วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา

ชีววิทยาของไรน้ำนางฟ้า

ประวัติการค้นพบ
ชนิดและการแพร่กระจายในประเทศไทย
ความสำคัญและประโยชน์
การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า
การส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ

การส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ

1.แหล่งผลิต
เนื่องจากไรน้ำนางฟ้าเพิ่งมีผู้รู้จักไม่มาก และอยู่ในขั้นพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้นเพื่อเป็นการรองรับธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ ฉะนั้นแหล่งผลิตที่จัดจำหน่ายเป็นทางการและอยู่ในราคาที่เหมาะสมนั้นมีที่ ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังมีฟาร์มเอกชนบางแห่งจำหน่ายด้วยแต่มีราคาค่อนข้างสูงเกินความเป็นจริงอยู่มาก ดังนั้นหากมีผู้ใดสนใจก็ติดต่อไปที่ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธาน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือที่วิทยาเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรีได้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการฝึกอบรมผ่านไปแล้วถึง 4 รุ่น และผู้ฝึกอบรมก็ได้นำไปขยายผลเป็นอย่างดี และได้มีการจัดพิมพ์หนังสือการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าออกจำหน่ายเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาอีกด้วย

2.แหล่งตลาด
ได้มีเกษตรกรที่ได้ผ่านการอบรมแล้วนำไปขยายผลเป็นอย่างดี ทำให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่วงการการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามโดยมีจำหน่ายในตลาดปลาสวยงามที่สวนจตุจักรและมีการขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตแล้ว

* ส่วนแนวโน้มการส่งออกมีโอกาสเป็นไปได้มาก เพราะอาหารสดสำหรับปลาสวยงามที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ดังนั้นไรน้ำนางฟ้าจึงมีคุณสมบัติที่ดีในทุกด้านจึงเป็นที่ต้องการของตลาด

ถึงแม้ว่าการวิจัยที่ผ่านมาจะได้ผลดี แต่ยังไม่พร้อมที่จะออกสู่ตลาดอย่างเต็มที่มากนัก เพราะต้องการที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์ทั้งในด้านการหาทางที่จะบรรจุไข่ให้สะอาด การหาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมและศึกษาระบบการเก็บรักษาไข่ให้สมบูรณ์ดีก่อนที่จะเผยแพร่ให้กว้างขวางกว่านี้ แต่คงอีกไม่นานนักหากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นชื่อของไรน้ำนางฟ้าในวงการอาหารสัตว์น้ำแทนอาร์ทีเมียและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล



     หลังจากที่มีการค้นพบไรน้ำนางฟ้าชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิดในประเทศไทยนั้น และทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถเพาะเลี้ยงได้แล้วในห้องปฏิบัติการและพบว่า ไรน้ำนางฟ้าไทยมีศักยภาพที่จะทำการเพาะเลี้ยงเป็นการค้าได้ดีที่สุด และเมื่อนำไรน้ำนางฟ้าไทยไปวิเคราะห์หาคุณค่าทางอาหารพบว่ามีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 69.3 และยังเลี้ยงง่าย โตเร็ว ไม่ยุ่งยากในการดูแล ต้นทุนสำหรับการเตรียมบ่อในการเพาะเลี้ยงเป็นการค้าไม่สูงนัก และสามารถเลี้ยงเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว จึงเหมาะที่จะนำตัวเต็มวัยของไรน้ำนางฟ้าไทยที่ได้ปริมาณมากมาแช่แข็งส่งไปขายเป็นอาหารสำหรับกุ้งกุลาดำ หรือใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มได้ ฉะนั้นไรน้ำนางฟ้าจึงเป็นสัตว์ที่หน้าสนใจต่อการทำธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและเหมาะที่จะได้รับการส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในอนาคตต่อไป

ถ้าหากจะเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม อาหารที่ใช้เลี้ยงควรจะเป็นรำ หรือเศษอาหารเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่หาได้ง่าย ต้นทุนถูก และสะดวกในการใช้งานกว่าการเลี้ยงด้วยน้ำเขียว ซึ่งต้องใช้พื้นที่มาก

ไรน้ำนางฟ้าเป็นสัตว์ที่น่าสนใจ เลี้ยงง่าย ลงทุนไม่มาก หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากกว่านี้และต่อเนื่อง จะทำให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยลดปัญหาการขาดดุลจากการนำเข้าไข่อาร์ทีเมียได้อีกด้วย และควรเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิต บรรจุภัณฑ์ให้ทันต่อความต้องการของตลาด และสนับสนุนแหล่งตลาดให้กว้างมากยิ่งขึ้น เอกสารอ้างอิง

  • ละออศรี เสนาะเมือง และนุกูล แสงพันธุ์. 2547. การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า. ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์. หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา ขอนแก่น.
  • ละออศรี เสนาะเมือง. 2549. ไรน้ำนางฟ้าเพื่อคุณภาพชีวิต. วารสารการประมง 59(1) :59-66.
  • นุกูล แสงพันธุ์. 2548. ไรน้ำนางฟ้า สัตว์เศรษฐกิจแห่งอนาคต. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วันที่ 5 ตุลาคม 2548.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย