วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
กาลิเลโอ กาลิเลอี
(Galileo Galilei)
กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) เกิด ณ เมืองปิซา ประเทศอิตาลี ในวันที่ 15
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2107 (ค.ศ. 1564) เสียชีวิต ณ เมืออาร์เซทิ (Arcetri) ฟลอเรนซ์
ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2185 (ค.ศ. 1642) มีบิดาชื่อ วินเซนซิโอ กาลิเลอิ
ซึ่งมีอาชีพเป็นนักดนตรี และมีมารดาชื่อ จูเลีย กาลิเลอิ กาลิเลโอ
เป็นนักวิทยาศาสตร์ และยัง ถูกขนานนามในชื่อต่าง ๆ เช่น "father of modern
astronomy" (บิดาแห่งวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่), "father of modern physics"
(บิดาแห่งวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่) หรือ "father of science" (บิดาแห่งวิทยาศาสตร์)
เป็นผู้ค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น "กฏแห่งการแกว่งของลูกตุ้ม" และ
"กฏการตกของวัตถุ"
เหตุที่กาลิเลโอได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ เพราะเขาและโยฮันส์
เคปเลอร์ เป็นผู้ที่ก่อให้เกิด การปฏิวัติวิทยาศาสตร์(Scientific revolution)ขึ้น
จริงอยู่ที่ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ
เราเรียนรู้ที่จะสร้างอารยธรรมขึ้นมา จากการค้นคว้า ทดลอง
และจดบันทึกองค์ความรู้สืบทอดต่อๆกันมา จากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
หากพิจารณาจริงๆกระบวนการดังกล่าวก็มีขั้นตอนครบถ้วนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับในแบบเรียนทุกประการ
แล้วจะนับกาลิเลโอจะเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์ ได้อย่างไร
ในเมื่อเขาคงก็ไม่ได้เป็นคนแรกแน่ๆที่เริ่มใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในโลกใบนี้
ประเด็นอันละเอียดอ่อนนี้คงจะเป็นประเด็นเปิดให้ถกเถียง กันอีกยาว
แต่หากเรามองอีกแง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนกว่า
คือจากมุมของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ โดยนับการตีพิมพ์หนังสือ Philosophiae Naturalis
Principia Mathematica ของนิวตันเป็นการสิ้นสุดการปฏิวัติ
กาลิเลโอก็นับว่าเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
เพราะงานในยุคนั้นหลายๆชิ้นที่มีส่วนสำคัญต่อ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์
มีเพียงงานของกาลิเลโอเพียงคนเดียวที่โดดเด่นที่สุดในแง่ของการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
อิทธิพลการแสวงหาความรู้ที่มีแม่แบบจากหนังสือ The Elements ของ
Euclidทรงพลังมากในสมัยของกาลิเลโอ
เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการวัดจะไม่นำเราคลาดเคลื่อนจากความแท้จริง
ยกตัวอย่างเช่น
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสามด้านของสามเหลี่ยมมุมฉากจะต้องสอดคล้องกับทฤษฎีบทพีทาโกรัสทุกรูป
?
ความจริงข้อนี้คงไม่สามารถหาได้จากการทดลองสร้างสามเหลี่ยมมุมฉากขึ้นมาเป็นหมื่นๆรูปแล้ววัด?
หากเราทดลองกับรูปสามเหลี่ยมมุมฉากจำนวน 105รูปแล้วพบว่าจริง
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะจริงกับรูปที่105 + 1จะจริงด้วย? ดังนั้นเป็นที่น่าสงสัย
(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของกาลิเลโอ)
ว่าความจริงที่หาได้จากการทดลองและการวัดกับความจริงที่หาได้การอนุมาน(deduction)จากสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่าจริงอยู่แล้ว
อย่างไหนเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือกว่ากัน ซึ่งแน่นอนที่ความจริงแบบเรขาคณิตของEuclid
ที่รู้จักกันดีว่าเป็นเรขาคณิตของ "วงเวียนและสันตรง"
(สันตรงคือไม้บรรทัดที่ไม่มีเสกลที่ใช้ขีดเส้นตรงได้เพียงอย่างเดียว
=ไม่มีการวัดความยาว) ดูจะมีอิทธิพลเหนือกว่าความรู้ที่ได้จากการสังเกต ทดลอง
และวัดค่าเป็นตัวเลขออกมาเป็นตัวเลขในแบบของกาลิเลโอ แต่ข้อมูลจากการสังเกต
ทดลองวัดค่าเป็นตัวเลขในงานกฏการตกของวัตถุมีส่วนสำคัญที่ทำให้นิวตันค้นพบกฏแรงของโน้มถ่วง
ในครั้งแรก และงานที่ได้จากการทดลอง
ทางกลศาสตร์ของกาลิเลโอก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้นิวตันสามารถสรุปกฏการเคลื่อนที่ของนิวตัน
3 ข้อ ออกมาได้ ซึ่งกฏทั้งสี่ข้อนี้ คือ ชัยชนะของวิทยาศาสตร์ที่เหนือกว่า
กระบวนการแสวงหาความรู้เดิมที่ได้รับอิทธิพลจากนักปราชญ์ชาวกรีกซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงมาเป็นพันๆปี
มีข้อสังเกตว่างานที่ใช้ตัดสินชี้ขาดชัยชนะของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์น้ำหนักน่าจะอยู่ที่งานของเคปเลอร์ที่เป็นถือข้อพิสูจน์
กฏแรงของโน้มถ่วงที่นิวตันพิสูจน์ได้เป็นครั้งที่สอง มากกว่างานของกาลิเลโอ
แต่งานของเคปเลอร์อาจไม่ได้มีความหมายตรงกับ
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานทั่วไป
เราจึงไม่นับว่าเคปเลอร์เป็นบิดาวิทยาศาสตร์
เมื่อกาลิเลโอมีอายุได้ 69 ปี
คณะตุลาการศาสนาของประเทศอิตาลีได้มีมติบังคับให้กาลิเลโอถอนคำพูดของเขาที่ว่า
"โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์" เขาถูกผู้คนประณามหยามเหยียดว่าเป็นพวกนอกรีต
และถูกทรมานจองจำ จนในบั้นปลายของชีวิต ตาทั้งสองข้างของเขาบอดสนิท
และเขาได้ตายจากโลก โดยมีคำสาปแช่งของศาสนาติดตัวตามไป แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.
2534 นี้เอง สันตะปาปา John Paul ที่ 2
แห่งสำนักวาติกันได้ทรงทำพิธีถ่ายบาปให้กาลิเลโอ โดยองค์สันตะปาปาแถลงว่า
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาสนาที่ได้ตัดสินไปเมื่อ 359 ปี ก่อนโน้นนั้นผิด
เพราะยุโรปในสมัยนั้นยึดถือในปรัชญาคำสั่งสอนของ Aristotle
มากและเชื่อคำสอนด้านดาราศาสตร์ของ Ptolemy
ซึ่งวิชาทั้งสองนี้อิงอาศัยความรู้สึกและสามัญสำนึกเป็นสำคัญ Ptolemy
ได้สอนคนในสมัยนั้นว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
และดาวต่างๆ โคจรรอบโลก ส่วนAristotle นั้นได้แบ่งจักรวาลออกเป็นสองภาค คือ
ภาคสวรรค์ และภาคพื้นดิน โดยสรรพสิ่งทั้งหลายที่ลอยอยู่บนสวรรค์นั้นสวย
สมบูรณ์และอมตะถาวร ส่วนสรรพสิ่งทั้งปวงที่กองอยู่บนดินนั้นมีสภาพปกติ
และจะเปลี่ยนแปลงชั่วนิจนิรันดร์
เมื่อกาลิเลโอมีอายุได้ 25 ปี ความเป็นอัจฉริยะ ก็เริ่มฉายแสง
โดยเขาได้ล้มล้างทฤษฎี Aristotle ที่ผู้คนยึดถือกันมานานร่วม 2,000 ปีที่ว่า
วัตถุหนักจะตกถึงพื้นเร็วกว่าวัตถุเบา โดยเขาได้ขึ้นไปบนหอคอยเอียงแห่งเมือง Pisa
แล้วปล่อยวัตถุที่หนักไม่เท่ากันลงมาพร้อมกัน
ผลการทดลองแสดงให้เห็นชัดเจนว่าวัตถุทั้งสองตกถึงพื้นพร้อมกัน
ในปี พ.ศ. 2152 เขาได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นใช้
โดยนำเอาเลนส์นูนและเลนส์เว้ามาติดที่ปลายทั้งสองของท่อกลวง และเขาก็ได้ปฏิวัติ
ปฏิรูปวิชาดาราศาสตร์ทันที เพราะเขาได้เห็นภูเขาสูงต่ำบนดวงจันทร์ ซึ่งใครๆ
ในยุคนั้นงมงายเชื่อว่า ผิวดวงจันทร์นั้นราบเรียบ
กาลิเลโอจึงเป็นบุคคลแรกของโลกที่เห็นความไม่สมบูรณ์ของสวรรค์
และเมื่อเขาได้เห็นจุดดับบนดวงอาทิตย์ เห็นดวงจันทร์ 4 ดวงโคจรรอบดาวพฤหัสบดี
และหาได้โคจรไปรอบโลกดังที่ใครๆ เชื่อไม่ เขาจึงตัดใจตีพิมพ์ผลงานของเขาในปี พ.ศ.
2153 ในหนังสือ Siderius Nuncius หนังสือนี้ถูกห้ามพิมพ์จำหน่ายอย่างเด็ดขาด
และเขาถูกห้ามมิให้ตำหนิสวรรค์อีกไม่ว่าจะในกรณีใดๆ
เมื่อ Maffeo Barberini
บาดหลวงผู้สนิทชิดชอบกับกาลิเลโอได้รับการสถาปนาเป็นสันตะปาปา Urban ที่ 8
กาลิเลโอได้หลงคิดว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้มาถึงแล้ว
งานค้นคว้าของเขาที่ตีพิมพ์ในหนังสือ Dialogo sopra due massini Sistemi del Mondo
ในปี พ.ศ. 2175 ได้นำมาซึ่งปฏิกิริยาต่อต้านจากทุกสารทิศ เขาถูกสถาบันศาสนาประณาม
และถูกทรมาน ถึงแม้จะตัวถูกขัง แต่ก็ไม่มีใครกักขังใจเขาได้
เขายังคงยึดมั่นในความคิดและความรู้ของเขา เขาได้พยายามทำให้คนทั้งหลายยอมรับว่า
วิทยาศาสตร์มิได้เป็นวิชาที่ใช้ความรู้สึกเป็นตัวสร้างวิชา
การทดลองเท่านั้นที่จะเป็นตัวตัดสินความถูก หรือความผิดของความคิดวิทยาศาสตร์
คดีกาลิเลโอมิได้เป็นคดีต่อสู้ประจันหน้ากันระหว่างสถาบันศาสนากับสถาบันวิทยาศาสตร์
เพราะในการพิพากษาครั้งนั้น คณะตุลาการศาสนามิได้รับฟังมุมมองของกาลิเลโอเลย
คณะบาทหลวงเป็นฝ่ายว่าฝ่ายเดียว
- ปี พ.ศ. 2107 (ค.ศ. 1564) - วันที่ 15 กุมภาพันธ์ กาลิเลโอ เกิด ณ เมืองปิซา ประเทศอิตาลี
- ปี พ.ศ. 2117 (ค.ศ. 1574) - ย้ายที่อยู่ไปยังเมืองฟลอเรนซ์ และเข้าศึกษาต่อที่โบสถ์วอลลอมโบรซา
- ปี พ.ศ. 2124 (ค.ศ. 1581) - เข้าศึกษาในคณะแพทย์ศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยปิซา
- ปี พ.ศ. 2126 (ค.ศ. 1583) - ได้ค้นพบ กฏการแกว่งของลูกตุ้ม จากการแกว่งของโคมไฟ ณ มหาวิทยาลัยปิซา
- ปี พ.ศ. 2127 (ค.ศ. 1584) - มีทุนทรัพย์ไม่พอในการเรียน จึงลาออกจากมหาวิทยาลัยปิซา และกลับมายังเมืองฟลอเรนซ์
- ปี พ.ศ. 2132 (ค.ศ. 1589) - ได้รับตำแหน่งเป็นอาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยปิซา
- ปี พ.ศ. 2133 (ค.ศ. 1590) - ได้ค้นพบ กฏการตกของวัตถุ โดยมีการทดลองที่ หอเอนเมืองปิซา
- ปี พ.ศ. 2135 (ค.ศ. 1592) - ได้เป็นอาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยปาดัว
- ปี พ.ศ. 2142 (ค.ศ. 1599) - เริ่มชีวิตคู่ โดยแต่งงานกับ มารีนา กัมเบอร์
- ปี พ.ศ. 2152 (ค.ศ. 1609) - กาลิเลโอ ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์
- ปี พ.ศ. 2153 (ค.ศ. 1610) - ในเดือน มกราคม ได้ค้นพบดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี และได้ออกหนังสือชื่อ The Starry Messenger และยังได้กลับมาเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยปิซาอีกครั้ง ด้วยความอนุเคราะห์ของ ดยุคเมดิชี
- ปี พ.ศ. 2185 (ค.ศ. 1642) - วันที่ 8 มกราคม กาลิเลโอ เสียชีวิตท่ามกลางลูกศิษย์ไม่กี่คน