วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา

ชีววิทยาของไรน้ำนางฟ้า

ประวัติการค้นพบ
ชนิดและการแพร่กระจายในประเทศไทย
ความสำคัญและประโยชน์
การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า
การส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ

ชนิดและการแพร่กระจายในประเทศไทย

ในปัจจุบันคณะนักวิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ค้นพบไรน้ำนางฟ้าในประเทศไทยทั้งหมด 3 ชนิด และทั้ง 3 ชนิดเป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลกและจัดเป็นสัตว์น้ำประจำถิ่น ที่พบในประเทศไทยเท่านั้น ดังนี้

1.ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร (Streptocephalus sirindhornae Sanoamuang,Murugan,Weekers & Dumont,2000)

มีลักษณะตัวใส หางแดง ลำตัวยาว 1.3-3.0 เซนติเมตร ตัวผู้มีหนวดยาว ตัวเมียมีถุงไข่ 1 ถุง อยู่บริเวณกลางลำตัวด้านท้อง ไข่รูปร่างกลมมีลวดลายคล้ายลูกตะกร้อ เป็นชนิดที่พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ที่สำรวจพบแล้วในแหล่งน้ำจาก 38 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ นครราชศรีมา มุกดาหาร นครพนม สกลนคร หนองคาย เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ตาก ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ เชียงราย น่าน สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี เพชรบุรี ชัยนาท อุทัยธานี และประจวบคีรีขันธ์

2.ไรน้ำนางฟ้าไทย (Branchinella thailandensis Sanoamuang,Saengphan & Murugan,2002)

ตัวมีสีส้มแดงตลอดทั้งตัว ลำตัวยาว 1.7-4.3 เซนติเมตร ตัวเมียมีสีเข้มกว่าตัวผู้ มีถุงไข่ 1 ถุง ไข่มีรูปร่างกลมคล้ายกับไข่ของไรน้ำนางฟ้าสิรินธร แต่มีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 2 เท่า ที่สำรวจพบแล้วอยู่ในเขต 11 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชศรีมา ชัยภูมิ ลพบุรี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และอุทัยธานี

3.ไรน้ำนางฟ้าสยาม (Streptocephalus siamensis Sanoamuang & Saengphan)

ตัวใส สีตัวบางครั้งเป็นสีฟ้าอ่อน หางสีแดงคล้ายไรน้ำนางฟ้าสิรินธรแต่มีขนาดเล็กกว่าโดยมีลำตัวยาว 1.1-2.0 เซนติเมตร ตัวเมียมีไข่เป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายปิรามิด (tetrahedral egg) เป็นชนิดที่หายากมาก ปัจจุบันพบที่จังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรีเท่านั้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย