วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
อริสโตเติล
(Aristotle, 384-322 B.C.)
นักปรัชญากรีกโบราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ อริสโตเติล, เพลโต
(อาจารย์ของอริสโตเติล) และโสกราติส
(ที่แนวคิดของเขานั้นมีอิทธิพลอย่างสูงกับเพลโต)
พวกเขาได้เปลี่ยนโฉมหน้าของปรัชญากรีก สมัยก่อนโสกราติส
จนกลายเป็นรากฐานสำคัญของปรัชญาตะวันตกในลักษณะปัจจุบัน
โสกราติสนั้นไม่ได้เขียนอะไรทิ้งไว้เลย
ทั้งนี้เนื่องจากผลของแนวคิดปรากฏในบทสนทนาของเพลโตชื่อ เฟดรัส
เราได้ศึกษาแนวคิดของเขาผ่านทางงานเขียนของเพลโตและนักเขียนคนอื่น ๆ
ผลงานของเพลโตและอริสโตเติลเป็นแก่นของปรัชญาโบราณ
อริสโตเติลเป็นหนึ่งในไม่กี่บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ได้ศึกษาแทบทุกสาขาวิชาที่มีในช่วงเวลาของเขา
ในสาขาวิทยาศาสตร์ อริสโตเติลศึกษา กายวิภาคศาสตร์, ดาราศาสตร์, วิทยาเอ็มบริโอ,
ภูมิศาสตร์, ธรณีวิทยา, อุตุนิยมวิทยา, ฟิสิกส์,และ สัตววิทยา ในด้านปรัชญา
อริสโตเติลเขียนเกี่ยวกับ สุนทรียศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, จริยศาสตร์, การปกครอง,
อภิปรัชญา, การเมือง, จิตวิทยา, วาทศิลป์ และ เทววิทยา เขายังสนใจเกี่ยวกับ
ศึกษาศาสตร์, ประเพณีต่างถิ่น, วรรณกรรม และ กวีนิพนธ์
ผลงานของเขาเมื่อรวบรวมเข้าด้วยกันแล้ว
สามารถจัดว่าเป็นสารานุกรมของความรู้สมัยกรีก
อริสโตเติลเกิดเมื่อประมาณ 384 หรือ 383 ปีก่อนคริสตกาลที่เมืองสตากีรา
(Stagira) ในแคว้นมาเซโดเนีย (Macedonia)
ซึ่งเป็นแคว้นที่แห้งแล้งทางตอนเหนือสุดชองทะเลเอเจียน (Aegaeen Sea) ของประเทศกรีก
เป็นบุตรชายของนายนิโคมาคัส (Nicomachus)
ซึ่งมีอาชีพทางการแพทย์ประจำอยู่ที่เมืองสตาราเกีย
และยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าอมินตัสที่ 2 (King Amyntas II)
แห่งมาเซโดเนีย
ในวัยเด็กนั้นผู้ที่ให้การศึกษาแก่อริสโตเติลคือบิดาของเขานั้นเองซึ่งเน้นหนักไปในด้านธรรมชาติวิทยา
เมื่อเขาอายุได้ 18
ปีก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อกับปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุดนั้นคือ เพลโต
ในกรุงเอเธนส์ (Athens) ในระหว่างการศึกษาอยู่กับเพลโต 20
ปีนั้นทำให้อริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ที่ลือนามต่อมาจากเพลโต
ต่อมาเมื่อเพลโตถึงแก่กรรมในปี 347 ปีก่อนคริสต์ศักราช
อริสโตเติลจึงเดินทางไปรับตำแหน่งเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ในปี 343 -
342 ก่อนคริสตศักราช ต่อมาในปี 336 ก่อนคริสตศักราช
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าฟิลลิป
พระองค์จึงได้พระราชทานทุนให้แก่อริสโตเติลเพื่อจัดตั้งโรงเรียนที่สตากิราชื่อไลเซียม
(Lyceum)
ในการทำการศึกษาและค้นคว้าของอริสโตเติลทำให้เขาเป็นผู้รอบรู้สรรพวิชา
และได้เขียนหนังสือไว้มากมายประมาณ 400 - 1000 เล่ม ซึ่งงานต่าง ๆ
ที่ได้เขียนขึ้นมานั้น
ได้มีอิทธิพลต่อความเชื่อในศาสนาคริสต์จวบจนกระทั่งยุคกลางหรือยุคมืด
ซึ่งมีเวลาประมาณ 1,500 ปีเป็นอย่างน้อย
อริสโตเติลเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ โดยที่โลกจะหยุดนิ่งอยู่กับที่
ในขณะที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์
และดาวฤกษ์ทุกดวงต่างพากันโคจรรอบโลกเป็นวงกลม ต่อมาในคริสต์วรรษที่ 2 ปโตเลมี
นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวกรีกได้เพิ่มเติมรายละเอียดแนวคิดของอริสโตเติลให้สมบูรณ์มากขึ้นโดยการสร้างแบบจำลองจักรวาลขึ้นมา
โดยกำหนดให้โลกเป็นจุดศูนย์กลางซึ่งถูกล้อมรอบด้วยทรงกลมที่ขยายใหญ่ออกเป็นชั้นๆ
ซึ่งแต่ละชั้นเป็นเส้นทางโคจรของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์อีกห้าดวง คือ
ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส และดาวเสาร์
โดยที่ดาวเคราะห์เหล่านี้แต่ละดวงยังมีเคลื่อนที่ไปตามแนววงโคจรเล็กๆตามแนวของวงโคจรขนาดใหญ่
แบบจำลองจักรวาลของปโตเลมีมีวิธีการคำนวณตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้าอย่างเป็นระบบ
จึงทำให้แบบจำลองจักรวาลนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางซึ่งรวมไปถึงคริสต์ศาสนจักรด้วย
เพราะว่าแบบจำลองดังกล่าวนี้มีความสอดคล้องกับบันทึกในพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างมาก
คำสอนที่น่าสนใจของอริสโตเติลได้แก่
ความเชื่อที่ว่าโลกเรานี้ประกอบด้วยธาตุต่างๆ 4 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ
ในเรื่องเกี่ยวกับจักรวาลนั้นอริสโตเติลเข้าใจว่า
โลกเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาลโดยมีดวงดาวต่าง ๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์โคจรรอบ ๆ
สวรรค์นั้นอยู่นอกอวกาศ โลกอยู่ด้านล่างลงมา น้ำอยู่บนพื้นโลก ลมอยู่เหนือน้ำ
และไฟอยู่เหนือลมอีกทีหนึ่ง ธาตุต่าง ๆ ของโลกจะเปลี่ยนแปลงเสมอ
แต่ทว่าธาตุที่ประกอบเป็นสวรรค์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงจะมีรูปร่างเช่นนั้นตลอดไป
ซึ่งคำสอนต่อมาในปี ค.ศ. 1609 โจฮันน์ เคปเลอร์ (Johann Kepler)
ได้ตั้งกฏของเคปเลอร์ ซึ่งเป็นการประกาศว่า โลกเราโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี
เป็นการลบล้างความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลของอริสโตเติลและในอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ
กรณีของวัตถุสองอย่างที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน
จะตกลงถึงพื้นไม่พร้อมกันตามหลักของอริสโตเติล ซึ่งกาลิเลโอ
ได้ทำการพิสูจน์ต่อหน้าสาธารณชนที่หอเอนแห่งปิซาว่าเป็นคำสอนที่ไม่จริงในปี ค.ศ.
1600 แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของอริสโตเติลทางด้านชีววิทยานั้นเป็นที่ยกย่องกันมาก
เพราะเขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา
และพวกสัตว์เลื้อยคลานและได้ทำการบันทึกไว้อย่างละเอียดมาก เขาได้แบ่งสัตว์ออกเป็น
2 พวกใหญ่ คือ พวกมีกระดูกสันหลัง (Vertebrates) และพวกไม่มีกระดูกสันหลัง
(Invertebrates)
นับว่าอริสโตเติลเป็นผู้บุกเบิกความรู้ทางด้านนี้จนได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก