ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

พุทธศาสนากำจัดทุกข์ในสังสารวัฏ

ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย       พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจากการบำเพ็ญเพียรของเจ้าชายสิทธัตถะ จนกระทั่งบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้รับการขนานนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นจึงเผยแผ่คำสอนของพระองค์ ต่อมาเรียกกันว่าพระพุทธศาสนา ตลอดระยะเวลากว่าสองพันปี แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใดก็ตาม แต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงมีสาวกที่เชื่อมั่นในหลักคำสอน ยึดถือและปฏิบัติตาม เพื่อทำที่สุดทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ให้สิ้นไป พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่สอนเรื่องการสิ้นทุกข์ในวัฏฏะเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนโดยแท้ แต่วิธีการกำจัดทุกข์นั้นมิได้เสนอไว้แบบเดียวแต่ได้แสดงไว้หลายแห่งในพระไตรปิฎก ดังนั้นจึงได้รวบรวมวิธีการดับทุกข์มาให้ศึกษาพอเป็นแนวทางสำหรับผู้ต้องการค้นคว้าต่อไป ผู้ที่สนใจบทใดก็สามารถเปิดอ่านจากพระไตรปิฎกที่อ้างอิงไว้เช่น (สํ.นิ.16/421/177.) หมายถึงสังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่มที่ 16 ข้อ 421 หน้า 177 เป็นต้น พระไตรปิฎกมีหลายฉบับ เล่มและข้อจะตรงกันเสมอ แต่หน้าอาจจะไม่ตรงกันคำว่า “วัฏฏะหรือไตรวัฏฏ์” หมายถึงวน วงเวียน องค์ประกอบที่หมุนเวียนต่อเนื่องกันของภวจักรหรือสังสารจักรประกอบด้วย กิเลสวัฏฏ์วงจรคือกิเลส ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมวัฏฏ์ วงจรกรรมประกอบด้วยสังขารและกรรมภพ วิปากวัฏฏ์วงจรวิบาก ประกอบด้วยวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งแสดงออกในรูปปรากฏที่เรียกว่าอุปปัตติภพ ชาติ ชรา มรณะ ทั้งสามอย่างนี้ประกอบเข้าเป็นวงจรใหญ่แห่งปัจจยาการเรียกว่าภวจักรหรือสังสารจักรตามหลักปฏิจจสมุปบาท (พระพรหมคุณาภรณ์,พจนานุกรมพุทธศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 13,กรุงเทพฯ:เอส.อาร.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์,2548,หน้า 104.)

สังสารวัฏนั้นไม่มีเบื้องต้นและที่สุดดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในติณกัฏฐสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้นมีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ (สํ.นิ.16/421/177.)

คำว่า “สังสารวัฏ” แปลว่าความท่องเที่ยวไปในอาการที่เป็นวัฏฏะ การหมุนวนอยู่ในสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฏสงสาร ดังหรือสงสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ของสัตว์โลกด้วยอำนาจกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบากไม่ได้ กิเลส กรรม วิบากนั้นปรากฎอยู่ในปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่ลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆได้พิจารณาทั้งอนุโลมและปฏิโลมว่าสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิ์พฤกษ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิ์พฤกษ์ตลอด 7 วัน และทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลมและปฏิโลม ตลอดปฐมยามแห่งราตรีว่า ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปายาสเป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้

จากนั้นจึงได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาทปฏิโลมว่าอนึ่งเพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับเป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับด้วยประการฉะนี้(วิ.มหา 4/1/1.)

       ในปฏิจจสมุปบาทได้จำแนกเป็นวัฏฏะ 3 ประการคือกิเลส กรรม วิบาก ซึ่งหมายความว่ากิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรม กิเลสจึงเป็นเหตุ กรรมจึงเป็นผลของกิเลส และกรรมนั้นเอง ก็เป็นตัวเหตุ ให้เกิดวิบากคือผล กรรมจึงเป็นเหตุ วิบากจึงเป็นผล และวิบากนั้นเอง ก็เป็นตัวเหตุ ก่อกิเลสขึ้นอีก เมื่อเป็นดังนี้ วิบากนั้นก็เป็นเหตุ กิเลสก็เป็นผลของวิบาก เพราะฉะนั้นกิเลส กรรม วิบาก จึงวนอยู่ดั่งนี้ ก็โดยที่บุคคลนี้เอง หรือจิตนี้เองที่วนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก แล้วก็กลับเป็นเหตุก่อกิเลส กรรม วิบากขึ้นอีกสัตว์และบุคคลจึงวนเวียนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก ทั้งสามนี้ เป็น วัฏฏะ กิเลส(แปลว่าสิ่งเกาะติด) และตัณหา(หมายถึงความติดใจอยาก) เป็นสิ่งที่แฝงติดอยู่ในใจ แล้วทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัว ตัณหาเป็นต้นเหตุทำให้เกิดทุกข์ เมื่อดับตัณหาเสียได้ ก็เป็นอันว่าหักวัฏฏะดังกล่าวได้ ดับกิเลส ดับทุกข์ทางจิตใจในปัจจุบัน และเมื่อดับขันธ์ในที่สุด ไม่เกิดอีก ดับรอบสิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง

กิเลส
กรรม
วิบาก
การดับทุกข์ในสังสารวัฏฏ์
วิธีการแห่งการตรัสรู้ท่านแสดงไว้ในเจตนาสูตร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย