สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

เศรษฐกิจโลก

พัชรี สุวรรณศรี
สุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ

สังคมกับเศรษฐกิจ

คำว่า “เศรษฐกิจ” (Economy) มาจากกรีกว่า “oikos” แปลว่าบ้าน(House) และ “Nemein” แปลว่า การจัดการ (to manage) ถ้าแปลตามศัพท์ “เศรษฐกิจ” จึงหมายถึง การจัดการครอบครัว (Household management) คือ มีความชำนาญในการจัดการเรื่องครอบครัว (Skilled in the management of a household) ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Economics” หรือ เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์การศึกษาเรื่องเศรษฐกิจ ก็คือการศึกษาถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาหนึ่งในวิชาสังคมศาสตร์ศึกษาถึงเรื่องของมนุษย์และเศรษฐกิจควบคู่กันไป การศึกษาเรื่องเศรษฐกิจจึงเป็นการศึกษาในวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นเอง

ในสมัยโบราณมนุษย์มีความเป็นอยู่และดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ประชากรมีจำนวนน้อยทรัพยากรมีจำนวนมากและอุดมสมบูรณ์ ความต้องการส่วนใหญ่เป็นเพียงปัจจัยสี่ที่ประกอบด้วย อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ปัจจัยดังกล่าวคนในครอบครัวผลิตขึ้นใช้เอง แต่ก็อาจจะมีแลกเปลี่ยนกันบ้างระหว่างครอบครัวที่อยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน การแลกเปลี่ยนในระยะเวลาแรกๆ เป็นการนำเอาสิ่งของมาแลกกับสิ่งของโดยตรง (Barter system) เช่น เอาไข่มาแลกกับเสื้อผ้า เอาเกลือมาแลกข้าว เป็นต้น ปัญหาทางเศรษฐกิจก็มีน้อย ส่วนใหญ่เป็นเพียงปัญหาเศรษฐกิจภายในครอบครัว

ต่อมาเมื่อสังคมขยายตัว ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการของประชากรเริ่มเปลี่ยนจากความต้องการเพียงปัจจัยสี่มาเป็นความต้องการที่มีไม่จำกัดจำนวนและไม่สิ้นสุด (Unlimited Wants) ความต้องการเหล่านี้ได้แก่ ความต้องการสิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีพและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยแห่งความเจริญของสังคม เช่น ความต้องการตู้เย็น วีดิโอเทป เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า รถยนต์ การบริการสถานพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนการบันเทิงต่างๆ เป็นต้น แต่ความต้องการชนิดต่างๆ นี้ ประชาชนไม่ได้รับการบำบัดเสมอไป ทุกสังคมมนุษย์ประสบการขาดแคลนสิ่งที่ต้องการมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ทั้งนี้เพราะทรัพยากรในโลกนี้มีจำนวนจำกัด และกระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าประชาชนในสมัยปัจจุบันมีความสามารถที่จะนำเอาทรัพยากรต่างๆ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคนิคและวิทยาการด้านต่างๆ แต่สังคมของมนุษย์ยิ่งมีความเจริญมากขึ้นเท่าใด ความต้องการสิ่งของและบริการใหม่ๆ ก็ยิ่งขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น ทรัพยากรต่างๆ จึงเกิดการหายาก (Scarcity) ขึ้นในระบบเศรษฐกิจนั้นๆ จากพฤติกรรมดังกล่าวมานี้ จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงกรรมวิธีในการสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดหรือทรัพยากรที่หายากให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์และสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

มนุษย์ทุกคนในสังคมมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด จะเห็นได้จากชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ก็จะต้องมีเรื่องที่ต้องคิด ต้องทำ และต้องพิจารณาตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา เช่น ตื่นเช้า แต่งตัวออกจากบ้านไปทำงาน ปัญหาเริ่มจากการเดินทาง แล้วก็เรื่องอาหาร การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องอาหาร ซึ่งมีทั้งเรื่องของความพอใจและงบประมาณ รวมทั้งประโยชน์ที่จะต้องพิจารณาร่วมด้วย เพื่อให้ได้รับความพอใจสูงสุดภายใต้วงเงิน หรือรายได้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ถ้าหัวหน้าครอบครัวสามารถทำงานหารายได้มาสู่ครอบครัวได้มากและสม่ำเสมอไม่มีหนี้สิน และมีเงินเหลือเก็บสะสมอีก คนในครอบครัวมีการกินดีอยู่ดี เรียกว่าครอบครัวมีภาวะเศรษฐกิจดี ชุมชนเศรษฐกิจดี สังคมเศรษฐกิจดี ส่วนในภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้น วัดได้จากความเป็นอยู่และมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในประเทศ โดยวัดจากรายได้หลังหักภาษีแล้ว (Disposable) ประชาชนภายในประเทศมีความเป็นอยู่ดี มีสินค้าและบริการใช้อย่างเพียงพอ ประชาชนส่วนใหญ่มีงานทำ มีรายได้สูง เพียงพอที่จะใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น และเหลือเก็บออมได้บ้าง ไม่มีปัญหาการว่างงาน การขาดดุลการค้า และดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจดี จะเห็นได้ว่าชีวิตของทุกๆ คนในสังคมอยู่ทามกลางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว ที่อาศัยในสังคมจึงหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจไม่ได้

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย