สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

เศรษฐกิจโลก

พัชรี สุวรรณศรี
สุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ

ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (Free Economy) หรือทุนนิยม (Capitalism)  

เป็นระบบเศรษฐกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต มีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและการจัดสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ดังนั้นเอกชนจึงเป็นผู้ตัดสินแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยใช้ระบบราคาหรือระบบตลาดช่วยในการตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร ทั้งนี้ราคาเป็นตัวกำหนดว่ามีผู้บริโภคมากน้อยเพียงใดหรือมีผู้ผลิตจำนวนเท่าใด ณ ราคานั้นๆ กำไรคือแรงจูงใจของการผลิต จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจนี้มีการแข่งขันทางราคาสูงมากและเป็นไปอย่างเสรี ทั้งนี้เพราะราคาถูกกำหนดขึ้นมาจากอุปสงค์และอุปทานของตลาด

อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ใช้ระบบนี้ เพราะมีความรุ่งเรืองทางด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมมาก่อน ประชาชนชาวอังกฤษเองก็มีอาชีพทางด้านการค้ามาช้านานโดยใช้ทรัพยากรทั้งในและนอกประเทศมีอาณานิคมอยู่รอบโลก และภายใต้ระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้บุคคลมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่จะถือทรัพย์สินส่วนตัว มีเสรีภาพที่จะเลือกการบริโภคการตัดสินใจในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จะทำโดยผ่านระบบตลาดแข่งขัน โดยที่ราคาในตลาดจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความต้องการของสังคม

หลักการสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ในระบบแบบเสรีมีหลักการที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้ (สาขาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2538 : 57)

  1. การถือสิทธิ์ในทรัพยากร ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรือทุนนิยมยอมรับเรื่องกรรมสิทธิ์ คือ ยอมให้หน่วยธุรกิจหรือเอกชนเป็นเจ้าของทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตได้ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เหล่านี้จึงมีสิทธิเสรีภาพในการจัดกระทำใดๆ กับทรัพย์ของตนก็ได้
  2. เสรีภาพในการประกอบการ ทั้งปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลที่เป็นองค์การหรือหน่วยธุรกิจ ต่างมีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมในการประกอบการใดๆ เพื่อจัดดำเนินการกับปัจจัยการผลิตและทรัพย์สินของตนได้อย่างอิสระ ปราศจากการบังคับควบคุมจากสิ่งใดทั้งสิ้น
  3. กำไรเป็นเครื่องจูงใจ ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี กำไรซึ่งเป็นส่วนของผลได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญในการจูงใจให้หน่วยธุรกิจผู้ผลิตทำการผลิต โดยมุ่งนำเทคนิคใหม่ๆ ที่มาช่วยลดต้นทุนการผลิตมาใช้ในการดำเนินการ เพื่อที่จะได้กำไรสูงสุด ส่วนผู้บริโภคจะยึดเกณฑ์การเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่จะนำความพอใจสูงสุด ด้วยการจ่ายเงินน้อยที่สุด โดยทำการเปรียบเทียบความต้องการของตนเองจากบรรดาสินค้าชนิดค่างๆ
  4. กลไกของราคา ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีใช้ราคาเป็นตัวตัดสินปัญหาพื้นฐานด้านการผลิต คือ ผู้ผลิตตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร เป็นจำนวนเท่าใด โดยดูแนวโน้มความต้องการของผู้จ่ายเงินซื้อสินค้าชนิดต่างๆ และดูระดับราคาสินค้าที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายซื้อ ถ้าผู้บริโภคต้องการสินค้าชนิดใดมากก็จะใช้เงินซื้อสินค้านั้นมาก แม้ราคาจะสูงก็ยังจะซื้ออยู่ เมื่อเป็นดงนั้นผู้ผลิตก็จะทุ่มทุนกำลังการผลิต ผลิตสินค้าชนิดนั้น เพราะแน่ใจว่าขายได้แน่นอน วิธีดูแนวโน้มของราคาและพฤติกรรมของผู้บริโภคนี้เองเป็นตัวกำหนดที่ผู้ผลิตใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ในปริมาณเท่าใด ราคาในระบบเศรษฐกิจเสรีจึงทำหน้าที่บ่งชี้และควบคุมการทำงานภายในระบบเศรษฐกิจจนกล่าวกันว่า ราคาทำหน้าที่แทนผู้บริโภค ชี้ทางให้ผู้ผลิตผลิตเฉพาะสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ
  5. บทบาทของรัฐ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี รัฐจะไม่มีบทบาทในทางเศรษฐกิจเลย รัฐทำหน้าที่เพียงด้านความยุติธรรมและป้องกันประเทศ โดยที่รัฐบาลจะเป็นฝ่ายให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่เอกชนหรือผู้ผลิตสินค้าและบริการ ดังเช่น อดัม สมิธ ได้กำหนดและวางหน้าที่บางอย่างแก่รัฐ ดังนี้
    ­ การป้องกันประเทศจากการรุกรานโดยใช้กำลัง ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
    ­ การคุ้มครองมิให้พลเมืองได้รับความอยุติธรรม หรือการกดขี่ข่มเหงจากการกระทำของพลเมืองด้วยกันเอง
    ­ การสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีดังนี้

  • เกิดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะทำแล้วรายได้ตกเป็นของตนเอง
  • เนื่องจากผู้ผลิตแต่ละรายต้องแข่งขันกันขายสินค้าและบริการให้มากที่สุด จึงต้องปรับปรุงเทคนิคการผลิตอยู่เสมอทำให้คุณภาพของงานและคุณภาพของสินค้าดีขึ้น
  • ผู้ผลิตสินค้ามีเสรีภาพในการตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ผลิตอะไร และผลิตมาปริมาณเท่าใด
  • ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ในราคาที่เป็นธรรมมากที่สุด  

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีข้อบกพร่องหลายประการด้วยกัน คือ

  • ทำให้การกระจายรายได้ของประชาชนไม่เท่าเทียมกัน เพราะบุคคลในสังคมต่างมีทรัพย์สินไม่เท่าเทียมกัน บุคคลที่มีทรัพย์สินมากย่อมมีความได้เปรียบบุคคลที่มีทรัพย์สินน้อยกว่าทั้งนี้เพราะทรัพย์สินเป็นแหล่งกำหนดรายได้ คนที่มีทรัพย์สินมากย่อมแสวงหารายได้จากทรัพย์สินของตนได้มาก โอกาสที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของบุคคลในสังคมจึงมีมาก ซึ่งหากคนที่มีทรัพย์สินมากหรือที่เรียกว่า “นายทุน” เป็นบุคคลที่ขาดจริยธรรมแล้ว โอกาสที่นายทุนจะเอาเปรียบผู้อื่นย่อมมีมากเพราะมักจะขาดจริยธรรมและคำนึงถึงแต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและกำไรมากๆ เป็นสำคัญ จะส่งผลให้เกิดแรงกดดันและความระส่ำระสายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงมีผลให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมต้องเสื่อมลงในบางประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม ฯลฯ ต้องเลิกล้มไปในที่สุด
  • ในบางสถานการณ์ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไม่สามารถจะนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ได้ เช่น ในภาวะฉุกเฉินหรือภาวะสงคราม หากรัฐบาลปล่อยให้เอกชนดำเนินการเศรษฐกิจเองโดยเสรี สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจจะเลวลงกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ประเทศอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลต้องหันมาแทรกแซงกิจกรรมของเอกชน เพราะกลไกราคาใช้ไม่ได้ผล ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าและบริการต่างๆ จนต้องใช้วิธีปันส่วน
  • ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หากมีผู้ผลิตสินค้าและบริการน้อยราย โอกาสที่ผู้ผลิตที่จะรวมตัวกันเพื่อผูกขาดการผลิตสินค้าและบริการย่อมเป็นไปได้ง่าย เพราะรัฐบาลไม่สามารถจะเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ผลเสียจะตกอยู่กับผู้บริโภคและผู้ใช้แรงงานซึ่งถูกเอาเปรียบ โดยการขึ้นราคาสินค้าให้สูง และกดค่าจ้าง ค่าแรงงานให้ต่ำ

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย