สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

วรรณะ รัตนพงษ์
ดร.อนัตต์ ลัคนหทัย

โลกาภิวัตน์กับมิติทางสังคม

โลกาภิวัตน์ มีขอบเขตของความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุมทุกมิติอันเกิดจากขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย เทคโนโลยี การสื่อสาร รวมทั้งระบบสิ่งแวดล้อม เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราสามารถแยก โลกาภิวัตน์ของแต่ละด้านได้ดังต่อไปนี้

โลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจ (Globalization of the Economy)

จากการค้นคว้าจากเอกสารหรือบทความทางวิชาการ พบว่าส่วนใหญ่ จะกล่าวถึง การผสมผสานกันระหว่างอุดมการณ์ระบบการตลาดแบบเสรีนิยม (Liberalism) กับ ความเจริญก้าวหน้าของการติดต่อสื่อสารรวมทั้งเทคโนโลยีการขนส่งซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย สินค้า บริการ และเงินทุน จากประเทศที่เป็นแกนกลางแห่งการพัฒนาโลก (Core Countries) อันหมายถึงประเทศที่พัฒนาแล้วทางตะวันตก อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ไปยังประเทศที่อยู่ระหว่างกึ่งชายขอบ (Semi-Periphery) ซึ่งหมายถึง ประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่อยู่ชายขอบแห่งการพัฒนา (Periphery) ซึ่งหมายถึงประเทศด้อยพัฒนา ตามลำดับ

ชาติตะวันตกต้องการที่จะเปิดตลาดโลกสำหรับสินค้าที่ตนผลิตขึ้นและกอบโกยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร แรงงานราคาถูกจาก ประทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ผ่านทางการกำหนดนโยบายของผู้เรืองอำนาจในประเทศอันเอื้อประโยชน์ให้แก่การแสวงหาผลประโยชน์ บรรดาประเทศเหล่านี้จะใช้กฎ ระเบียบของสถาบันการเงินระหว่างชาติรวมทั้งข้อตกลงทางการค้าเพื่อบีบบังคับให้บรรดาประเทศที่ยากจนต้องถูกผนวกและลดกำแพงภาษีนำเข้า ยอมปล่อยให้กิจการของรัฐตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของต่างชาติ ย่อหย่อนในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งรวมทั้งการลดมาตรฐานการครองชีพของแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ ซึ่งทำให้ได้กำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ ทว่า ให้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิดแก่ผู้ใช้แรงงานจนทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับเชิงปฏิเสธความไม่เท่าเทียมกัน(Inequity) การถูกครอบงำจากประชารัฐที่เหนือกว่าในทุกๆด้าน

โลกาภิวัตน์ ทางด้านเศรษฐกิจ(Globalization of Economy)

 จึงหมายถึง บริเวณใดบริเวณหนึ่งบนพื้นโลกที่มีการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกันจนเป็นอาณาบริเวณที่กว้างขวาง โดยโลกเศรษฐกิจจะไม่มีพรมแดนในลักษณะที่สอดคล้องกับการแบ่งเขตเกี่ยวข้องกับดินแดนหรืออาณาเขต ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐ (State) แต่เป็นเขตแดนทางเศรษฐกิจ โดย โลกาภิวัตน์ในความหมายนี้ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยมีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเป็นกลไกที่สำคัญที่ผลักดันให้กลายเป็นกระแสของการแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าของประเทศที่แข็งแรงกว่าเข้าครอบงำประเทศที่อ่อนแอกว่า โลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้คือ

ทุน (Capital)

เศรษฐกิจโลกซึ่งจะต้องเป็นไปตามอุดมการณ์ของลัทธิทุนนิยม (Capitalism) ภายใต้การแข่งขันในลักษณะเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นลักษณะเศรษฐกิจของโลกตะวันตกที่มีเนื้อหาเน้นการสะสมทุนและการค้าแบบเสรี โดยต่างก็จะให้มีการเปิดการค้าระหว่างประเทศให้เป็นการค้าที่ไร้พรมแดนแต่ภายใต้การค้าเสรีนี้ ความได้เปรียบของบริษัทข้ามชาติ ก็จะมีมากกว่า ซึ่งเป็นความเสรีที่ไม่เท่าเทียมกัน ทุนจะมีการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศต่างๆของโลกที่ให้เงื่อนไขและผลประโยชน์ที่ได้กำไรสูงสุด  

การครอบงำผ่านทางข้อมูล-ข่าวสาร (Information Hegemony)

การปฏิวัติทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้มีการเชื่อมโยงสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว โลกถูกเชื่อมด้วยข้อมูลข่าวสารและมักเป็นข้อมูลข่าวสารฝ่ายเดียวจากโลกตะวันตก หรือจากประเทศซึ่งมีอำนาจเศรษฐกิจและการทหารที่เหนือกว่า โดยการครอบงำและสร้างกระแสข่าวตามที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองและเศรษฐกิจของตะวันตก เป็นการครอบงำทางข่าวสาร และวัฒนธรรมซึ่งมีผลต่อความเชื่อของมนุษยชาติในการที่จะต้องบริโภคข่าวสาร, การบริโภคสินค้า, บริการ และวัฒนธรรมของตะวันตกนั้นและเชื่อว่าการบริโภคนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

3) ค่านิยม (Value)

โลกาภิวัตน์ได้สร้างค่านิยมผ่านทางข้อมูลข่าวสาร โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ กล่าวคือ

  • ค่านิยมทางการเมือง
    ทุกประเทศในโลกต้องเป็นแนวประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งประเทศต่างๆ หากจะต้องมีรูปแบบการเมืองการปกครองในแบบเดียวกัน มิฉะนั้นก็จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือใช้กำลังทหารเข้าไปปลดปล่อยให้เป็นประชาธิปไตย โดยไม่สนใจต่อความพร้อมหรือวิถีชีวิตของคนในประเทศเหล่านั้น ซึ่งการเมืองในระบบประชาธิปไตย เมื่อถูกผ่านการครอบงำผ่านทางข้อมูลข่าวสารจากโลกตะวันตก ก็จะทำให้ประชาชนมีค่านิยมที่จะเลือกผู้นำที่มีแนวความคิดแบบการค้าเสรีหรือเป็นนายทุนเศรษฐกิจแบบตะวันตกไปเป็นรัฐบาล ซึ่งก็จะมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ กฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทข้ามชาติสามารถเข้าไปแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งมีความอ่อนแอกว่า ซึ่งจะมีผลต่อจะต้องมีการพึ่งพาโลกตะวันตก
  • ค่านิยมทางเศรษฐกิจ
    โลกจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ มีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) โดยถือหลักการว่าที่ไหนถูกก็ผลิตหรือซื้อที่นั่น โดยต่างฝ่ายจะใช้มาตรการทางภาษีให้มีน้อยที่สุด โดยโลกตะวันตกก็จะมีการปกป้องธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันกันได้ในรูปแบบของการกีดกันทางการค้า ในแบบที่เรียกว่า Non Tariff Barrier (NTB) การค้าของโลกจะตกอยู่ภายใต้กติกาขององค์กรการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) ที่โลกตะวันตกไม่กี่ประเทศเป็นผู้บงการ และข้อตกลงในลักษณะที่เป็นทวิภาคี ได้แก่ ที่มาในรูปแบบของเขตการค้าเสรี (Free Trade Area –FTA) ซึ่งหาก WTO ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ก็จะมีการทำข้อตกลงความร่วมมือในระดับภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (Asian Free Trade Area - AFTA ), ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิค (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC) เป็นต้นดังนั้น การค้าเสรีของ Globalization นั้นจึงเป็นความเสรีบนความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ใช่ความยุติธรรมทางการค้า
  • ค่านิยมทางสังคม
    โดยการครอบงำทางสังคมวัฒนธรรม โดยผ่านทางข้อมูลข่าวสาร ทำให้การค้าของโลกจะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Right) การบริโภคนิยม (Consumerism) การนิยมวัตถุ (Materialism) รวมถึงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งจะอนุรักษ์เฉพาะในสิ่งที่ประเทศด้อยพัฒนาไม่พร้อม แต่โลกตะวันตกพร้อม
  • ค่านิยมการปกป้องทางการค้า (Protectionism)
    การค้าโลกาภิวัตน์ จะเกิดขึ้นพร้อมกับการปกป้องทางการค้าในรูปแบบของลิขสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะมาจากโลกตะวันตก ซึ่งจะใช้ลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือในการปกป้องสินค้าและบริการ นอกเหนือจากนี้การใช้มาตรการทางด้านการเงิน ผ่านกองทุนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank - ADB )และฯลฯ ซึ่งองค์กรทางด้านเศรษฐกิจระดับโลกเหล่านี้มักจะมีเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจข้ามชาติ ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้อง รวมทั้งการใช้มาตรการที่ป้องกันผู้ก่อการร้ายของก็อยู่ในกระแสของโลกาภิวัตน์เช่นกัน

อีกความหมายหนึ่งของโลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจ คือ การที่โลกเราเป็นโลกไร้พรมแดน เป็นโลกที่เรียกว่า Borderless World คือ เป็นโลกของการไหลเวียนทางสินค้า การเงินและการบริการ หรือเป็นยุคที่เรียกว่า Free Trade คือ ยุคการค้าเสรี “โลกาภิวัตน์” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกที่ทั่วโลกในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะในแง่มุมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กระแสโลกาภิวัตน์ได้แทรกซึมเข้าไปและส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจเพราะเกิดการโต้เถียงกันถึงผลของโลกาภิวัตน์ว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความร่ำรวยและความยากจนในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายของกระแสโลกาภิวัตน์นี้ก็แตกต่างกันออกไปตามความคิดของคนซึ่งอยู่ต่างสังคมกัน

ดังนั้นกระแสโลกาภิวัตน์จึงส่งผลเด่นชัดในแง่มุมของเศรษฐกิจเพราะกระแสโลกาภิวัตน์เกิดจากการพัฒนาของระบบทุนนิยมนั่นเอง เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และสังคมรอบโลกเป็นผลมาจากการเกิดการหมุนเวียนของสินค้าและการให้บริการ เงินทุน คนและการพัฒนาการทางความคิดต่างๆ กระบวนการเหล่านี้เป็นผลมาจากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเห็นได้ชัดเจนจากการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายแลกเปลี่ยนและการหมุนเวียนทางด้านการเงิน การเติบโตทางกิจกรรมการค้าขายระหว่างประเทศนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายแบบ กิจกรรมการค้าขายนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการค้าขายระหว่างบรรษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบและระดับชั้นเช่น การค้าขายระหว่างพ่อค้าปลีกตามแนวพรมแดน ไทย-พม่า เพราะกิจกรรมการค้าขายเหล่านี้เป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์เช่นกัน หรือที่เรียกว่า “Cross-border economic activities”

“Economic Globalization” คือ กระบวนการการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วระหว่างประเทศ กระบวนการเหล่านี้ถูกผลักดันให้ขับเคลื่อนโดยการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) การนำเงินเข้ามาลงทุนของต่างชาติ (Foreign Direct Investment) และโดยระบบเงินทุนที่หมุนเวียน กระบวนการเหล่านี้แสดงออกในตัวมันเองในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • การค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศทางสินค้าและบริการ(International Trade of Goods and Services)
    การเติบโตของประเทศที่นำเข้าซึ่งสินค้าและบริการมาจากต่างประเทศ และการเพิ่มมากขึ้นของประเทศที่ส่งสินค้าออกขายนอกประเทศ และจากสถิติของ World Bank’s World Development Indicators 2000 การค้าขายแลกเปลี่ยนทางการค้าไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย หรือประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country) ต่างมีสถิติตัวเลขที่ทวีมากเพิ่มขึ้น
  • การลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment and Short-term Flows)
    การที่บริษัทที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประทศใดประเทศหนึ่งและมาลงทุนในการดำเนินธุรกิจยังประเทศอื่นที่ ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนขึ้นในประเทศนั้นๆ ทำให้หลายๆ ประเทศที่ต้องการเงินสนับสนุนลงทุนจากต่างชาติมีนโยบายมาสนับสนุนและเพิ่มความสะดวกสบายแก่นักลงทุนชาวต่างชาติมากเพิ่มขึ้น
  • การหมุนเวียนของตลาดทุน (Capital Market Flows)
    ในหลายๆ ประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนา) การออมของประชาชน (saving) มีมากเพิ่มขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น การซื้อพันธบัตรต่างชาติและพยายามไม่ลงทุนมากนักเพราะต้องการเก็บรวมทรัพย์สินของตนไว้ด้วยกัน เป็นผลให้ผู้กู้ยืม(Borrower) ที่มีมากเพิ่มขึ้น ต่างต้องหันไปหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศพร้อมๆ กันกับที่หาในประเทศ

ปัจจุบันแม้ว่าคำว่า “โลกาภิวัตน์” จะใช้กันอย่างกว้างขวาง แต่ความหมายก็ไม่ได้ชัดเจนครอบคลุมโดยทั้งหมดและส่วนใหญ่มักจะกล่าวถึงโลกาภิวัตน์ในด้านของกระบวนการการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งเกิดจากการค้าขายแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุนและเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งมากพอๆกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์เกี่ยวข้องกับในทุกด้าน ทั้งทางด้านธุรกิจ แรงงาน สินค้า และบริการ

ดังนั้น ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงโลกาภิวัตน์ จึงเกี่ยวพันและส่งผลถึงสภาพเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ และหัวข้อที่องค์กรและกลุ่มคนส่วนใหญ่กล่าวถึงคงไม่พ้นในเรื่อง “กระแสโลกาภิวัตน์ : ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน” (Globalization : Poverty and Inequality) ซึ่งได้โต้แย้งและมีความคิดเห็นแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายในเรื่องนี้ เพราะฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการเปิดตลาดเสรีนำไปสู่ความมั่งคั่ง และการแข่งขันทำให้นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ, ความก้าวหน้า, ราคาสินค้าที่ต่ำลง, ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับมีความเห็นขัดแย้งว่าความเจริญก้าวหน้า การเปิดการค้าเสรีซึ่งเป็นผลทำให้มีการแข่งขันสูงและเป็นเหตุให้เกิดภาวะการแข่งขันในการลดราคาสินค้าทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถต้านทานแรงขายปริมาณมากในราคาขายต่ำของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีเงินทุนมากไว้ได้ ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กนั้นต้องล้มไป

โลกาภิวัตน์ทางด้านสังคม( The social dimension of globalization)

โลกาภิวัตน์ทางด้านสังคม หมายถึง ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อวิถีชีวิตส่วนบุคคล ครอบครัว อาชีพการงาน รวมทั้งชีวิตทางสังคมของผู้คน ประเด็นเน้นหนักจะเกี่ยวข้องกับการทำงาน สภาพการทำงาน รายได้ และการคุ้มครองหรือสวัสดิการสังคม นอกเหนือไปจากนั้น มิติทางด้านสังคมจะครอบคลุมถึง ความปลอดภัยในทรัพย์สิน วัฒนธรรมรวมทั้งอัตลักษณ์ ความสามัคคีการแตกแยก รวมทั้งความสมานฉันท์สามัคคีในครอบครัวและชุมชน

โลกาภิวัตน์ทางด้านสังคมจะมุ่งไปสู่การขจัดปัญหาการว่างงาน ความอยุติธรรม ความไม่เสมอภาค รวมทั้งความยากจน และความยั่งยึนของโลกาภิวัตน์ทุกด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและกฎหมาย จะบังเกิดสัมฤทธิ์ผลของโลกาภิวัตน์ขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์นั้นสนองตอบต่อความต้องการของคนในสังคมในภาพรวม

โลกาภิวัตน์ทางด้านวัฒนธรรม (Globalization of Culture )

การแพร่กระจายของค่านิยม บรรทัดฐาน และวัฒนธรรมตะวันตกจะยิ่งช่วยส่งเสริมแนวคิดแบบทุนนิยมตะวันตก และทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมการบริโภค เอาชนะจิตสำนึกและจิตวิญญาณ รวมทั้งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชุมชน

ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทุกด้าน อาทิเช่น การติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ท ดาวเทียม เคเบิลทีวี จะทำลายกำแพงแห่งวัฒนธรรม รายการสาระและบันเทิงจะค่อยๆพัฒนาการรับรู้และความใฝ่ฝันตามความนิยมชมชอบไม่ว่าจะอยู่แห่งใดในโลก ในขณะเดียวกันกับที่ ค่อยๆแทรกซึม ค่านิยม บรรทัดฐาน และวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มเอื้อหนุนต่ออุดมการณ์แบบทุนนิยมตะวันตก วัฒนธรรมดั้งเดิมอาจจะตกเป็นเหยื่อ อุดมการณ์บริโภคนิยมจะมีชัยต่อจิตสำนึกชุมชนและความสมานฉันท์สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในสังคม

โลกาภิวัตน์ทางด้านกฏหมาย (Globalization of Law )

ในอดีต กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐ-ชาติ ซึ่งศาลสถิตย์ยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะตำรวจจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในการปกครอง ในลักษณะตรงกันข้าม กฎหมายระหว่างประเทศค่อนข้างจะอ่อนแอรวมทั้งมีอำนาจในการบังคับให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายค่อนข้างด้อยประสิทธิภาพ

ทว่าโลกาภิวัตน์ทางด้านกฎหมาย ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงร่างของกฎหมายรวมทั้งการสถาปนาบรรทัดฐานและสถาบันทางด้านกฎหมายของโลก ศาลอาญาของโลก ให้สัตยาบันว่าจะสร้างความยุติธรรมให้แก่บุคคลแห่งรัฐ บนพื้นฐานแห่งกฎหมายอาญาทั่วโลก ในขณะเดียวกันกับที่ความร่วมมือระหว่ารัฐต่อรัฐได้ทำให้เกิดการทดลองใช้ความผิดทางอาญาที่มีความชัดแจ้งร่วมกันว่าเป็นการกระทำความผิด

การเปลี่ยนแปผลงทางด้านกฎหมายทางธุรกิจไปสู่ระดับโลก จะก้าวหน้ามากกว่ากฎหมายอย่างอื่นด้วยเหตุที่หลายประเทศได้บรรลุข้อตกลง กฎ กฎหมายรวมทั้งการปฏิบัติให้เป็นไปตามาตรฐานเดียวกัน ทูตพาณิชย์จากหลายประเทศรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกันร่างกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย ทรัพย์สินทางปัญญา ตราสารเอกสารทางด้านการเงินระหว่างประเทศ หรือ บรรษัทที่มีกิจการระหว่างชาติขนาดใหญ่ ได้ปรับปรุงกฎระเบียบวิธีการปฏิบัติให้ก้าวสู่การเป็นบริษัทระหว่างชาติด้วยการสร้างรูปแบบการปฏิบัติขนาดยักษ์ ด้วยผู้ชำนาญการนับพันคนในมากกว่าสิบประเทศ

โลกาภิวัตน์ทางด้านการเมือง(Globalization of Politics)

ในอดีต ระบบการเมืองของประเทศต่างๆทั่วโลก ต่างมุ่งเน้นไปที่ความพยายามที่จะผดุงไว้ซึ่งความมั่นคงและความมั่งคั่ง ความผาสุกของประชน การพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสิทธิมนุษยชนที่อยู่ภายใต้อาณัติเขตแดนของตน แต่ด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางด้านนิเวศน์ การผนึกกำลังกันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมทั้งแนวโน้มของกระแสโลกาภิวัตน์ทางด้านอื่น ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางด้านการเมืองขยายตัวสู่ระดับโลกตามไปด้วย ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ระบบการเมืองจำต้องปรับตัวให้สูงกว่าระดับประเทศ ด้วยการแผนยุทธศาสตร์ระดับโลก อาทิเช่น การสถาปนาสหภาพยุโรป(European Union- EU) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ ธนาคารโลก (World Bank) หรือองค์การการค้าโลก (World Trade Organization)

สรุป

  • โลกาภิวัตน์ เป็น กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระดับโลก
  • โลกาภิวัตน์ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของ ประชาคมโลกทุกด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง กฎหมาย เทคโนโลยีและวัฒนธรรม
  • ผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาคมโลก สามารถแยกออกเป็นสองแนวทาง คือ  
    ในทางลบ ผลกระทบนั้นจะหมายความรวมถึง
    - การครอบงำโลกทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอภิมหาอำนาจ โดยใช้ ความได้เปรียบที่เหนือกว่าทางด้านความก้าวหน้าทางสื่ออิเล็กโทรนิกส์ อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ทลายกำแพงแห่งวัฒนธรรมจนต้องถูกผนวกเข้าเป็นประเทศกึ่งบริวาร และประเทศบริวารในท้ายที่สุด
    ในทางบวก โลกาภิวัตน์ จะหมายความรวมถึง
    -การส่งเสริมปัจจัยทางด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี ระบบการผลิตข้ามพรหมแดน และการแพร่สะพัดของระบบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทำให้ประชาคมโลกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันและกันมากยิ่งขึ้น
    -นโยบายและสถาบันต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการผนึกกำลังทางด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งในระดับทวิและพหุภาคี อาทิเช่น มาตรฐานการใช้แรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การควบรวมกิจการ รวมทั้งข้อตกลงว่าด้วยการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา
    - ในความหมายนี้ โลกาภิวัตน์ มิได้เป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่เป็นผลพวงของนโยบาย ซึ่งสามารถจะเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ข้อเท็จจริงในสังคมไทย

  • สภาพสังคมไทยปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารแต่สังคมเกษตรกรรมทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ และสังคมอุตสาหกรรมก็ยังคงอยู่
  • สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีความสับสนและยุ่งเหยิงที่เกิดจากการเชื่อมต่อกันของยุคอุตสาหกรรม ยุคข้อมูลข่าวสารและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
  • คนไทยกว่าร้อยละสี่สิบ ยังคงเป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย