภายหลังจากยุคของพระพุทธโฆสเถระมีคัมภีร์ไวยากรณ์ภาษาบาลีอุบัติขึ้นหลายคัมภีร์
ซึ่งก่อนหน้านี้แม้จะมีคัมภีร์ไวยากรณ์นิรุตติปิฎกและมหานิรุตติซึ่งเชื่อว่าเป็นผลงานของพระอรหันต์มหาสาวกนามว่ามหากัจจายนะอยู่ก็ตาม
แต่คัมภีร์เหล่านั้น ก็ไม่ได้รับการเอ่ยถึงในคัมภีร์อรรถกถาของท่านพระพุทธโฆสะเลย
(แต่มีการกล่าวอ้างไว้ในคัมภีร์สัททนีติซึ่งแสดงให้เห็นว่าในยุคของ สัททนีติ
ยังมีคัมภีร์เหล่านี้อยู่)
ไวยากรณ์สันสกฤตกับบาลี
ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต
เป็นตระกูลภาษาเดียวกัน ดังนั้น จึงมีการสร้างคำและวิธีการใช้ที่คล้ายคลึงกัน
ผู้ที่รู้ภาษาสันสกฤต ย่อมเข้าใจหลักการภาษาบาลีได้โดยไม่ยากนัก
ก็หลักการแห่งไวยากรณ์ในภาษาบาลีนั้น
ได้รับอิทธิพลมาจากไวยากรณ์สันสกฤตเป็นส่วนใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวยากรณ์ภาษาบาลีในยุคหลังอรรถกถาของพระพุทธโฆสเถระ เช่น
คัมภีร์กัจจายนะ ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์ไวยากรณ์สันสกฤตชื่อกาตันตระ,
คัมภีร์โมคคัลลานะอาศัยคัมภีร์จานทรไวยากรณ์ ดังนี้เป็นต้น
ซึ่งต่างจากคัมภีร์ยุคก่อน เช่น นิรุตติปิฎก
และมหานิรุตติเป็นต้นที่มีแนวการเขียนที่
ไม่ได้อิงอาศัยสูตรของคัมภีร์สันสกฤตแต่อย่างใด
จะอย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาษาบาลีจะได้รับอิทธิพลทางกฏเกณฑ์จากสันสกฤต
แต่ก็ต้องเป็นกฏเกณฑ์ที่สามารถเข้าได้กับพระพุทธพจน์
ดังจะเห็นได้จากการที่พระอาจารย์กัจจายนะ ได้เขียนสูตรกัจจายนะไว้ว่า "ชินวจนยุตฺตํ
หิ" (ที่สอดคล้องกับพุทธพจน์) "ตทนุปโรเธน" (โดยไม่ขัดกับพระพุทธพจน์)
บางครั้ง ผู้รจนาไวยากรณ์ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสันสกฤตหรือบาลี
ก็มักจะแฝงทัศนคติของทางศาสนาที่ตนนับถือเข้ามาไว้ในวิธีการด้วย เช่น
ในไวยากรณ์สันสกฤต ได้แฝงไว้ด้วยวิธีการแห่งอัตตา
(สิ่งที่มีอยู่อย่างจีรังยั่งยืนไม่เปลี่ยนแปลง) ตัวอย่างเช่น
ในการตัดสนธิของศัพท์ว่า "ทุราขฺยาต" จะตัดบทว่า "ทุรฺ + อาขฺยาต"
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า "รฺ" อักษรเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแต่เดิมซึ่งเท่ากับสัสสตทิฐิ
ส่วนในไวยากรณ์ภาษาบาลี ได้แฝงไว้ด้วยวิธีการแห่งอนัตตา
(สภาวะที่มีการเกิดดับตามเหตุปัจจัย) เช่นในการตัดสนธิของศัพท์ว่า"ทุราขฺยาต"
ในภาษาบาลีจะตัดบทว่า "ทุ+อาขฺยาต" ซึ่งถือว่า "รฺ" อักษร
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ตามเงื่อนไขของเหตุปัจจัยบางอย่าง
ไวยากรณ์บาลี
คัมภีร์ไวยากรณ์บาลีที่เก่าแก่ที่สุด
น่าจะเป็นคัมภีร์นิรุตติปิฎกและมหานิรุตติซึ่งเป็นผลงานของพระมหาสาวกกัจจายนะสมัยพุทธกาล,
คัมภีร์จูฬนิรุตติปิฎกของพระยมกเถระ และคัมภีร์กัจจายนะของพระกัจจายนเถระ
ซึ่งคัมภีร์เหล่านี้ ไม่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบันอีกแล้ว
ยกเว้นคัมภีร์กัจจายนะเท่านั้นที่ยังคงความเป็นอมตะอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
ส่วนคัมภีร์ที่ปรากฏในยุคปัจจุบันล้วนเป็นคัมภีร์ยุคหลังทั้งสิ้น
ไวยากรณ์ภาษาบาลีที่มีสูตร
ไวยากรณ์ภาษาบาลีอาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ
- ประเภทที่มีสูตร (เรียกว่าไวยากรณ์ใหญ่)
- ประเภทที่ไม่มีสูตร (เรียกว่าไวยากรณ์น้อย)
ประเภทที่ไม่มีสูตร
ได้แก่คัมภีร์ไวยากรณ์ที่แต่งเก็บเนื้อหาสาระที่เป็นหลักการต่างๆ
ในเชิงนำเสนอเป็นความคิดรวบยอดเกี่ยวกับกฏไวยากรณ์
โดยส่วนมากมักจะเขียนเป็นคาถามีจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คัมภีร์
ที่เก่าแก่ที่สุดน่าจะเป็นคัมภีร์การิกาซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งสมัยพุกามตอนต้น
ส่วนคัมภีร์ประเภทที่มีสูตรกำกับนั้นมีไม่มาก
เท่าที่พบเห็นอยู่ถึงยุคปัจจุบัน มีทั้งหมด 4 คัมภีร์ คือ
- คัมภีร์กัจจายนะ ผู้รจนาชื่อกัจจายนะ ซึ่งมีประวัติไม่แน่นอน
บางมติเชื่อว่า เป็นพระอรหันตมหาสาวกชื่อกัจจายนะสมัยพุทธกาล, บางมติ เชื่อว่า
เป็นพระเถระรูปหนึ่งในยุคหลังที่มีชื่อพ้องกับพระมหาสาวกกัจจายนะ
ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งชาวอินเดียหรือไม่ก็ชาวลังกาในราวพุทธศตวรรษที่ 8 หรือที่ 9
คัมภีร์กัจจายนะ รจนาโดยอิงอาศัยคัมภีร์ไวยากรณ์สันสกฤตชื่อกาตันตระ
และไวยากรณ์สันสกฤตอื่นๆ ประกอบด้วยสูตรประมาณ 672 สูตร
(นี้เป็นจำนวนที่นับตามเนื้อหาของคาถาที่โบราณาจารย์ผูกไว้ ส่วนในคัมภีร์นฺยาส
(กจฺจยานวณฺณนา/มุขมตฺตทีปนี/ญาส) ระบุว่า สูตรในคัมภีร์กัจจายนะมีทั้งหมด 710
สูตร)
- คัมภีร์โมคคัลลานะ ผู้รจนาชื่อโมคคัลลานะ เป็นพระเถระชาวลังกา
มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ 1 (พ.ศ. 1696 - 1729)
คัมภีร์นี้อิงอาศัยคัมภีร์ไวยากรณ์สันสกฤตชื่อจานทระเป็นหลักรวมทั้งไวยากรณ์สันสกฤตอื่นๆ
อีกด้วย มีสูตรทั้งหมด 808 สูตร (ไม่นับรวมณฺวาทิโมคคัลลานสูตร 229 สูตร)
- คัมภีร์สัททนีติ ผู้รจนาชื่อพระอัคควังสะ เป็นพระเถระชาวพุกาม
มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าจะสวา (พ.ศ. 1777 - 1793) คัมภีร์นี้
อิงอาศัยไวยากรณ์สันสกฤตหลายคัมภีร์ เช่น ปาณินิ, สิทธานตเกามุที, กาตันตระ
ตลอดถึงตรรกศาสตร์บางคัมภีร์ มีสูตรทั้งหมด 1347 สูตร
- สัททสังคหะ ตามประวัติที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อหนังสือระบุว่า ผู้รจนาเป็นราชบัณฑิตพม่าชื่ออูโบหล่ายหรือที่รู้จักกันในนาม "ยอเมงจี" คัมภีร์นี้ อิงอาศัยไวยากรณ์สันสกฤตหลายต่อหลายคัมภีร์เช่นกัน เป็นคัมภีร์ที่ยังไม่เคยได้รับการตรวจ ชำระ จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือในที่ไหนมาก่อน คาดว่าน่าจะยังคงอยู่ในรูปใบลานในประเทศพม่าแห่งใดแห่งหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่อาจทราบได้ว่าคัมภีร์นี้ประกอบด้วยสูตรจำนวนเท่าใด