วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา
ชีววิทยาของไรน้ำนางฟ้า
การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า
การเริ่มต้นเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า
อาจเริ่มจากการนำตัวไรน้ำนางฟ้าขนาดเล็กหรือตัวเต็มวัยมาเลี้ยงจนกระทั่งมีการวางไข่
จากนั้นจึงเก็บรวบรวมไข่เพื่อใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงในครั้งต่อๆไป
หรือจะเริ่มจาการนำไข่ไรน้ำนางฟ้ามาฟักเพื่อให้ได้ไรน้ำตัวอ่อน (Naupill)
และนำไปเลี้ยงจนได้ผลผลิตทั้งที่เป็นไข่และตัวไรน้ำนางฟ้า รายละเอียดมีดังนี้
1.การฟักไข่ไรน้ำนางฟ้า
ไข่ที่จะนำมาฟักนั้นต้องมีคุณภาพที่ดีเหมาะที่จะนำไปฟัก เช่น
เป็นไข่ที่มีตัวอ่อนภายในไข่พัฒนาถึงขั้นพร้อมที่จะฟักออกมาเป็นไรน้ำวัยอ่อน
และควรจัดเก็บไว้ในที่ที่ไม่ทำให้ไข่ถูกทำลายหรือลดปริมาณการฟักลง เช่น ในที่ชื้น
ที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรือถูกแดดส่องเป็นเวลานานๆ
หากไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้ควรนำไข่บางส่วนไปทดลองฟักเพื่อทดสอบหาปริมาณการฟัก เช่น
นำไข่ 100 ฟอง ใส่ในภาชนะโปร่งใสที่เติมน้ำ 50-100 ซีซี นาน 18-24 ชั่งโมง ทำ2-3
ซ้ำ แล้วตรวจนับหาค่าเฉลี่ยของการฟัก โดยส่องดูกับแดดหรือใช้ไฟส่อง
ไรน้ำวัยอ่อนที่เพิ่งฟักจะสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าเพราะตัวที่เพิ่งฟักมีอาหารสะสม
(yolk) ไข่ที่มีคุณภาพที่ดีควรมรอัตราการฟักไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70-75
วัสดุอุปกรณ์การฟักไข่ไรน้ำนางฟ้า
- น้ำ
น้ำที่นำมาใช้หากเป็นน้ำประปาควรพักไว้อย่างน้อย 24 ชั่งโมง เพื่อให้คลอรีนในน้ำประปาระเหยออกหมด (ระหว่างพักถ้าให้ฟองอากาศด้วยจะช่วยให้คลอรีนระเหยเร็วขึ้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนในน้ำด้วย) ถ้าเป็นน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติควรกรองด้วยผ้ากรองขนาดตาไม่เกิน 60 ไมโครเมตรเพื่อป้องกันไข่และตัวอ่อนของศัตรู และสัตว์ชนิดอื่นเข้ามาแย่งอาหารระหว่างการเพาะเลี้ยง
คุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไป
-พีเอช (pH) 6.5-9.0
-ออกซิเจนละลายน้ำ (DO) มากกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร
-ความกระด้างของน้ำ (hardness) มากกว่า 20 มิลลิกรัมต่อลิตร
-ความเป็นด่าง (alkalinity) มากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร
-อุณหภูมิน้ำ 25.0-32.0 องศาเซลเซียส
ปริมาตรน้ำที่ใช้ฟักไข่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะต้องใช้น้ำในอัตราส่วนเท่าใด แต่มีข้อพิจารณาง่ายๆว่า เมื่อใส่น้ำลงในภาชนะที่ใช้ฟักไข่ต้องไม่ทับกันจนหนาแน่นระดับน้ำที่เติมลงในภาชนะฟักควรจะสูงไม่น้อยกว่า 5-10 เซนติเมตร - ภาชนะสำหรับฟักไข่
การฟักไข่ไรน้ำนางฟ้าสามารถทำได้ทั้งในภาชนะขนาดเล็ก (5-20 ลิตร) หรือฟักในบ่อเลี้ยงโดยตรง ควรเป็นภาชนะทึบแสงเพื่อการแยกไรน้ำวัยอ่อนออกจากภาชนะสามารถทำได้ง่าย - ผ้ากรอง
เนื่องจากไข่ของไรน้ำนางฟ้ามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 240-310 ไมโครเมตร ไรน้ำวัยอ่อนที่เพิ่งฟักและมีอายุไม่เกิน 24 ชั่วโมง จะมีความยาวของลำตัวระหว่าง 440-740 ไมโครเมตร และความกว้างของลำตัว (ไม่รวมรยางค์)ระหว่าง 180-240 ไมโครเมตร ฉะนั้นควรเลือกผ้ากรองให้มีขนาดที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ ผ้าที่ใช้สำหรับกรองไข่หรือตัวไรน้ำที่เพิ่งฟักควรมีขนาดตาประมาณ 150 ไมโครเมตร
2.วิธีการฟักไข่
ไข่ที่มีตะกอนจับเป็นก้อนควรแยกไข่ออกจากตะกอนหรือทำให้ตะกอนมีขนาดเล็กลงจนไข่สัมผัสได้กับน้ำโดยตรงมิฉะนั้นไข่ที่อยู่ด้านในและไข่ที่ไม่ได้สัมผัสกับน้ำจะฟักช้ากว่าปกติหรือไม่ฟัก
การฟักควรทำในช่วงเวลาบ่ายเพื่อว่าจะสามารถแยกไรน้ำวัยอ่อนและเริ่มให้อาหารในช่วงสายของวันรุ่งขึ้นได้
การให้อาหารช้า (นานเกินกว่า 10-12 ชั่วโมงหลังการฟัก)
จะทำให้ไรน้ำวัยอ่อนขาดอาหารอาจทำให้ตายได้
อย่างไรก็ตามควรสังเกตด้วยว่าไข่ทีนำมาฟักนั้นเริ่มต้นและสิ้นสุดการฟักเมื่อใด
เพื่อที่จะสามารถกะระยะเวลาการเริ่มให้อาหารและการแยกไรน้ำวัยอ่อนได้อย่างเหมาะสม
และควรป้องกันไม่ให้ยุงเข้ามาวางไข่ระหว่างการฟักไข่หรือแม้แต่ระหว่างที่เลี้ยงไรน้ำนางฟ้าด้วย
3.วิธีการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า
การเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าโดยมีเป้าหมายที่การผลิตไรน้ำนางฟ้าตัวเต็มวัยเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์น้ำหรือประโยชน์อย่างอื่น
สามารถเลือกวิธีการเลี้ยงได้หลายวิธีตามละดับตามความหนาแน่นที่ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ
เช่น เลี้ยงที่ระดับความหนาแน่นไม่เกิน 5 ตัวต่อลิตร
เกือบไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำตลอดการเลี้ยงเพียงแต่เติมอาหารให้กินทุกวันเท่านั้น
- ความหนาแน่น 10-15 ตัวต่อลิตร จะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำวันละ 10-20% และให้ฟองอากาศเพิ่ม
- ความหนาแน่นมากกว่า 30 ตัวต่อลิตร ต้องเลี้ยงในระบบที่มีน้ำไหลผ่านตลอดการเลี้ยง
บ่อเลี้ยง
ควรสร้างด้วยวัสดุทึบแสงและไม่ควรฉาบด้วยวัสดุสะท้อนแสง
เนื่องจากการว่ายน้ำของไรน้ำนางฟ้าจะหันด้านท้องเข้าหาแสง
ในกรณีที่มีแสงสะท้อนหรือแสงเข้ามาจากด้านข้างของบ่อจะทำให้ไรน้ำนางฟ้าหลงทิศทางการว่ายน้ำซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของไรน้ำนางฟ้า
รูปทรงของบ่อที่เหมาะสมสำหรับเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าควรเป็นบ่อที่ทำให้น้ำมีการไหลเวียนได้อย่างทั่วถึง
โดยทั่วไปเป็นบ่อรูปไข่หรือวงกลมขนาดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้เลี้ยง
ความสูงของบ่อเลือกได้ตั้งแต่ 50-120 เซนติเมตร
ขึ้นอยู่กับปริมาณแสงและระบบการเติมอากาศ
การเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าในบ่อทีมีระดับน้ำตื้นควรมีการพลางแสงเพื่อไม่ให้มีแสงส่องลงบ่อมากเกินไปจะทำให้ไรน้ำเครียด
และมีสีซีดกว่าผกติแต่ก็ไม่ควรปิดจนทึบ
ระบบหมุนเวียนน้ำและอากาศภายในบ่อ
วิธีที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไปมักใช้หัวทรายวางกระจายให้ทั่วพื้นบ่อแต่มักมีปัญหาเรื่องการอุดตันและต้องปรับปริมาณอากาศอยู่เสมอ
จึงต้องหมั่นทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคอยู่เสมอ
อีวิธีหนึ่งคือการใช้ระบบหมุนเวียนน้ำแบบแอร์-วอเตอร์ลิฟท์ (AWL)
ช่วยให้การหมุนเวียนของน้ำและอากาศเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์
ขณะที่ไรน้ำนางฟ้ามีขนาดเล็กควรลดปริมาณลมลงให้เบาที่สุด
แล้วจึงค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นตามขนาดของไรน้ำ
แต่ระวังอย่าให้ลมแรงจนเกินไปและตรวจสอบไม่ให้ปริมาณออกซิเจนต่ำกว่า 3
มิลลิกรัมต่อลิตร
อาหาร
ไรน้ำนางฟ้ากินอาหารด้วยวิธีการกรอง
โดยกรองกินอนุภาคทุกประเภทที่แขวงลอยอยู่ในน้ำทั้งที่เป็นอินทรีย์สาร
และอนินทรีย์สารที่มีขนาดเหมาะสมที่จะส่งผ่านจากปากลงสู่ลำคอได้
มีอาหารหลายประเภทที่สามารถนำมาเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าได้ เช่น สาหร่ายสีเขียว
รำ(ข้าว ข้าวโพด) ยีสต์ แบคทีเรีย สาหร่ายแห้ง เป็นต้น
แต่พบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีเมื่อด้วยคลอเรลลาหรือใช้รำ
หรือรำร่วมกับสาหร่ายสไปรูไรนาผงอย่างละ 50% ทดแทนคลอเรลลาได้ครึ่งหนึ่ง
ปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงไรน้ำนางฟ้าสามารถวัดได้จากความโปร่งใสของน้ำ
โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เซคชิดิช (Secchi disc)
ความโปร่งใสของน้ำในบ่อที่เลี้ยงไรน้ำนางฟ้าควรอยู่ระหว่าง 15-20 เซนติเมตร
ส่วนที่มีการให้สาหร่ายคลอเรลลาเป็นอาหารด้วยวิธีการเติมเป็นครั้งคราว จะให้ในอัตรา
0.5-1.0 ล้านเซลล์ต่อมิลลิตร
การให้อาหารจะให้วันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้าและตอนเย็น
วิธีการสังเกตว่าอาหารที่ให้เพียงพอหรือไม่ ให้สังเกตจากสิ่งขับถ่ายของไรน้ำนางฟ้า
โดยปกติไรน้ำนางฟ้าจะมีการขับถ่ายออกมาอย่างต่อเนื่องมองเห็นเป็นสาย
ถ้าอาหารมีไม่เพียงพอ
สิ่งที่ขับถ่ายออกมาจะไม่ต่อเนื่องหรือไม่เต็มในท่อที่ขับถ่ายซึ่งต้องเพิ่มอาหารลงไปจนเห็นว่าการขับถ่ายเป็นสายอย่างต่อเนื่อง
การเก็บผลผลิต
สามารถเลือกเก็บได้ตามขนาดที่ต้องการ เช่น
เมื่ออายุ 5-7 วันมีความยาวปรมาณ 10 มิลลิเมตร อายุ 15 วันมีความยาวกว่า
15มิลลิเมตรเป็นต้น เมื่อเลี้ยงครบ 15 วันผลผลิตอยู่ระหว่าง 1,538.0-2,021.8
กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตรและเก็บรวบรวมไข่ได้อีกประมาณ 4.5-6.3 ล้านฟอง
ถ้าภายหลังการเก็บเกี่ยวต้องการที่จะข้นย้ายไรน้ำขณะยังมีชีวิต
ก่อนการเก็บเกี่ยวจะต้องหยุดให้อาหารไรน้ำจนสังเกตว่าไม่มีสิ่งขับถ่ายเหลืออยู่
และบรรจุลงในภาชนะที่อัดออกซิเจนและลดอุณหภูมิระหว่างการเดินทางด้วย