ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

พุทธศาสนากำจัดทุกข์ในสังสารวัฏ

กิเลส
กรรม
วิบาก
การดับทุกข์ในสังสารวัฏฏ์
วิธีการแห่งการตรัสรู้ท่านแสดงไว้ในเจตนาสูตร

กิเลส

     กิเลสในวงจรแห่งปฏิจสมุปบาทคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ในส่วนของอวิชชาท่านแสดงไว้ในวิภังคสูตร สังยุตตนิกาย นิทานวรรคว่า ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ ความไม่รู้ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์นี้เรียกว่าอวิชชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ดังพรรณนามาฉะนี้ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึง ดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้(สํ. นิ.16/17/4.)

ความหมายของอวิชาท่านแสดงไว้ในอวิชชาสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคว่า “ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่รู้ชัดซึ่งรูป ไม่รู้ชัด ซึ่งเหตุเกิดแห่งรูป ไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งรูป ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป ไม่รู้ชัดซึ่งเวทนา ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งสัญญา ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งสังขาร ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งวิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดวิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งความดับวิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับวิญญาณ ดูกรภิกษุนี้เรียกว่าอวิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชาด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล (สํ. ข.17/300/156.) เมื่อวิชชาเกิดขึ้นอวิชชาก็หมดไปดังที่พระสารีบุตรตอบพระมหาโกฏฐิตะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษและอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ... แห่งสัญญา ... แห่งสังขาร ... แห่งวิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้เรียกว่า วิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล (สํ. ข.17/325/167.) เมื่อวงจรกิเลสแรกคืออวิชชาดับไปทุกข์ก็สิ้นไป วงจรอื่นก็หมดไปด้วยดังที่ปรากฏในธัมมจักกัปวัตตนสูตรว่าปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุดภพใหม่ไม่มีต่อไป (ที.มหา. 4/16/18.)

สิ่งที่จัดเป็นกิเลสที่ต้องละอีกอย่างหนึ่งในปฏิจจสุมปบาทคือตัณหาและอุปาทานท่านแสดงไว้ว่า ตัณหาคือรูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหานี้เรียกว่าตัณหา (สํ. นิ.16/10/3.) อุปาทานก็อุปาทานเป็นไฉน อุปาทาน 4 เหล่านี้คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทาน (สํ. นิ.16/9/3.)อีกอย่างหนึ่งในอุปาทานสูตรท่านได้แสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานและอุปาทาน เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานเป็นไฉน อุปาทานเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชื่อว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นชื่อว่า อุปาทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทาน (สํ. ข.17/309/160.)โดยสรุปกิเลสคือสภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมองในทสกนิเทศ อภิธัม วิภังค์ปกรณ์ แสดงไว้ 10 ประการดังนี้คือโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะอโนตตัปปะเหล่านี้เรียกว่ากิเลสวัตถุ (อภิ.วิ.35/1026/481.)

วิธีกำจัดกิเลสทั้งสิบประการนั้นทำตามลำดับขั้นแห่งมรรคและผลทั้งสี่ประการดังนี้ ปัญญาในโสดาปัตติมรรค ปัญญาในโสดาปัตติผล ปัญญาในสกทาคามิมรรค ปัญญาในสกทาคามิผล ปัญญาในอนาคามิมรรค ปัญญาในอนาคามิผลปัญญาในอรหัตตมรรค ปัญญาในอรหัตตผลอภิ.วิ.35/837/408.)

กิเลสนี้หากจำแนกตามอาการแล้วจะมีสามลำดับคือ
(1) กิเลสอย่างหยาบเรียกว่าวีติกมกิเลส เป็นกิเลสที่แสดงออกทางกายและวาจา
(2) กิเลสอย่างกลาง เรียกว่าปริยุฏฐานกิเลสเป็นกิเลสอย่างกลางที่คุกรุ่นอยู่ภายในใจ
(3) กิเลสอย่างละเอียด เรียกว่าอนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานไม่ฟูขึ้นในใจอนุสัยกิเลสเป็นธรรมชาติที่ละเอียดซ่อนเร้นอยู่เป็นประจำในขันธสันดานของบุคคล ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏทางทวารใดเลย ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารใดทวารหนึ่ง อนุสัยกิเลสที่นอนนิ่งอยู่นั้นก็จะแปรสภาพเป็น ปริยุฏฐานกิเลส เกิดขึ้นทางใจ เกิดความยินดี ยินร้ายต่ออารมณ์ที่ประสบนั้น และถ้าปริยุฏฐานกิเลสนั้นมีกำลังมากขึ้น ก็จะแปรสภาพเป็น วีติกกมกิเลส เกิดเป็นกิเลสอย่างหยาบ ปรากฏขึ้นเป็นกรรมที่แสดงออกทางกาย และวาจากลายเป็นวงจรที่สองคือกรรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย