สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ดุจฤดี คงสุวรรณ์
วรรณะ รัตนพงษ์

วัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์

ความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์

คนทั่วไปมักใช้คำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” ในความหมายเดียวกับคำว่า “ชนกลุ่มน้อย / ชาวเขา /      ชนเผ่า” เท่านั้นเนื่องจากคำว่า “ชาติพันธุ์” เป็นคำใหม่ในภาษาไทย ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่อง   “ชาติพันธุ์” จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบความหมายในเรื่อง “เชื้อชาติ” และ “สัญชาติ” ร่วมด้วยดังนี้

1) เชื้อชาติ (Race) เชื้อชาติ คือ ลักษณะทางชีวภาพของคน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากลักษณะรูปพรรณ สีผิว   เส้นผม และตา การแบ่งกลุ่มเชื้อชาติ มักแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ นิกรอยด์ (Negroid) มองโกลอยด์ (Mongoloid) และคอเคซอยด์ (Caucasoid) ต่อมาในตอนหลังได้เพิ่มออสตราลอยด์ (Australoid)  โพลินีเชียน (Polynesian) โอโรโม อัมฮารา ทิเกรย์ โซมาเลีย กูราจ ซิดามา โวเลย์ตา อฟาร์ ฮาดิยา   กาโม ฯลฯ

การแบ่งแยกกลุ่มคนตามลักษณะทางชีวภาพนี้ มีความสำคัญในสังคมที่สมาชิกในสังคมมาจากบรรพบุรุษที่ต่างกัน และมีสีผิวและรูปพรรณสัณฐานที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความแตกต่างระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ ในสังคมที่มีกลุ่มคนที่มีลักษณะทางชีวภาพต่างกันและประวัติความเป็นมาตลอดจนบทบาทในสังคมต่างกัน ความแตกต่างทางชีวภาพอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันได้ แต่ในบางสังคม เช่น สังคมไทย ความแตกต่างทางชีวภาพไม่มีความหมายเท่าใดนัก

   

2) สัญชาติ (Nationality)

สัญชาติ คือ การเป็นสมาชิกของประเทศใดประเทศหนึ่งตามกฎหมาย โดยที่ลักษณะทางชีวภาพและวัฒนธรรมอาจแตกต่างกันได้ การเป็นสมาชิกของประเทศย่อมหมายถึงการเป็นประชาชนของประเทศนั้น ผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาตั้งถิ่นฐานสามารถโอนสัญชาติมาได้ ผู้ที่เปลี่ยนสัญชาติ คือ ผู้ที่เปลี่ยนฐานะจากการเป็นประชาชนของประเทศหนึ่งมาเป็นประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง

3) ชาติพันธุ์ (ethnicity หรือ ethnos)

ชาติพันธุ์ คือ การมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูดเดียวกัน และเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกัน เช่น ไทย พม่า กะเหรี่ยง จีนลาว เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรมมีลักษณะเด่นคือ เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน บรรพบุรุษในที่นี้หมายถึงบรรพบุรุษทางสายเลือด ซึ่งมีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณ (เชื้อชาติ) เหมือนกัน รวมทั้งบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมด้วย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจะมีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือด และทางวัฒนธรรมพร้อมๆ กันไปเป็นความรู้สึกผูกพันที่ช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของบุคคลและของชาติพันธุ์ และในขณะเดียวกันก็สามารถเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นับถือศาสนาเดียวกันความรู้สึกผูกพันนี้อาจเรียกว่า “สำนึก” ทางชาติพันธุ์ หรือชาติลักษณ์ (ethnic identity)

ตัวอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ 56 กลุ่มในประเทศจีน ที่ถูกเรียกรวมๆว่า “Inner Mongolia” ประกอบด้วย Han Chinese, Zhuang, Manchu, Hui (Chinese Muslims), Miao, Uyghur, Yi, Tujia, Mongolian, Tibetan, Buyei, Dong, Yao, Korean, Bai, Akha Li, Kazak, Dai, She, Lisu, Gelao, Lahu, Dongxiang Va, Shui, Nakhi, Qiang, Tu, Xibe, Mulao, Kyrgyz Daur, Jingpo, Salar, Blang, Maonan, Tajik, Pumi, Achang Nu, Ewenki, Vietnamese, Jino, De'ang, Uzbeks, Russian, Yugur Bonan, Monba, Oroqen, Derung, Tatars, Hezhen, Lhoba และ Taiwanese Aboriginal People

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ จะส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีได้ถ้าเข้าใจว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร แม้จะมีความเข้าใจระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นก็ตามในสังคมโลกปัจจุบันยังคงมีการแบ่งแยกระหว่างชาติพันธุ์เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ในที่นี้ผู้เรียบเรียงจักได้นำเสนอถึงสาเหตุของการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสามารถสรุปได้ 5 ลักษณะ กล่าวคือ

1) เกิดจากการแบ่งแยกโดยวัฒนธรรมชนชั้น
ในสังคมบางสังคมมีการแบ่งชนชั้นและคนที่อยู่ในชนชั้นต่ำที่สุด จะถือเป็นกลุ่มชนที่อยู่นอกระบบสังคมนั้น เช่น วรรณะจัณฑาลในอินเดีย เอทาหรือบูราคูในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น คนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ถูกสังคมระบุว่าเป็นคนชนชั้นต่ำ ถือว่าเป็นผู้ที่น่ารังเกียจและไม่ควรอยู่ร่วมสังคมกับสมาชิกส่วนใหญ่ จนกลายเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคมนั้น เป็นผู้ที่ปราศจากศักดิ์ศรี ไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิทางสังคมเท่าเทียมคนอื่น ปัจจุบันทั้งประเทศอินเดียและประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายยกเลิกวรรณะจัณฑาลและบูราคูแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีการกีดกันอยู่ความแตกต่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันนี้ ถือเป็นรูปแบบความแตกต่างทางชาติพันธุ์รูปแบบหนึ่ง นั่นเอง

2) เกิดจากการแบ่งแยกจากลักษณะทางภูมิศาสตร์
กลุ่มชนที่มีชาติพันธุ์ต่างจากคนส่วนใหญ่ และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ห่างไกล เช่น ชาวเขา มักจะถูกตัดขาดจากสังคมพื้นราบโดยไม่ได้รับข่าวสารอย่างสม่ำเสมอจากคนพื้นราบในส่วนกลาง การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดีนั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและอาจทำให้มีปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจรัฐได้ ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลได้พยายามติดต่อสื่อสารกับชาวเขาอยู่เสมอ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขากับรัฐบาลไทยจึงมักไม่เกิดปัญหาเท่าใดนัก

3) เกิดจากการผนวกดินแดน
การขยายอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยการผนวกดินแดนเพิ่ม อาจเกิดจากการตกลงกันตามสนธิสัญญา หรือเกิดจากการขยายดินแดนหลังจากชนะสงคราม ตัวอย่างของการตกลงตามสนธิสัญญาคือ กรณีสหรัฐอเมริกาซื้อดินแดนซึ่งปัจจุบันคือรัฐในภาคตะวันออกเฉียงใต้บางรัฐ ตามสนธิสัญญา เรียกว่า “Louisiana Purchase” ในปี ค.ศ. 1803 หรือการที่สหรัฐอเมริกาซื้อดินแดนซึ่งปัจจุบันคือรัฐอลาสกา ในปี ค.ศ. 1867 ส่วนตัวอย่างของการสู้รบระหว่างเพื่อนบ้านและฝ่ายที่ชนะสามารถผนวกดินแดนข้างเคียงเพิ่มขึ้น คือ กรณีการขยายอาณาจักรต่างๆ ในบริเวณแหลมทองของทวีปเอเชียได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย ทวาราวดี ศรีวิชัย ล้านนา ล้านช้าง อโยธยา ฯลฯ ซึ่งสามารถขยายดินแดนให้กว้างใหญ่ขึ้นได้ โดยการยกทัพสู้รบกัน และฝ่ายที่ชนะเป็นฝ่ายที่สามารถขยายอาณาจักรได้

4) เกิดจากการย้ายถิ่น
ความแตกต่างทางชาติพันธุ์อาจมีสาเหตุมาจากการที่คนจำนวนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในสังคมอื่น โดยที่คนกลุ่มนี้มีลักษณะทางวัฒนธรรมแตกต่างจากคนในสังคมที่ตนย้ายเข้าไปอยู่ รูปแบบของการย้ายถิ่นมีได้หลายรูปแบบ เช่นกลุ่มชาติพันธุ์จีนและแขก (อินเดีย) ในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ยุโรปในประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

5) เกิดจากการตกเป็นประเทศอาณานิคม
ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในประเทศอาณานิคม มีลักษณะแตกต่างจากกรณีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้ง 4 กรณี ทั้งนี้ เพราะอาณานิคมเกิดจากการที่มหาอำนาจเข้ามามีอำนาจในการเมืองการปกครองของประเทศอื่น ผู้อพยพเข้ามาเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่า และสามารถออกกฎหมายบังคับต่างๆนานา ทำให้เจ้าของประเทศ ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า มีลักษณะของผู้อยู่ใต้ปกครอง และต้องยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของประเทศมหาอำนาจ ประเทศมหาอำนาจมักจะจับจองที่ดินขนาดใหญ่ และว่าจ้างคนพื้นเมืองไปเป็นกรรมกรในไร่นา มีผลทำให้คนพื้นเมืองมีลักษณะเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง หรือลูกจ้างในอาณัติของมหาอำนาจ ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเป็นผู้บุกรุกเข้ามาในดินแดนของตน โดยทั่วไปจำนวนของผู้ที่อพยพมาจากประเทศมหาอำนาจมีไม่มากนัก แต่คนกลุ่มนี้ก็สามารถจับจองที่ดิน และทำธุรกิจจนถึงขนาดเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคมได้ อย่างกรณีประเทศซิมบับเว ปรากฏว่า ในปี ค.ศ. 1931 คนผิวขาวเป็นเจ้าของที่ดินเกือบร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ประชากรผิวขาวมีประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย