ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

คัมภีร์หลักบาลีมหาไวยากรณ์

บทนำ
ความเป็นมาพอสังเขป
ประวัติเกี่ยวกับผู้รจนา
รูปแบบและวิธีการรจนาคัมภีร์สัททนีติ
สาระสำคัญในสัททนีติ ปทมาลา
ส่วนที่เป็นเนื้อหาย่อย
เนื้อหาสาระโดยสังเขป

รูปแบบและวิธีการรจนาคัมภีร์สัททนีติ

ท่านผู้รจนาได้ยึดหลักการใช้ภาษาในพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นหลักดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ท่านนำมาประกอบกับคำอธิบาย ในที่นั้นๆ อีกทั้งยังได้นำเอามติของอาจารย์ต่างๆ มาเพิ่มเติมตามความเหมาะสม

คัมภีร์สัททนีติ 3 ภาค

คัมภีร์สัททนีติ แบ่งเป็น 3 ภาค คือ

  1. ปทมาลา ว่าด้วยเรื่องของบทต่างๆ
  2. ธาตุมาลา ว่าด้วยเรื่องของธาตุต่างๆ
  3. สุตตมาลา ว่าด้วยสูตรการประกอบรูปศัพท์ต่างๆ

การจัดแบ่งเป็น 3 ภาคนี้ น่าจะเป็นการเดินตามแนวการจัดแบ่งในคัมภีร์ไวยากรณ์สันสกฤตชื่อปาณินิ ดังจะเห็นได้จากการที่ในคัมภีร์ปาณินิได้มีการจัดแบ่งเนื้อหาไว้ 5 ภาคนั้น ก็มีเรื่องของสูตร เรียกว่า สุตตปาฐะ (สุตตมาลา), เรื่องของธาตุ เรียกว่า ธาตุปาฐะ(ธาตุมาลา) และเรื่องของบท เรียกว่า คณปาฐะ (ปทมาลา) ประกอบอยู่ด้วย

การอ้างอิงสันสกฤต

อนึ่ง เกี่ยวกับการอ้างไวยากรณ์สันสกฤตนั้น มีอยู่ประปรายทั้ง 3 ภาค เช่น

  • ในสุตตมาลา มีการอ้างข้อความของท่านอาจารย์ปตัญชลี ที่ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์มหาภาษยะ (มหาภาสฺส) ตอนที่อธิบายสูตรว่า โย ธาโร ตโมกาสํ ดังนี้เป็นต้น
  • ในธาตุมาลา ได้มีการอ้างถึงโวหารที่มาในคัมภีร์ปาณินิยธาตุปาฐะ ตลอดถึงได้อ้างจากคัมภีร์จานทรธาตุปาฐะด้วย นอกจากนี้ ยังมีหลายแห่งที่ได้ยกเอาคำโวหารที่มีใช้ในคัมภีร์พจนานุกรมสันสกฤตชื่ออมรโกษ

สำหรับในปทมาลานี้ ในปริจเฉทที่ 3 ได้มีการแสดงประเภทของวิภัตติอาขยาตไว้ 10 หมวดตามแนวของคัมภีร์กาตันตระ. ในปริจเฉท 10 อ้างคัมภีร์เอกักขรโกษะและฎีกาของคัมภีร์วิทัคธมุขมัณฑนะ. ในปริจเฉทที่ 20 อ้างคัมภีร์กาพยาทาสะ

อย่างไรก็ตาม การอ้างสันสกฤตนี้ เป็นเพียงการอ้างเฉพาะที่ท่านเห็นว่าสอดคล้องสามารถนำมาใช้กับพระพุทธพจน์ได้เท่านั้น มิใช่เป็นการอ้างโดยพร่ำเพรื่อ บางครั้งตัวท่านเองยังต้องคอยเตือนสติไม่ให้นักบาลีทั้งหลายยึดแนวทางของสันสกฤตจนลืมคำนึงถึงหลักการแห่งพระบาลี

สำหรับผู้ที่มีโอกาสศึกษาคัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายนะ หรือคัมภีร์ปทรูปสิทธิแล้วหากมีโอกาสได้ศึกษาคัมภีร์สัททนีติต่อ ก็จะทำให้ผู้นั้นมีความรอบรู้เรื่องไวยากรณ์มากมายมหาศาลอย่างแน่นอน ดังที่ท่านผู้รจนา ได้แสดงประโยชน์ของการเรียนคัมภีร์สัททนีติไว้ในอุยโยชนคาถาว่า

เย ธีรา สทฺทนีติปฺปกรณปสุตา, นิจฺจกาลํ ภเวยฺยุ
เต สาเร ปาฬิธมฺเม, นิปุณนยสุเภ, อตฺถสารํ ลเภยฺยุ.
เต ลทฺธานตฺถสารํ, สุคตมตวเร, สุปฺปติฏฺเฐ สุขานํ
อจฺฉมฺภี สีหวุตฺตี, ปรมมวิตถํ, สีหนาทํ นเทยฺยํ.

บัณฑิตเหล่าใด พยายามตั้งใจศึกษาคัมภีร์สัททนีติอยู่
เป็นประจำ, บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมเข้าใจอัตถสาระใน
พระพุทธพจน์อันเป็นสาระ อันงดงามด้วยนัยอันลุ่มลึก,
ครั้นเข้าใจอัตถสาระในพระพุทธพจน์อันเป็นบ่อเกิด
แห่งความสุขก็จะไม่ครั่นคร้าม สามารถแสดงธรรมอัน
ประเสริฐได้อย่างถูกต้อง ดุจราชสีห์บันลือสีหนาท ฉะนั้น.

กล่าวได้ว่า ท่านอัคควังสเถระ ปราชญ์แห่งพุกาม (พ.ศ. 1697) คือผู้เขียนงานวิชาการด้านภาษาบาลีคนแรกที่ถึงพร้อมด้วยสัตติและพยัตติ (ความสามารถและความกล้าในการแสดงออก). ท่านกล้าเขียนวิจารณ์มติของ

นักปราชญ์โบราณ อาทิ เช่น อาจารย์กัจจายนะ (ผู้รจนาคัมภีร์กัจจายนไวยากรณ์) อาจารย์พุทธัปปิย (ผู้รจนาคัมภีร์ปทรูปสิทธิ)กล้าที่จะชี้ถูกชี้ผิดต่อมติของผู้เขียนอื่นๆ ที่ท่านเห็นว่า เขียนไว้ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับพระบาลีในพระไตรปิฎก ในขณะเดียวกัน ท่านก็มักจะยกย่องข้อเขียนที่ให้ความสำคัญต่อพระไตรปิฎก ไม่ว่าข้อเขียนนั้น จะเป็นของท่านผู้ใดก็ตาม

ผลงานของคัมภีร์สัททนีติ ทั้ง 3 ภาคของท่านนี้ คือ วิทยานิพนธ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิทยานิพนธ์ภาคภาษาบาลีที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งยังไม่มีผู้ใดทำได้แม้กระทั่งปัจจุบัน นับว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกที่ท่านผู้รจนาได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างใหญ่หลวง จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้ปรากฏในบวรพระพุทธศาสนา ดังที่ท่านได้เขียนพรรณนาไว้ในสัททนีติ สุตตมาลา สูตร 647 ว่า

"ความพยายามอย่างยิ่งใหญ่ที่ข้าพเจ้า ได้กระทำไว้ในคัมภีร์นี้ ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่พระศาสนาโดยแท้"
ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า หากเราได้ศึกษาเนื้อหาของคัมภีร์สัททนีติครบทั้ง 3 ภาคโดยละเอียด จะสามารถมองเห็นถึงความมหัศจรรย์แห่งอภิมหาวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดในบรรดาไวยากรณ์ทั้งหลายที่มีอยู่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย