สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
เศรษฐกิจโลก
พัชรี สุวรรณศรี
สุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ
ระบบเศรษฐกิจ
ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน ย่อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพในสังคม การผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจก็ตาม สังคมทุกรูปแบบไม่ว่าจะมองในแง่ส่วนบุคคลแต่ละคนหรือในแง่เป็นหมู่คณะ ต่างก็มีความต้องการในสินค้าและบริการมากกว่ากำลังการผลิตเสมอ ยิ่งสังคมเจริญก้าวหน้ามากขึ้นก็จะก่อให้เกิดการขยายตัวของความต้องการชนิดใหม่ หรือความต้องการชนิดใหม่ในรูปแบบเก่าอยู่ตลอดเวลา ความต้องการทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางสติปัญญา และจินตนาการมีมากมายหลายรูปแบบ และโดยแท้จริงแล้ว ความต้องการต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดมักจะมีจุดอิ่มตัวได้ เช่น เมื่อหิวคนเราต้องการอาหารจำนวนเต็มจำนวนหนึ่ง แต่เมื่ออิ่มก็ไม่ต้องการอาหารอีกจนกว่าจะเกิดความหิวและต้องการอาหารขึ้นมาใหม่ แต่ความต้องการทั้งหมดของคนเรานั้นไม่มีขอบเขตหรือไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อมนุษย์มีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตครบถ้วนแล้วก็เริ่มมีความต้องการที่พิเศษออกไป เช่น อยากรับประทานอาหารรสเลิศตามสถานที่หรู ๆ ชุดเดินเล่น ฯลฯ ความต้องการต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อแบ่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องมีวิธีการตัดสินว่าความต้องการชนิดใดมีความสำคัญกว่ากัน เพื่อจะได้จัดเข้าเป็นความต้องการที่ได้รับการบำบัดก่อนหลัง การจัดลำดับความสำคัญของความต้องการและการหาสรรพสิ่งต่างๆ มาบำบัดความต้องการนี้เองเป็นหน้าที่การดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจ
ระบบเศรษฐกิจ (Economic System)
หมายถึงหน่วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อยมากมายมารวมตัวกันดำเนินการผลิตในสังคมโดยใช้หลักการแบ่งงานกันตามความถนัด มีการปฏิบัติภายใต้ระเบียบ กฎเกณฑ์ นโยบาย และแนวทางการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน หน่วยเศรษฐกิจ คือ หน่วยงานที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ จะทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจอันได้แก่การผลิต การบริโภค และการแจกจ่ายสินค้าและบริการ
หน่วยเศรษฐกิจเป็นหน่วยงานที่มีอยู่ในแต่ละระบบเศรษฐกิจจะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยครัวเรือนหรือผู้บริโภค หน่วยธุรกิจหรือผู้ผลิต และองค์การของรัฐบาล โดยจะทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
- หน่วยครัวเรือนหรือผู้บริโภค อาจจะเป็นบุคคลคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ซึ่งจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ทรัพยากร สมาชิกของครัวเรือนอาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เป็นแรงงานเป็นผู้ประกอบการของกิจกรรมหนึ่งกิจกรรมใดในระบบเศรษฐกิจก็ได้ ถ้าเป็นเจ้าของที่ดินก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าเช่า ถ้ารับจ้างทำงานก็จะได้ค่าจ้าง ถ้านำเงินให้กู้ยืมก็จะได้ดอกเบี้ย ถ้าเป็นผู้ประกอบการจะได้ผลตอบแทนในรูปของกำไรหรือขาดทุน แต่ทุกครัวเรือนจะต้องมีการบริโภคทั้งสิ้นและเป้าหมายหลักของผู้บริโภคเหล่านี้ก็คือความพึงพอใจสูงสุดนั้นเอง
- หน่วยธุรกิจหรือผู้ผลิต เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ในการนำเอาปัจจัยการผลิตดังกล่าวข้างต้นมาทำการผลิตสินค้าและบริการ และนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคหน่อยธุรกิจประกอบด้วยผู้ผลิตและผู้ขาย ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้ โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ แสวงหากำไรสูงสุด
- องค์การของรัฐบาล เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยราชการต่างๆ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานตามนโยบาย โดยจะทำหน้าที่ในระบบเศรษฐกิจแทนรัฐบาล และสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะมีบทบาทมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมรัฐบาลจะควบคุมหน่วยธุรกิจและครัวเรือนน้อยหรือบางอย่างไม่ควบคุมเลย แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจะควบคุมทั้งหน่วยธุรกิจและหน่วยครัวเรือนมากกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น
ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ย่อมมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการที่รัฐบาลจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจัดตั้งสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic Institution) และให้ผู้ใดเป็นเจ้าของทรัพย์สินความมั่งคั่ง ตลอดจนวางข้อบังคับและวิธีการควบคุมด้วย ดังนั้นการที่แต่ละสังคมมีขนบธรรมเนียมประเพณีและระบบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันไป ทำให้วิธีการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร การตัดสินใจปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าจะเลือกวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ
ระบบเศรษฐกิจสามารถจำแนกออกเป็น 4 ระบบด้วยกัน คือ ระบบทุนนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และแบบผสม โดยมีลักษณะสำคัญและข้อดี-ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้
» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก
» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์