สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
เศรษฐกิจโลก
พัชรี สุวรรณศรี
สุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ
ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism) หรือระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน (Planned Economy)
ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐเข้าไปควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความยุติธรรมในการกระจายผลผลิตแก่ประชาชน นอกจากนี้รัฐบาลยังเป็นผู้ตัดสินใจในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยมีการวางแผนการดำเนินงานทางเศรษฐกิจจากส่วนกลาง ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้รัฐบาลจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ แต่ยังคงให้เอกชนมีสิทธิในการถือครองทรัพย์สินส่วนตัว อาทิ ที่พักอาศัย
หลักการสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หรือระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน มีหลักที่สำคัญ 2 ประการ คือ (สาขาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช 2538 : 63 )
- กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นขององค์การหรือหน่วยงานสาธารณะ (คือรัฐบาลและองค์การบริหารต่างๆ) ทั้งนี้เพื่อให้กิจกรรมผลิตสำคัญที่มีขนาดใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมดำเนินการในวิถีทางที่จะยังผลประโยชน์แก่ส่วนรวม
- รัฐเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชาติทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเป็นงานหน้าที่ของรัฐ โดยมีเป้าหมายให้บรรลุแผนเศรษฐกิจรวมของชาติ เพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม มีดังนี้คือ
- ประชาชนมีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจมากกว่าระบบที่ต่างคนต่างอยู่
- ประชาชนมีรายได้ใกล้เคียงกัน § เศรษฐกิจไม่ค่อยผันแปรขึ้นลงมากนัก
- รัฐจะครอบครองปัจจัยขั้นพื้นฐานไว้ทั้งหมด และความคุมกิจการสาธารณูปโภคทั้งหมด
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม มีดังนี้
- แรงจูงใจในการทำงานต่ำ เพระกำไรตกเป็นของรัฐ คนงานจะได้รับส่วนแบ่งตามความจำเป็น
- ผู้บริโภคไม่มีโอกาสเลือกสินค้าได้มาก
- ประชาชนไม่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการทำธุรกิจที่ตนเองมีความรู้ ความสามารถหรือต้องการจะทำ
- ไม่ค่อยมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพราะไม่มีการแข่งขัน สินค้าอาจไม่มีคุณภาพ
ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)
ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ หมายถึง ระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่รัฐเป็นเจ้าของทุนแลละปัจจัยการผลิตทุกชนิด โดยรัฐเป็นผู้กำหนดการตัดสินใจในทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด ซึ่งเป็นระบบที่ตรงกันข้ามกับระบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิง รัฐจะเข้ามาควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด โดยจะกำหนดว่าจะผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร เอกชนไม่มีสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินเพื่อการผลิตต่างๆ เช่น การถือครองที่ดิน เป็นต้น ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์นั้นพัฒนามาจากแนวความคิดทางเศรษฐกิจของคาร์ล มาร์ค (Karl Marx) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ซึ่งได้รับสมญานามว่า บิดาแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ และวาลาดิเนีย อิสยิช อัลยานอบ (Vladinir Ilych Ulyanov) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในนามของ เลนิน (Lenin) นักปฏิวัติโซเวียต ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองและนำระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์มาใช้กับสหภาพรัสเซียเป็นประเทศแรก
ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์มีลักษณะที่แตกต่างจากระบบทุนนิยม ที่เห็นได้เด่นชัด ดังนี้
- ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการเลือกสรรบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ตามความพอใจของตน เพระรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดสินค้าและบริการต่างๆ ให้ประชาชนเป็นผู้บริโภคตามความเหมาะสมและความจำเป็นเท่านั้น
- ประชาชนไม่มีกรรมสิทธิ์ในการถือครองและเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งสามารถนำไปผลิตสินค้าและบริการต่างๆ หรือนำไปแสวงหารายได้ เช่น ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ
- ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการเลือกทำงานหรืออาชีพตามอำเภอใจเพราะรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดการทำงานและค่าจ้างให้แก่ประชาชนตามความสามารถ ประชาชนจึงมีสภาพเป็นลูกจ้างของรัฐบาลทุกคน
- รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดการผลิตสินค้าและบริการ ว่าจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร ปริมาณมากน้อยเท่าใด เอกชนไม่มีเสรีภาพในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ได้เอง ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่จะใช้ผลิตสินค้าและบริการเป็นของรัฐ การกำหนดราคาสินค้าและบริการต่างๆ รัฐจะเป็นผู้กำหนดโดยไม่ใช้กลไกราคาดังเช่น ระบบทุนนิยม
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
- ไม่เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบของประชาชนในเชิงเศรษฐกิจ
- เกิดความเสมอภาค เพราะรัฐเป็นผู้แจกจ่ายผลผลิต ให้แก่บุคคลต่างๆ ในสังคมโดยเท่าเทียมกัน
- ไม่เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยผลิตรายใด
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์นั้น ความแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจมีน้อยกว่าระบบทุนนิยม เพราะประชาชนเป็นลูกจ้างของรัฐ แต่จากอดีตที่เป็นความจริง ปรากฏว่าระบบนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ คือ
- ประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการไม่พัฒนาเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรทั้งนี้เพราะขาดแรงจูงใจในการผลิตไม่มีผลกำไรที่เป็นสิ่งล่อใจ
- สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดโดยรัฐบาล
- การดำเนินงานล่าช้าเพราะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย มีลักษณะคล้ายกับระบบราชการ
ในปัจจุบันประเทศที่พอจะอนุโลมให้เป็นแบบอย่างของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ได้แก่ สหภาพโซเวียต (ซึ่งปัจจุบันล่มสลายไปแล้ว) สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์จริงๆ นั้นเป็นเพียงอุดมคติยังไม่มีประเทศใดก้าวไปถึง
ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
ระบบเศรษฐกิจแบบผสม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่รวมเอาลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมเข้าไว้ด้วยกัน ระบบเศรษฐกิจแบบผสม หรือที่เรียกกันโดยทั่วๆ ไปอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบเศรษฐกิจแบบ ทุนนิยมใหม่ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ทั้งรัฐบาลและเอกชนรับผิดชอบร่วมกันในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อันได้แก่จะผลิตอะไร ในปริมาณเท่าใด ผลิตอย่างไร และแบ่งปันผลผลิตในหมู่สมาชิกของสังคมอย่างไร ระบบนี้รัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทในการวางแผนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประการ ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้เอกชนดำเนินการทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่โดยอาศัยกลไกราคาเป็นเครื่องนำทาง
ลักษณะที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบผสม มีดังนี้
- เอกชนและรัฐบาลมีส่วนร่วมกันในการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเป็นการผลิตสินค้าและบริการอะไร ปริมาณมากน้อยเท่าใด และการกระจายสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปสู่ใครอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการร่วมมือกันทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล
- ทั้งเอกชนและรัฐบาลสามารถจะเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการอย่างเสรี แต่อาจมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการผลิตสินค้าและบริการบางประเภทที่รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าหากปล่อยให้เอกชนดำเนินงานอาจไม่ปลอดภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเอกชนอยู่ในฐานะที่เหมาะสมซึ่งจะดำเนินงานได้เพราะอาจจะขาดแคลนเงินทุน ขาดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ กิจกรรมดังกล่าวนี้ เช่น กิจกรรมสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การรักษาความปลอดภัย การป้องกันประเทศ เป็นต้น
- กลไกราคายังเป็นสิ่งที่สำคัญในการกำหนดราคาสินค้าและบริการต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบผสมนี้ แต่รัฐบาลยังมีอำนาจในการเข้าไปแทรกแซงภาคเอกชนเพื่อกำหนดราคาสินค้าให้มีเสถียรภาพและเกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
- รัฐจะคอยให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือ ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในภาคเอกชนด้วยการสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างถนน สะพาน สนามบิน ฯลฯ ไว้คอยอำนวยประโยชน์ต่อเอกชนในการดำเนินธุรกิจ
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
- เป็นการยกฐานะของคนในสังคมให้เท่าเทียมกันและเป็นการแลกเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยมเป็นแบบสังคมนิยม โดยสันติวิธีทางรัฐสภา
- รายได้ถูกนำมาเฉลี่ยให้ผู้ทำงานตามกำลังงานที่ได้กระทำ มิใช่ตามความจำเป็นแรงจูงใจในการทำงานจึงดีกว่า
- เอกชนยังมีบทบาททางเศรษฐกิจ มีการแข่งขัน สินค้าจึงมีคุณภาพสูง
- ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกสินค้าได้มากพอสมควร
- ความไม่เท่าเทียมในรายได้ และทรัพย์สินมีน้อย
ข้อเสียระบบเศรษฐกิจแบบผสม
- ระบบนี้มีการวางแผนเพียงบางส่วน จึงอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในกรณีที่ต้องการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น ยามสงคราม
- การควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนโดยรัฐ เป็นเครื่องกีดขวางเสรีภาพของเอกชน
- การวางแผนจากส่วนกลางเพื่อประสานประโยชน์ของรัฐบาลเข้ากับเอกชนให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมอย่างแท้จริงทำได้ยาก
- นักธุรกิจขาดความมั่นใจในการลงทุน เพราะไม่แน่ใจว่าในอนาคตกิจกรรมของตนจะถูกโอนเป็นของรัฐหรือไม่
- การบริหารงานอุตสาหกรรมของรัฐมีประสิทธิภาพไม่ดีไปกว่าสมัยที่อยู่ในมือของเอกชน
» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก
» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์