ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
๔. พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก
๔.๑ พระอานนท์
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ทรงแสดงธรรมโปรดเจ้าลัทธิต่าง ๆ กับทั้งพระราชาและมหาชนในแว่นแคว้นต่าง ๆ
ในปลายปีแรกที่ตรัสรู้นั่นเอง พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระพุทธบิดา
ทรงส่งทูตไปทูลเชิญพระศาสดาให้ไปแสดงธรรมโปรด ณ กรุงกบิลพัสดุ์
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติแล้ว
พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใสให้พระโอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก
พระอานนท์ เดิมเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้า
สุทโธทนะ เมื่อนับเชื้อสายแล้วจึงเป็นพระอนุชาหรือลูกผู้น้องของพระพุทธเจ้า
ท่านออกบวชพร้อมกับราชกุมารฝ่ายศากยวงศ์ ๔ พระองค์ คือ อนุรุทธะ ภัคคุ กิมพิละ
ภัททิยะ ฝ่ายโกลิยวงศ์ ๑ พระองค์ คือ เทวทัต และนายภูษามาลา มีหน้าที่เป็นช่างกัลบก
๑ คน คือ อุบาลี รวมทั้งสิ้น ๗ ท่าน
ในจำนวนนี้มีชื่อเสียงปรากฏและเป็นที่กล่าวถึงอยู่ ๔ ท่าน คือ
๑. พระอานนท์ เป็นพุทธอุปัฏฐาก มีความทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก
๒. พระอนุรุทธะ ชำนาญในทิพยจักษุ (มีตาทิพย์)
๓. พระอุบาลี มีความทรงจำพระวินัยได้มาก
๔. พระเทวทัต เป็นผู้ทำสังฆเภท คือก่อความแตกแยกในหมู่สงฆ์ เป็นผู้ทำโลหิตุปบาท คือ
ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต
สุดท้ายถูกแผ่นดินสูบจนถึงแก่มรณภาพกล่าวถึงเฉพาะพระอานนท์
เป็นผู้ทำหน้าที่พุทธอุปัฏฐาก คือรับใช้พระพุทธเจ้า ก่อนที่จะรับหน้าที่นี้
ท่านได้ขอพร ๘ ประการจากพระพุทธเจ้า จัดเป็นเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ ๔ ประการ
และเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ประการ ดังนี้
เงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ ๔ ประการ
๑. จักไม่ประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๒. จักไม่ประทานบิณฑบาต อันประณีตแก่ข้าพระองค์
๓. จักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับเดียวกันกับพระองค์
๔. จักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ด้วยเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ประการ
๕. ขอให้พระองค์เสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
๖. ขอให้ข้าพระองค์นำบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเข้าเฝ้าได้
๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ข้าพระองค์ทูลถามได้ทุกเมื่อ
๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงข้อความอันใดในที่ลับหลังของข้าพระองค์
ขอให้ตรัสบอกข้อความอันนั้นแก่ข้าพระองค์อีก เหตุที่ท่านขอพรฝ่ายปฏิเสธ ๔
ประการนั้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นกล่าวตำหนิว่าท่าน
อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ ส่วนพรฝ่ายขอร้อง ๔ ประการนั้น ๓
ข้อเบื้องต้น เพื่อป้องกันผู้อื่นกล่าวตำหนิว่าจะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าไปทำไม
ในเมื่อพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ ส่วนข้อสุดท้าย
ถ้ามีผู้สงสัยถามว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่ไหน แก่ใคร
มีผลอย่างไร ถ้าท่านตอบไม่ได้ ก็จะมีผู้ตำหนิติเตียนว่า
ตามเสด็จพระพุทธเจ้าดุจเงาตามตัว แม้เรื่องเพียงเท่านี้ก็ไม่ทราบ
เฉพาะพรข้อที่ ๘ เป็นอุปการะแก่การที่จะรวบรวมพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่อย่างยิ่ง เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระสูตรและพระอภิธรรม ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๑ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน
พระอานนท์ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ทรงจำดี ท่านได้รับเอตทัคคะ ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นพหูสูต คือ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมามาก ได้แก่
ทรงจำพระพุทธวจนะได้มากที่สุด
๒. เป็นผู้มีสติ คือ มีความระลึกนึกถึงก่อนที่จะทำ พูด คิด อยู่เสมอ
๓. เป็นผู้มีคติ คือ มีแนวในการจำพระพุทธวจนะ
๔. เป็นผู้มีธิติ คือ มีความเพียร
๕. เป็นพุทธอุปัฏฐาก คือ ผู้ดูแลรับใช้พระพุทธเจ้า
จากการที่ท่านได้รับยกย่องว่ามีเอตทัคคะถึง ๕ อย่างดังกล่าวนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่านสามารถจดจำพระไตรปิฎกโดยเฉพาะพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมได้อย่างแม่นยำ ในด้านพระสุตตันตปิฎกนั้นทุกพระสูตรจะมีคำขึ้นต้น (นิทานวจนะ) ว่า เอวมฺเม สุตํ แปลว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ ซึ่งคำว่า เม หมายถึงพระอานนท์นั่นเอง
๔.๒ พระอุบาลี
กล่าวถึงเรื่องของพระอุบาลี ผู้เคยเป็นพนักงานภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ท่านออกบวชพร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่น ๆ ดังกล่าวแล้ว ท่านเป็นคนรับใช้ในวัง แทนที่จะได้บวชเป็นสุดท้ายแต่กลับได้บวชก่อน เพราะเจ้าชายเหล่านั้นต้องการลดทิฏฐิมานะของตนว่าเป็นตระกูลกษัตริย์ เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาและจดจำพระวินัยได้อย่างแม่นยำและชำนาญ ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับพระวินัย นับได้ว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการรวบรวมข้อพระวินัยต่าง ๆ ทั้งของภิกษุและภิกษุณีให้เป็นหมวดหมู่มาจนถึงทุกวันนี้
๔.๓ พระโสณกุฏิกัณณะ
ความ จริงท่านผู้นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็นหลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก ช่วยให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จึงได้นำเรื่องของท่านมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย เรื่องของท่านผู้นี้ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ หน้า ๑๖๐ อุทาน มีใจความว่า เดิมท่านเป็นอุบาสก เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระมหากัจจายนเถระ พำนักอยู่ใกล้ภูเขาอันทอดเชื่อมเข้าไปในนครชื่อ กุรุรฆระ ในแคว้นอวันตี ท่านมีความเลื่อมใสใน
พระมหากัจจายนเถระและเลื่อมใสที่จะบรรพชาอุปสมบท พระเถระกล่าวว่าเป็นการยากที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ท่านจึงแนะนำให้เป็นคฤหัสถ์ ประพฤติตนแบบอนาคาริกะ คือเป็นผู้ไม่ครองเรือน เมื่อถูกรบเร้าบ่อย ๆ ท่านจึงให้บรรพชา ต่อมาอีก ๓ ปี จึงรวบรวมภิกษุสงฆ์ได้ครบ ๑๐ รูป จัดการอุปสมบทให้ หมายความว่าพระโสณกุฏิกัณณะต้องบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ถึง ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ
ต่อมาท่านลาพระมหากัจจายนเถระเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม กรุงสาวัตถี เมื่อไปถึงและถูกพระพุทธเจ้าตรัสถาม ทราบความว่า เดินทางไกลมาจากแคว้นอวันตี คืออินเดียตอนใต้ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้จัดที่พักให้ พระอานนท์พิจารณาว่า พระองค์คงปรารถนาจะสอบถามอะไรกับภิกษุรูปนี้เป็นแน่แท้ จึงจัดที่พักในวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า
คืนนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเสด็จเข้าสู่วิหาร แม้พระโสณกุฏิกัณณะก็นั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเข้าวิหารเช่นกัน ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสเชิญให้ท่านกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร (อัฏฐกวรรค สุตตนิบาต พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕) จนจบ เมื่อจบแล้วพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าวว่ามีความไพเราะสละสลวย แล้วตรัสถามเรื่องส่วนตัวอย่างอื่นอีก เช่นว่ามีพรรษาเท่าไร ออกบวชด้วยมีเหตุผลอย่างไร
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกว่า ได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ใครสามารถหรือพอใจจะท่องจำส่วนไหนก็ท่องจำส่วนนั้น ถึงกับมีครูอาจารย์กันเป็นสาย ๆ เช่น สายวินัยดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
๔.๔ พระมหากัสสปะ
ท่านเป็นพระเถระผู้มีอาวุโสสูงสุดในสมัยที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ขณะที่ท่านพร้อมศิษย์กำลังเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ทราบจากบุรษผู้หนึ่งถือดอกมณฑารพซึ่งเป็นดอกไม้จากสวรรค์ปกคลุมศีรษะเดินผ่านมา ถามดูจึงรู้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ภิกษุผู้ยังมีกิเลสอยู่ต่างก็พากันร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ แต่มีศิษย์รูปหนึ่งของท่านชื่อสุภัททวุฑฒบรรพชิต กล่าวจ้วงจาบในลักษณะลบหลู่ดูหมิ่นด้วยคำพูดที่ว่าพระพุทธองค์ปรินิพพานก็ดีแล้ว เพราะในขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่ทรงห้ามภิกษุทำในสิ่งที่อยากทำไม่ได้ ต่อไปจะได้ทำอะไรตามที่ต้องการ คำพูดเช่นนี้ทำให้พระมหากัสสปะและภิกษุรูปอื่น ๆ หดหู่เป็นอย่างมาก แต่ในขณะนั้นไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ จวบจนกระทั่งหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้วล่วงไปแล้ว ๓ เดือน ท่านจึงยกเหตุนั้นขึ้นปรารภจัดทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ขึ้น คือการร้อยกรองพระธรรมวินัย นับได้ว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เกิดพระไตรปิฎก ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ นั้น ท่านเป็นผู้ถามทั้งพระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรม ท่านพระอุบาลีเป็นผู้ตอบพระวินัย ท่านพระอานนท์เป็นผู้ตอบพระสูตรและพระอภิธรรม
๔.๕ พระสารีบุตร
เมื่อสาวกของนิครนถ์นาฏบุตรแตกกัน ภายหลังที่อาจารย์สิ้นชีวิต ค่ำวันหนึ่ง
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบแล้ว เห็นว่าภิกษุทั้งหลายใคร่จะฟังต่อไปอีก
จึงมอบหมายให้พระสารีบุตรแสดงแทน ซึ่งท่านได้แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย
โดยแสดงตัวอย่างของการจัดหมวดหมู่ธรรมเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐
ว่ามีธรรมอะไรบ้างอยู่ในหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ จนถึงหมวด ๑๐
ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงรับรองว่า ข้อคิดและธรรมที่แสดงนี้ถูกต้อง (สังคีติสูตร
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ หน้า ๒๒๒ - ๒๘๗)
หลักฐานในพระไตรปิฎกตอนนี้มิได้แสดงว่าพระสารีบุตรเสนอขึ้นก่อน
หรือพระพุทธเจ้าตรัสแก่พระจุนทะก่อน แต่รวมความแล้วก็ต้องถือว่า
ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรได้เห็นความสำคัญของการรวบรวมพระพุทธวจนะ
ร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่มาแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ทำสังคายนาครั้งที่ ๑
๔.๖ พระจุนทะ
เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ทำสังคายนาแล้ว ถ้าไม่กล่าวถึงพระจุนทะก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นความริเริ่ม เอาใจใส่ และความปรารถนาดีของท่าน ในเมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถ์นาฏบุตรแตกกัน เพราะจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านได้เข้าพบพระอานนท์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกพระอานนท์ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน เมื่อกราบทูลแล้วพระองค์ได้ตรัสตอบด้วยข้อความเป็นอันมาก แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่ง (ปาสาทิกสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ หน้า ๑๓๙) พระผู้มีพระภาคตรัสบอกพระจุนทะ แนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำสังคายนา คือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะเพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยั่งยืนสืบไป
หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น อีกทั้งสาวกนิครนถ์นาฏบุตรแตกแยกกันมากขึ้น ท่านก็เข้าพบพระอานนท์อีก ขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้าทรงทราบ เพื่อหาทางป้องกันมิให้เหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ โดยแสดงโพธิปักขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ สุดท้าย ได้ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่าสาราณิยธรรม อันเป็นไปในทางสงเคราะห์ อนุเคราะห์และมีเมตตาต่อกัน มีความประพฤติและความเห็นในทางที่ดีงามร่วมกัน เรื่องนี้ปรากฏในสามคามสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๔๙ พระพุทธภาษิตที่แนะนำให้รวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกในภายหลังนั่นเอง
๑. ความหมายของพระไตรปิฎก
๒. ประเภทของพระไตรปิฎก
๓. ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
๔. พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก
๕. การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก
๖. การสวดปาติโมกข์ต่างจากการสังคายนา
๗. การนับครั้งในการทำสังคายนา
๘. ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก
๙. คำอธิบายพระไตรปิฎกอย่างย่อของพระอรรถกถาจารย์
๑๐. ประวัติพระอรรถกถาจารย์
๑๑. การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
๑๒. พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก
» ความหมาย การเรียกชื่อย่อ การจัดหมวดหมู่
» ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
บรรณานุกรม
- กลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
- อธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นตรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๑.
- กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
- พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๓.
- พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). การปกครองคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๓๙.
- พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- _______________. พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม ป. ๙). นำเที่ยวในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- เสถียรพงษ์ วรรณปก. คำบรรยายพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๓.
- สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ เปรียญ ๙). พระวินัยแปล. กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,๒๕๓๙.
- อุทัย บุญเย็น. พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โพธิ์เนตร, ๒๕๔๘.
- Sayagyi U ko Lay. Guide to Tipitaka. Selangor Buddhist Vipassana Meditation Society : Selangor Malaysia, ๒๐๐๐.