สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
การเมืองระหว่างประเทศ
ณัฐพงศ์ รักงาม
การเมืองระหว่างประเทศ (International Politics)
การเมืองระหว่างประเทศมีสภาพเหมือนและแตกต่างกับการเมืองภายในประเทศ ที่มีสภาพเหมือนกัน คือ การเมืองระหว่างประเทศมีลักษณะเป็นการต่อสู้ระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งมีจุดประสงค์จะจูงใจหรือบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมตามที่ต้องการ ส่วนที่แตกต่างกับการเมืองในประเทศ คือ การเมืองระหว่างประเทศเป็นการต่อสู้แข่งขันที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่ามีวิธีการอะไรที่นำมาปฏิบัติไม่ได้ และยังไม่มีผู้ตัดสิน ขาดองค์การกลางที่จะลงโทษประเทศที่ละเมิดกฎเกณฑ์บางอย่างที่ยอมรับกัน ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จึงมักจะใช้วิธีการทุกอย่างที่จะให้ประโยชน์แก่ตน โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมแต่ละประเทศจึงพยายามแข่งขันกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของชาติตน
การเมืองระหว่างประเทศ มีความหมายดังต่อไปนี้
การใช้อำนาจ (Power) ระหว่างรัฐ
เช่นกรณีอเมริกาใช้อำนาจกับอิหร่านเพื่อบีบบังคับให้อิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์ อำนาจ (Power) คือ ความสามารถหรือขีดความสามารถหรือปริมาณความสามารถของผู้แสดงบทบาทระหว่างประเทศซึ่งผู้แสดงบทบาทระหว่างประเทศ (International Actors) มีทั้งที่เป็นรัฐและที่ไม่ใช่รัฐ ได้แก่ องค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น ในการทำให้ผู้แสดงบทบาทอื่นกระทำในสิ่งที่ตนต้องการให้กระทำ หรือละเว้นกระทำในสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการให้กระทำ โดยใช้วิธีการ 2 วิธี คือ
- ใช้วิธีการรุนแรง เช่น ใช้การบังคับ ข่มขู่ การคุกคามทางทหาร การแซงชั่น สงคราม เป็นต้น
- ใช้วิธีการไม่รุนแรง เช่น โน้มน้าว จูงใจ ให้รางวัล การให้สิ่งตอบแทน การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ การให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ เป็นต้น
กรณีที่อเมริกาจะเกิดอำนาจขึ้นมาได้นั้น อเมริกาจะใช้ความสามารถของตนเอง เช่น กรณีสงครามอิรักนั้นอเมริกาใช้วิธีการแบบรุนแรงที่จะทำให้อิรักนั้นปฏิบัติตามความต้องการของอเมริกา นั่นคือ ต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบการปกครองเผด็จการของซัดดัม ฮุสเซนไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ยุติโครงการนิวเคลียร์ อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ นอกจากนี้อเมริกายังต้องการให้อิรักยุติการส่งเสริม การช่วยเหลือ การสนับสนุนการก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนการ ก่อวินาศกรรม 911 (ตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์)
หลังจากเหตุการณ์ 911 อเมริกามองว่าอิรักสนับสนุนขบวนการอัลเคดาร์ของบิน ลาเดน จึงต้องการกำจัดผู้นำหรือรัฐที่ส่งเสริมการก่อการร้าย โดยข้ออ้างทั้งหลายเหล่านี้อเมริกาบีบบังคับอิรัก ให้ซัดดัมยุติโครงการต่างๆ และให้ลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่ปรากฏว่าซัดดัมไม่ยอม ในที่สุดอเมริกาก็ใช้สงครามจัดการกับอิรักในปี 2003 ทำให้อิรักเปลี่ยนแปลงการปกครองและยุติการส่งเสริมการก่อการร้าย
เมื่ออเมริกาใช้สงครามเป็นเครื่องมือสำเร็จ อเมริกาก็เกิดอำนาจขึ้น แต่ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่เกิดอำนาจ หรือกรณีอเมริกาใช้การคุกคามทางทหารต่อเกาหลีเหนือ ต้องการให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์ อเมริกาบอกว่าถ้าหากเกาหลีเหนือไม่ยุติโครงการดังกล่าวจะเกิดสงครามแบบอิรัก แต่เกาหลีเหนือไม่สนใจ กลับเร่งผลิตนิวเคลียร์ขึ้นมา ปรากฏว่าเกาหลีเหนือก็ประกาศว่าตนเองมีอาวุธนิวเคลียร์ ในที่สุดอเมริกาก็ถอย เมื่ออเมริกาใช้อำนาจไม่สำเร็จ อเมริกาก็หันมาใช้วิธีการแบบไม่รุนแรง นั่นคือ โน้มน้าว จูงใจ ให้รางวัล โดยบอกว่าถ้าเกาหลีเหนือเปลี่ยนมาเป็นการใช้พลังงานน้ำแล้วอเมริกาจะช่วยเหลือในการพัฒนาพลังงานน้ำ, เศรษฐกิจ ฯลฯ ในที่สุดเกาหลีเหนือก็หันมาสู่การเจรจา 6 ฝ่าย เป็นต้น ถ้าอเมริกาทำได้สำเร็จโดยเกาหลีเหนือยอมยุติโครงการนิวเคลียร์แสดงว่าอเมริกามีอำนาจ
มีความขัดแย้งในเรื่องการใช้อำนาจระหว่างรัฐ
เช่น กรณีอเมริกา-เกาหลีเหนือ อเมริกาพยายามใช้อำนาจเพื่อให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์ ในขณะที่เกาหลีเหนือก็ใช้อำนาจที่จะทำให้อเมริกายุติการข่มขู่ คุกคามที่จะใช้สงครามเป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้น ก็เกิดความขัดแย้งด้านอำนาจเกิดขึ้น เกิดการเมืองระหว่างประเทศเกิดขึ้น นอกจากนี้ อาจมีความขัดแย้งในเรื่องการใช้อำนาจในทางเศรษฐกิจก็ได้ อำนาจ ในที่นี้ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นอำนาจทางการเมืองเท่านั้น เพราะ อำนาจ มี 3 อย่าง คือ
- อำนาจทางการเมือง
- อำนาจทางเศรษฐกิจ และ
- อำนาจด้านการทหาร
ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางด้านใดก็ตาม ถ้ามีการใช้อำนาจระหว่างรัฐเกิดขึ้นก็ถือว่าการเมืองระหว่างประเทศเกิดขึ้นแล้ว เมื่อมีความขัดแย้งในเรื่องอำนาจระหว่างรัฐเกิดขึ้นก็ถือว่าการเมืองระหว่างประเทศเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน
» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก
» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์