เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ประมง

การเพาะเลี้ยงปลาสวาย

เรียบเรียงโดย
ปกรณ์ อุ่นประเสริฐ, สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ

การเลี้ยงปลาสวาย

การเลี้ยงปลาสวายประเภทเลี้ยงชนิดเดียวนั้น ปัจจุบันมีการเลี้ยงอยู่ 2 วิธีคือเลี้ยงในบ่อดินและเลี้ยง ในกระชัง

1. การเลี้ยงปลาในบ่อดิน

การเลี้ยงปลาสวายในบ่อดินทำกันมากในภาคกลาง โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนครสวรรค์ลงมาถึงสุพรรณบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร แต่ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยง การให้อาหารตลอดจนการเจริญเติบโตค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก ทั้งนี้เป็น เพราะมีปัจจัยอยู่หลายอย่างที่ทำให้มีข้อแตกต่างดังกล่าว เช่น น้ำและคุณสมบัติของน้ำที่ใช้เลี้ยง อาหารที่ใช้เลี้ยง วิธีการเลี้ยง และการจัดการ ตลอดจนการเอาใจใส่ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่สำคัญใน การเลี้ยงทั้งนั้น

อย่างไรก็ตามการเลี้ยงปลาสวาย ควรจะได้มีการพิจารณาหลักทั่ว ๆ ไปดังต่อไปนี้

  • ขนาดของบ่อและที่ตั้ง ควรเป็นบ่อขนาดใหญ่ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ขึ้นไปหรืออย่างน้อยไม่ควร ต่ำกว่า 400 ตารางเมตร ความลึกประมาณ 2 เมตร ที่ตั้งของบ่อควรใกล้แม่น้ำหรือลำคลองที่สามารถรับน้ำและ ระบายน้ำเข้าออกได้เมื่อต้องการ
  • การเตรียมบ่อ ใช้หลักการและวิธีการเดียวกับหลักการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วไป
  • น้ำที่เอามาใส่ไว้ในบ่อ ต้องเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติมีความเป็นกรด-ด่าง และปริมาณออกซิเจนเหมาะสม
  • การคัดเลือกพันธุ์ปลาสำหรับปล่อยลงบ่อเลี้ยงควรพิจารณาถือเอาหลักง่าย ๆ ดังนี้

    - เป็นปลาที่สมบูรณ์ ไม่เป็นแผล ไม่แคระแกร็นหรือพิการ และปราศจากโรค
    - เป็นปลาขนาดไล่เลี่ยกัน เพราะปลาที่โตแตกต่างกันจะรังแกกันและแย่งอาหาร สู้ตัวโตไม่ได้ เมื่อถึงเวลา จับขายทำให้มีปัญหา บางทีต้องคัดทำการเลี้ยงต่อไปหรือบางทีมีอุปสรรคในการเลี้ยง
  • อัตราการปล่อย ปลาที่ปล่อยควรมีขนาดค่อนข้างโต หรือขนาด 5 - 12 ซม. อัตราการปล่อย 2 - 3 ตัว/ ตารางเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณณและคุณภาพของอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของน้ำที่ใช้เลี้ยง
  • อาหาร ปลาสวายเป็นปลากินอาหารได้ทุกประเภทโดยไม่เลือก ซึ่งได้แก่พืช สัตว์เล็ก ๆ อยู่ในน้ำ เช่น พวกแมลง ไส้เดือน หนอนและตะไคร่น้ำ ตลอดจนพวกจอกแหนและผักที่กินใบ นอกจากนั้นปลาสวายยังมีความ สามารถในการใช้มูลสัตว์จำพวกหมู ไก่ และจำพวก วัว ควาย ให้เป็นอาหารโดยตรงได้อีกด้วย เพราะเหตุนี้เอง ปลาสวายจึงเป็นปลาที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นปลาเลี้ยงแบบไร่ผสมหรือเรียกว่าแบบผสมผสานชนิดหนึ่งที่ได้รับ ความนิยมอย่างกว้างขวาง
    การหาวัสดุมาใช้เป็นอาหารของปลาสวายเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งของการเลี้ยงปลาสวายเพราะในการเลี้ยง ปลาสวายให้มีความสำเร็จหรือให้ได้ผลกำไรนั้นอยู่ที่การหาวัสดุมาใช้เป็นอาหาร ถ้าหากการหาวัสดุมาได้ด้วยราคา ถูก การเลี้ยงปลาก็ได้กำไร และในทางตรงกันข้ามถ้าวัสดุอาหารหาได้ด้วยราคาแพงก็จะได้กำไรน้อยหรือขาดทุน
    อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาสวายในเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานครปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปลาสวาย ส่วนใหญ่จะได้มาจาก

    - เศษอาหารจากภัตตาคารและร้านค้า
    - พวกมูลสัตว์ หรืออาหารจากส่วนที่ย่อยไม่หมดของกระเพาะและลำไส้ของโค กระบือและสุกรจาก โรงฆ่าสัตว์
    - เศษผักจากสวนผักซึ่งผู้ทำสวนผักตัดและคัดทิ้ง
    - เศษผักจากตลาดสดที่ถูกตัดทิ้ง ตลอดจนเศษเครื่องในและเหงือกปลาที่แม่ค้าในตลาดควักออกทิ้ง
    - เศษมันเส้น (จากมันสำปะหลัง) หรือมันเส้น หรือหัวมัน ตลอดจนใบมัน โดยเฉพาะใบมันอาจโยนให้ โดยตรงหรือต้มผสมกับวัสดุอื่นให้กิน
  • การเจริญเติบโต การเลี้ยงปลาสวายในบ่อดินจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8-12 เดือน ปลาสวายจะมีขนาด 1 - 1.5 กก. ซึ่งเป็นขนาดที่จำหน่ายได้ในท้องตลาดทั่ว ๆ ไป
  • การจับ หากทำการจับปลาจำนวนน้อย ให้ใช้แหหรือสวิงแต่ถ้าจำนวนมาก ควรใช้อวนหรือเฝือกสุกล้อม หากเป็นบ่อขนาดใหญ่ให้แบ่งตอนของบ่อด้วยเฝือกหรืออวนก่อน แล้วใช้อวนล้อมสกัดจับส่วนที่ต้องการ ออก เพื่อไม่ให้ปลาในบริเวณที่เหลือมีอาการตื่นตกใจตามไปด้วย
  • ผลผลิต ปลาที่เลี้ยงในบ่อดินจะมีผลผลิตในระยะ 8 - 12 เดือน ประมาณ 4,000 - 6,000 กก./ไร่ ทั้งนี้แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารที่ให้และน้ำที่ใช้เลี้ยง

ผลผลิตที่ได้นำไปขาย

การแก้ปัญหากลิ่นสาบโคลนของปลาสวายที่เลี้ยงในบ่อ
จากการเลี้ยงปลาสวายในบ่อโดยเฉพาะที่เลี้ยงอย่างหนาแน่นนั้น มักจะมีกลิ่นสาบโคลนเมื่อนำมาทำเป็น อาหาร การแก้ปัญหากลิ่นสาบโคลนมีดังนี้

  • ถ่ายเทน้ำที่เลี้ยงปลาติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะนำปลาสวายไปจำหน่ายหรือทำอาหาร
  • ก่อนจะนำไปจำหน่ายหรือทำอาหาร ควรจับปลาหรือถ่ายปลาจากบ่อใหม่ที่มีน้ำสะอาดและถ่ายเทได้ พอสมควร แล้วให้อาหารจำพวกปลายข้าวต้มผสมรำก่อนนำไปจำหน่าย 2 - 3 วัน จะทำให้ปลามีกลิ่นดีขึ้นเมื่อ ทำอาหาร

2. การเลี้ยงปลาในกระชัง

การเลี้ยงปลาสวายในกระชังนั้น เป็นการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูงกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน เป็นการเลี้ยงที่ได้รับ ความนิยมอย่างมาก จากราษฎรที่อาศัยเรือนแพในแม่น้ำ ลำคลองแถบภาคกลาง เช่น จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ หลักเกณฑ์การเลี้ยงปลาสวายในกระชังมีดังนี้

  • ที่ตั้งของกระชัง ควรตั้งในแหล่งน้ำจืดที่มีน้ำไหลถ่ายเทได้ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หากจะเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำควรตั้งกระชังให้อยู่ในบริเวณตอนบนของอ่าง ซึ่งมีกระแสน้ำพอที่จะช่วยถ่ายเทของเสียจากกระชังได้บ้างก็จะเป็นการดี
  • วัสดุที่ใช้สร้างกระชัง ส่วนใหญ่นิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง และจะมีอยู่บ้างที่ยังใช้ไม้ไผ่สานทำเป็นกระชัง นอกจากนั้นก็มีการใช้เนื้ออวนโพลีเอททีลิน แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ในการใช้วัสดุพยุงกระชังให้ลอยน้ำนั้นนิยม ใช้ไม้ไผ่มัดเป็นแพลูกบวบ
  • ขนาดของกระชัง ส่วนใหญ่ถ้าเป็นกระชังไม้หรืออวนจะมีขนาด 8 - 15 ตารางเมตร ลึก 1.25 - 1.50 เมตร และถ้าเป็นไม้ไผ่สานจะมีขนาด 2 x 5 x 1.5 เมตร
  • อัตราการปล่อย ปลาที่ปล่อยเลี้ยงในกระชังขนาด 7 - 12 ซม. ปล่อยในอัตรา 100 - 200 ตัว/ตารางเมตร
  • อาหารและการให้อาหาร ใช้อาหารและส่วนประกอบของอาหารที่เลี้ยงในบ่อ แต่มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการให้อาหารปลาที่เลี้ยงในกระชังนั้น อาหารอาจจะฟุ้งกระจายขณะที่ปลาสวายแย่งกันกินอาหาร จะมีส่วนสูญเสียอยู่จำนวนหนึ่งอาจแก้ไขได้โดยใส่สารเหนียวผสมในอาหารที่ให้ควรจะให้วันละ 1 ครั้ง ในปริมาณ 3 - 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว
  • การเจริญเติบโต ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของอาหารที่ให้ หากเป็นกระชังขนาดประมาณ 10 ตารางเมตร ลึก 1.25 เมตร ปล่อยปลา 150 - 200 ตัว/ตารางเมตร ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี จะให้ผลผลิตประมาณ 1,500 กก./กระชัง
  • การจับและลำเลียงส่งตลาด การจับปลาสวายที่เลี้ยงในกระชังนั้น ทำง่าย ๆ แบบใช้อวนล้อมจับในกระชังซึ่งง่ายกว่าการ จับในบ่อมาก
    การลำเลียงทางบกเพื่อให้ได้ปลามีชีวิตไปขายในตลาด ทำได้ง่าย ๆ โดยรถยนต์โดยเฉพาะรถปิกอัพ ใช้ ถังสี่เหลี่ยมขังน้ำประมาณเพียงเพื่อให้ท่วมปลา แล้วใช้อวนปิดถัง การลำเลียงแบบนี้ควรทำตอนเช้ามืดหรือ กลางวันซึ่งมีอากาศเย็นจะได้ผลดีมาก

» แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย
» รูปร่างลักษณะ
» ลักษณะเพศและการผสมพันธุ์
» การอนุบาลลูกปลาสวาย
» การเลี้ยงปลาสวาย
» โรคของปลาสวายและการรักษา
» คุณค่าทางอาหารของเนื้อปลาสวาย
» ผลผลิต และต้นทุนการผลิต
» แนวโน้มของการเลี้ยงปลาสวาย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย