สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เอกสารประกอบการสอนหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป
วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
สภาพปัจจุบันของสังคมโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
บรรณานุกรม
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในยุคสงครามเย็น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดภาวะสงครามเย็นอันเป็นผลมาจากการแข่งขันด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และกำลังอาวุธ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายเสรี และค่ายคอมมิวนิสต์ มหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย พยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ จนนำไปสู่วิกฤตการณ์การต่อสู้อันเนื่องมาจากความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือประเทศไทย จนเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ชนะสงคราม ไทยจึงเลือกให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสภาวะสงครามเย็น อันเป็นผลให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลต่อไทยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
2.1 การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศ
ภายหลังจากที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดย โฮจิมินห์ได้รับชัยชนะในสงครามกอบกู้เอกราชของเวียดนาม ทำให้สงครามเย็นแผ่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อสหรัฐอเมริกาขยายบทบาททางทหารเข้ามาด้วยการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization : SEATO ) โดยมีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทย ฟิลิปปินส์ และ ปากีสถาน ต่อมาในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเริ่มถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม ในขณะที่จีนยังให้การสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเกรงว่าจะเกิดช่องว่างอำนาจ จึงร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมอาเซียนขึ้นใน พ.ศ.2510
ปัจจุบันไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก นับว่าเป็นการเสริมสร้างบทบาทและปกป้องผลประโยชน์ของไทยในระดับนานาชาติ
2.2 นโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศอินโดจีน
เมื่อคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะใน เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีน ภายหลังที่เวียดนามรุกรานกัมพูชาโดยสนับสนุนให้ เฮง สัมริน ขึ้นปกครองกัมพูชา และขับไล่เขมรแดงหลบหนีมาอยู่ป่าตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ระยะนี้ไทยปรับตัวโดยร่วมมือกับอาเซียน เพื่อเรียกร้องและกดดันให้เวียดนามถอนทหารออกไปจากกัมพูชา โดยไทยและอาเซียนได้สร้างแนวร่วม กับประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตก เพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจของเวียดนามที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
2.3 นโยบายผูกมิตรกับประเทศตะวันตก
ในยุคสงครามเย็นไทยได้ผูกมิตรกับประเทศตะวันตกโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ นโยบายต่างประเทศของไทยในระยะนี้คือการต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับรัสเซีย และจีนหันมาปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายโดยงดความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา และเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา ถอนฐานทัพจากไทย และหันไปสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนและเริ่มให้ความสำคัญกับ สหภาพโซเวียต ขณะเดียวกันมีการสถาปนาความสัมพันธ์กับลาว กัมพูชา และเวียดนาม ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 การเมืองไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนและพรรคการเมืองได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ และได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 โดยหวังจะได้รับผลประโยชน์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มห่างเหินกันมากขึ้น
2.4 นโยบายการทูตเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ
หรือการทูตรอบทิศทาง ในปี พ.ศ. 2528 ประเทศไทยได้ปรับตัวโดยนำการทูตเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชักชวนให้นักธุรกิจมาลงทุนในประเทศ และประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ชาวต่างประเทศมาท่องเที่ยว และลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของญี่ปุ่น ขณะเดียวกันไทยได้เปรียบดุลการค้าจากสหรัฐอเมริกา จึงถูกสหรัฐอเมริกา ใช้มาตรการกีดกันการค้า
2.5 นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า
หรือนโยบายอนุภูมิภาคนิยม (Sub-regionalism) ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สงครามเย็นยุติลง ไทยหันมาร่วมมือกับประเทศอินโดจีน โดยประกาศนโยบาย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เพราะเห็นโอกาสที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ในรูปของความร่วมมืออนุภูมิภาค หรือความร่วมมือ สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ทางภาคเหนือ มี ไทย พม่า จีน และลาว ต่อมาขยายเป็น ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจมี ไทย พม่า บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ มี จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนทางใต้คือความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มี ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในขณะเดียวกัน ไทยพยายามจะใช้โอกาสในการเปิดประตูสู่อินโดจีน โดยมีเป้าหมายหลักคือ อินโดจีน พม่า และอาเซียนในปี พ.ศ. 2535 ไทยได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)
การปรับตัวของไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
การปรับตัวของไทยในยุคสงครามเย็น
การปรับตัวของไทยในยุคโลกาภิวัตน์
บทสรุป