เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

พืชไร่

การปลูกงาและการดูแลรักษา

การเก็บเกี่ยว

การสังเกตระยะสุกแก่ของงา เมื่องาเจริญเติบโตเต็มที่ถึงระยะสุกแก่จะต้องรีบเก็บเกี่ยว เนื่องจากฝักงาโคนต้นที่แก่ก่อนจะแตกออกทำให้เมล็ดร่วงเสียหาย การสุกแก่ของงาสามารถสังเกตได้ดังนี้

  1. ดอก เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยวดอกสุดท้ายจะร่วง
  2. ใบ จะมีสีเหลืองและร่วงเกือบหมด
  3. ฝัก เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ประมาณ 1 ใน 4 ของต้น
  4. เมล็ด มีลักษณะค่อนข้างเต่งตึงและเปลี่ยนสีตามพันธุ์ สำหรับงาดำให้แกะฝักที่ 3 จากยอดออกมาดู ถ้าเมล็ดมีสีน้ำตาลแสดงว่าแก่เก็บเกี่ยวได้

อายุ โดยนับอายุของงาแต่ละพันธุ์ เช่น งาขาว พื้นเมืองเลย อายุ 110-120 วัน งาขาวพื้นเมืองพันธุ์ชัยบาดาลอายุ 80-85 วัน งาขาวพันธุ์ร้อยเอ็ด 1 อายุ 70-75 วัน งาขาว พันธุ์มหาสารคาม 60 อายุ 80-85 วัน งาดำนครสวรรค์ อายุ 95-100 วัน งาดำ มก.18 อายุ 85-90 วัน งาดำ มข.2 อายุ 70-75 วัน งาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 มข.3 พิษณุโลก และสุโขทัย อายุ 80-85 วัน เป็นต้น การพิจารณาอายุของงานี้จะต้องพิจารณาความชื้นของอากาศขณะนั้นประกอบด้วยถ้าฝนตกชุกอากาศมีความชื้นสูงงาจะสุกแก่ช้า แต่ถ้าอากาศแห้งจะเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าอายุจริง 5-10 วัน เช่น งาขาวพันธุ์ร้อยเอ็ด 1 ถ้าอากาศแห้งแล้งจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 60-65 วัน เป็นต้น

วิธีการเก็บเกี่ยวงา

การเก็บเกี่ยวใช้เคียวหรือมีดเกี่ยวต่ำกว่าฝักล่างเล็กน้อยถ้าปลูกในดินทรายหรืองาต้นเล็กจะใช้วิธีถอนทั้งต้นก็ได้ ทั้งนี้พยายามอย่าให้ดินทรายเกาะติดต้นงา เพราะจะปนอยู่กับเมล็ดมากเวลาเคาะ ทำให้คุณภาพของงาลดลง ปัจจุบันมีเครื่องเกี่ยวงาแบบวางราย ทำให้เกี่ยวได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

วิธีการบ่มงา

หลังจากการเก็บเกี่ยวงาแล้วนำมาบ่มโดยนำต้นงามากองรวมกัน หันปลายยอดเข้าหากัน วางซ้อนเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้ฝักปลายยอดเหลื่อมกันเล็กน้อย (กองบ่มทั่วไปมีขนาดกว้าง x ยาว x สูง ประมาณ 2 x 3 x 1 เมตร) กองบ่มควรอยู่ในที่กลางแจ้งและที่สูงในแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมและอากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อกองเรียบร้อยแล้วนำฟางข้าว ใบไม้ ใบหญ้า ปิดทับกองประมาณ 5-7 วัน ถ้าอากาศแห้งเกินไปควรรดน้ำกองบ่มบ้าง หลังจากการบ่มแล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลปนดำเสมอกัน ส่วนใบจะเปลี่ยนเป็นสีดำและหลุดร่วงไป จากนั้นจึงทำการมัด ตาก เคาะ และทำความสะอาดเมล็ดต่อไป

ข้อดีของการบ่มงา

  1. การปลูกงาจำนวนมาก ๆ ถ้าเก็บเกี่ยวช้าฝักจะแตกเมล็ดร่วงเสียหาย การบ่มจะช่วยให้เกษตกรมีเวลาเก็บเกี่ยวงาได้มากขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ กัน ได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่
  2. การบ่มงาทำให้ใบร่วง สะดวกต่อการมัดเป็นกำและตั้งตากได้ง่าย
  3. การบ่มทำให้สามารถเคาะได้เร็วขึ้น เพราะงาที่บ่มจะแห้งเร็ว เนื่องจากใบร่วงหมด และใช้เวลาตากน้อยประมาณ 1-2 วันก็สามารถเคาะได้ แต่งาที่ไม่บ่มต้องใช้เวลาตากถึง 4-5 วัน
  4. การบ่มช่วยให้ฝักงาส่วนโคนต้นและส่วนปลายอ้าออกพร้อมกัน จึงประหยัดเวลาแรงงานในการเคาะ โดยเคาะ เพียง 1-2 ครั้งก็ได้เมล็ดงาเกือบทั้งหมด แต่ถ้าไม่บ่มจะต้องเคาะ 3-4 ครั้ง เนื่องจากฝักงาอ้าออกไม่พร้อมกัน
  5. การบ่มงาช่วยลดความเสียหายอันเนื่องจากมีฝนตกในขณะตากงา เพราะการบ่มงาจะใช้เวลาตากน้อยกว่าไม่บ่ม

การบ่มงานี้จะทำการบ่มเฉพาะงาดำและงาดำแดงส่วนงาขาวมีสีหมองคล้ำคุณภาพเมล็ดต่ำ สำหรับงาที่จะนำไปบริโภคเป็นอาหารไม่ควรบ่มเช่นงาดำพันธุ์ มข.18 เพราะจะทำให้มีกลิ่นดิน เศษพืชติดไปกับเมล็ดงา หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวงาครบอายุเก็บเกี่ยวให้นำไปตาก 3-4 แดด แล้วเคาะนวดได้ทันที

การมัด ตาก เคาะ และทำความสะอาดเมล็ดงา หลังจากบ่มแล้ว ทำการเคาะให้ใบร่วงออกหมดเหลือแต่ฝักและต้นงา ใช้ตอกหรือเชือกฟางมัดงาเป็นกำ ๆ ขนาดกำมือแล้วนำงา 3 กำ มามัดที่ปลายต้นงารวมเป็นมัดเดียวกันแล้วนำไปตั้งตาก ซึ่งจะแยกมัดงาเป็น 3 ขา ช่วยพยุ่งไม่ให้มัดงาล้มเวลาตั้งตาก หรือจะใช้วิธีการทำราวตากโดยมัดงาเป็นกำขนาดใหญ่แล้วแบ่งครึ่ง แขวนตากไว้บนราว วิธีนี้จะได้เมล็ดงาที่สะอาดกว่าวิธีแรก เพราะต้นงาไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นดิน หลังจากตากไว้ 2-3 วัน ก็นำไปเคาะ โดยนำมัดงาที่ตากจนฝักแห้งและปลายฝักอ้าออกแล้วคล่ำมัดงาลงภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้ไม้เคาะมัดงาเบา ๆ เมล็ดงาก็จะร่วงลงบนภาชนะโดยง่าย นำไปตากแดดอีก 1-2 แดด แล้วนำไปเคาะใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นทำความสะอาดเมล็ดงาโดยฝัดแยกเอาสิ่งเจือปนออกแล้วบรรจุลงกระสอบนำไปเก็บหรือจำหน่ายต่อไป

การเก็บเมล็ดพันธุ์

โดยปกติเมล็ดพืชน้ำมันจะเสื่อมความงอกในช่วงระยะเวลาอันสั้นแต่เมล็ดงานั้นสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน จากการทดสอบพบว่า เมล็ดงาสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 17 เดือน โดยเก็บไว้ในถุงพลาสติกชนิดหนาปิดปากถุงด้วยความร้อน เมล็ดยังมีความงอกถึง 82 เปอร์เซ็นต์ และเก็บใส่ถุงปุ๋ย ถุงผ้า และถุงกระดาษ นาน 8 เดือน เมล็ดงายังมีความงอกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

เมล็ดงาที่จะเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ ควรเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพดี ที่ได้จากการเคาะเคาะครั้งแรก เพราะเมล็ดจะแก่และสมบูรณ์เต็มที่ จากนั้นนำไปตากให้แห้งก่อนเก็บในภาชนะปิดที่มีความชื้นต่ำ

» สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม
» ชนิดพันธุ์งาและแหล่งปลูก
» ฤดูปลูก
» วิธีการปลูกงา
» การเก็บเกี่ยว
» โรคของงา
» แมลงศัตรูงา
» การป้องกันกำจัดวัชพืชในแปลงงา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย