สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ดุจฤดี คงสุวรรณ์
วรรณะ รัตนพงษ์

วัฒนธรรม

ความหมายของวัฒนธรรม

วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น กำหนดขึ้น มิใช่สิ่งที่มนุษย์ทำตามสัญชาตญาน อาจเป็นการประดิษฐ์วัตถุสิ่งของขึ้นใช้ หรืออาจเป็นการกำหนดพฤติกรรมและ/หรือความคิด ตลอดจนวิธีการหรือระบบการทำงาน ฉะนั้นวัฒนธรรมก็คือ ระบบในสังคมมนุษย์ที่มนุษย์สร้างขึ้น มิใช่ระบบที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติตามสัญชาตญาน

คำว่า “วัฒนธรรม” มาจากภาษาอังกฤษว่า Culture และคำว่า Culture มีรากศัพท์มาจากคำเดิมในภาษาละตินคือ Cultura ซึ่งมีความหมายหลายอย่าง เช่น การเพาะปลูก การปลูกฝัง การปลูกพืช การทำให้ดีกว่าเดิม โดยการอบรมหรือฝึกหัด ดังนั้น ความหมายของวัฒนธรรมในอีกนัยหนึ่งหมายถึง ความเจริญงอกงามเทียบได้กับความเจริญเติบโตของพืช ดังนั้น สิ่งใดก็ตามหากมีการเจริญขึ้นด้วยการศึกษาอบรมจะอยู่ในขอบข่าย ความหมายของคำว่า วัฒนธรรมได้ทั้งสิ้น

วัฒนธรรมเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในสังคมเดียวกัน ทำความตกลงกันว่าจะยึดระบบไหนดี พฤติกรรมใดบ้างที่จะถือเป็นพฤติกรรมที่ควรปฏิบัติและมีความหมายอย่างไร แนวความคิดใดจึงจะเหมาะสม ข้อตกลงเหล่านี้คือการกำหนดความหมายให้กับสิ่งต่าง ๆในสังคม เพื่อว่าสมาชิกของสังคมจะได้เข้าใจตรงกันและยึดระบบเดียวกัน หรืออีกนัยหนึ่ง เราอาจเรียกระบบที่สมาชิกในสังคมได้ตกลงกันแล้วนี้ว่า ระบบสัญลักษณ์ ดังนั้นวัฒนธรรมก็คือระบบสัญลักษณ์ในสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วจึงสอนให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้เรียนรู้หรือนำไปปฏิบัติ วัฒนธรรมจึงต้องมีการเรียนรู้และมีการถ่ายทอด เมื่อมนุษย์เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม มนุษย์ก็รู้ว่าอะไรคือ ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม และส่วนใหญ่แล้วมนุษย์จะรู้ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมาก

ประเภทของวัฒนธรรม

เมื่อพิจารณาวัฒนธรรมในสังคม เราอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
(1) วัฒนธรรมที่เป็นสัญลักษณ์หรือเป็นนามธรรมและจับต้องไม่ได้ ได้แก่ภาษาพูด ระบบความเชื่อ โลกทัศน์ กิริยา มารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณี และ
(2) วัฒนธรรมทางด้านวัตถุหรือรูปธรรม เช่น อาคารบ้านเรือน วัดและศิลปกรรม ประติมากรรมต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการแบ่งวัฒนธรรมออกเป็นวัฒนธรรมนามธรรมหรือวัฒนธรรมรูปธรรมจะเป็นการแบ่งที่แยกกันได้อย่างเด็ดขาด การแบ่งในลักษณะที่ว่านี้เป็นการแบ่งเพื่อความสะดวกในการพิจารณาวัฒนธรรมเท่านั้น ตามความเป็นจริงวัฒนธรรมประเภทวัตถุสามารถสื่อความหมายและมีลักษณะเป็นระบบสัญลักษณ์ที่จับต้องได้ บ้านเรือนที่เราอยู่มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมประเภทวัตถุ แต่ถ้าเราพิจารณาลักษณะของบ้านเรือนเราก็จะเห็นว่าบ้านที่มนุษย์เราใช้อาศัยอยู่นั้นอาจจะสร้างด้วยวัตถุที่ต่างกัน เช่น กระท่อมหลังคามุงจากย่อมแตกต่างจากบ้านไม้สัก หรือตึกคอนกรีต นอกจากจะต่างกันตรงวัสดุที่ใช้แล้วยังต่างกันตรงที่ลักษณะของอาคารจะบอกให้คนในสังคมนั้นรู้ได้ว่า เจ้าของบ้านมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร เศรษฐีย่อมอยู่ตึกหลังใหญ่ คนจนมักจะอาศัยอยู่ในกระท่อม ถ้ากระท่อมตั้งอยู่ในหมู่บ้านตามต่างจังหวัดก็ย่อมต่างจากกระท่อมที่ตั้งอยู่ในสลัมกรุงเทพฯ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมประเภทวัตถุย่อมให้ความหมายทางสัญลักษณ์ด้วย

กระบวนการทางวัฒนธรรม

หลังจากที่ได้มีวิวัฒนาการและการเกิดวัฒนธรรมดังได้กล่าวไว้แล้วโดยชี้ให้เห็นถึงวิธีการปรับตัวของมนุษย์เข้ากับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและวัฒนธรรมที่อยู่ข้างเคียง ย่อมต้องมีการผสมผสาน กลมกลืนทางวันธรรมระหว่างกัน ด้วยกระบวนการทางวัฒนธรรมต่อไปนี้

1) การถ่ายทอดวัฒนธรรม วัฒนธรรม คือ ระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นและมิใช่ระบบที่เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาน ย่อมหมายความว่าวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้โดยผ่านการถ่ายทอด การถ่ายทอดวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การที่พ่อแม่สอนลูก ผู้ใหญ่สอนผู้น้อย ผู้มาก่อนสอนผู้มาทีหลัง เป็นต้น โดยที่ต้องยอมรับในเบื้องต้นถึงลักษณะบางอย่างของวัฒนธรรมว่าเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา มนุษย์ที่อยู่คนละสังคมย่อมจะมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน กล่าวคือสังคมที่ต่างกันจะมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน

2) การรับวัฒนธรรมจากสังคมอื่น เป็นการรับวัฒนธรรมจากสังคมข้างเคียงที่สอดคล้องกับของเดิมที่มีอยู่และไม่ขัดกับค่านิยมหลักของสังคม จนในที่สุดก็จะแยกไม่ออกว่าวัฒนธรรมส่วนใดเป็นของเดิมและวัฒนธรรมส่วนใดรับมาจากสังคมอื่น การรับเอาวัฒนธรรมของสังคมอื่นมาในระยะแรกอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการยืมวัฒนธรรม แต่เมื่อนานๆ เข้าการยืมก็จะกลายเป็นการรับวัฒนธรรม การยืมวัฒนธรรมและการรับวัฒนธรรมนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ในกระบวนการทางวัฒนธรรมที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งนำโดยฟรานส์ โบแอส (Franz Bosa) แห่ง มหาวิทยาโคลอมเบียเรียกว่า “การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม” กล่าวคือ เป็นการเคลื่อนที่ของวัฒนธรรมจุดศูนย์กลางของสังคมหนึ่งและขยายวงกว้างออกไปยังชุมชนอื่นหรือสังคมอื่น

3) การผสมกลืนกลายทางวัฒนธรรม ท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่าการถ่ายทอดวัฒนธรรมภายในสังคมเดียวกันที่เรียกว่า การสืบทอดวัฒนธรรมในแนวตั้งจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ในกระบวนการเรียนรู้ที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูก (enculturation) ส่วนการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่งเป็นการที่สังคมหนึ่งยอมรับวัฒนธรรมของสังคมอื่นและเกิดการปรับวัฒนธรรมให้เข้ากัน (acculturation) โดยที่มีการละทิ้งวัฒนธรรมเดิมของตัวเองบางส่วน และทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม และทำให้เอกลักษณ์เดิมเปลี่ยนไป บางครั้งใช้ความหมายของการผ่อนปรนเข้าหากัน

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย