สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

วิถีโลก

เอกสารประกอบการสอนหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป

วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
สภาพปัจจุบันของสังคมโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
บรรณานุกรม

การปรับตัวของไทยในสังคมโลก

การปรับตัวของไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการปรับตัวที่สำคัญที่สุดคือ ภัยคุกคามจากลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้เราต้องเปิดประเทศติดต่อกับตะวันตก และเริ่มปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ นับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง กับประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2398 เป็นต้นมา จากนั้นมาสังคมไทยก็มีการปรับตัวมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

1. การปรับตัวของไทยหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง

สนธิสัญญาเบาว์ริง เป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี ที่ไทยทำกับประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2398 เป็นสนธิสัญญาที่บังคับให้ไทยต้องเปิดการค้าเสรีกับประเทศอังกฤษ ภายหลังได้มีประเทศตะวันตกชาติอื่น ๆ เข้ามาขอทำสนธิสัญญากับไทยเช่นเดียวกับสนธิสัญญาเบาว์ริง สัญญานี้เป็นสัญญาที่บังคับให้ไทยต้องเปิดการค้าเสรีกับประเทศตะวันตกไทยไม่มีทางเลี่ยงจึงจำเป็นต้องยอมทำสัญญา
ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งระบบเศรษฐกิจไทยได้เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก ระบบการผลิตของไทยเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อการค้า การค้าขยายตัวมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่งทำให้ไทยต้องมีการปรับตัวทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ดังนี้

1.1 การปรับปรุงด้านขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม

การปรับปรุงประเพณีที่ล้าสมัยและส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษ การเปิดโอกาสให้พวกมิชชันนารีเข้ามาตั้งโรงเรียนสอนศาสนาและเผยแพร่วิทยาการด้านต่างๆ การส่งเสริมการศึกษา การตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เพื่อฝึกคนเข้ารับราชการ การส่งคนไทยไปศึกษาต่างประเทศ ที่สำคัญที่สุดคือการเลิกทาสและระบบไพร่

1.2 การปฏิรูประบบเงินตราและการธนาคาร เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การปฏิรูปเงินตรา การออกธนบัตร การตั้งหน่วยงานกลางสำหรับเก็บภาษี การตั้งกระทรวงการคลัง การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานเงินตราจากมาตรฐานเงินเป็นมาตรฐานทองคำ การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน การปรับปรุง ด้านการเกษตร และการชลประทาน การตัดถนน ขุดคลอง การไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมือง

1.3. การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน

เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองจากเดิม เปลี่ยนมาเป็นแบบกระทรวง ทบวง กรม ยกเลิกการปกครองแบบกินเมือง เปลี่ยนเป็นการจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการ รวมอำนาจการบริหารเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพภายในชาติ เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษ การปรับปรุงกองทัพ การปรับปรุงด้านกฎหมายและการศาลให้ทันสมัย การจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ การเสียดินแดนหลายครั้งในสมัย รัชกาลที่ 4 – 5 เพื่อความอยู่รอดจากภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก

การปรับตัวของไทยดังกล่าว ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ประเทศตะวันตกจึงไม่สามารถเอามาเป็นข้ออ้างในการแผ่อำนาจเข้ามาโดยอ้างว่า เพื่อจะมาพัฒนาให้ทันสมัย การปรับตัวดังกล่าวนับเป็นความชาญฉลาดของผู้นำไทยในอดีตที่มองการณ์ไกล และรู้เท่าทันโลก

2 . ไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้นในยุโรปเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2457 ระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลางอันมีเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และฝ่ายสัมพันธมิตร อันมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ในระยะแรกไทยประกาศตัวเป็นกลาง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิเคราะห์สถานการณ์ในขณะนั้นแล้วเห็นว่า เราควรเข้าร่วมสงครามโดยเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งกำลังได้เปรียบในสงคราม เพื่อไทยจะได้มีโอกาสแก้ไขสัญญาที่เสียเปรียบ ผลจากการที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้นานาประเทศรู้จักประเทศไทย และไทยได้มีโอกาสเรียกร้องขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และมาสำเร็จบริบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 8

3. ไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในยุโรป เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2482 ในระยะแรกที่ฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำต่อเยอรมนี ไทยได้ทำการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธ ไทยกับฝรั่งเศสจึงเกิดกรณีพิพาทกัน ต่อมาญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยในปี พ.ศ.2484 ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง คือ ไชยบุรี และเขมรส่วนใน คือ เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ที่เสียให้ฝรั่งเศสกลับคืนมา

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นได้เปิดฉากโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาในหมู่เกาะฮาวายและญี่ปุ่นได้ส่งกำลังเข้าโจมตีไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ไทยไม่สามารถต้านทานญี่ปุ่นได้ จึงต้องยอมให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพในประเทศไทย และไทยได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาใน วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 การประกาศสงครามของไทยครั้งนี้มีคนไทยที่ไม่เห็นด้วย ได้รวมตัวกันตั้งเป็นขบวนการเสรีไทย เพื่อร่วมมือกับสัมพันธมิตรและต่อต้านญี่ปุ่น หัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่สำคัญคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ หัวหน้าเสรีไทยในประเทศอังกฤษ และนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้การรับรองการกระทำของเสรีไทย ให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและฝึกอาสาสมัครที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในเมืองไทย

สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น นายควง อภัยวงศ์ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ไทยได้ออกประกาศว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 นั้นเป็นโมฆะ เพราะ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสงครามโดยพลการ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศรับรองคำประกาศของไทย แต่อังกฤษไม่ยอมรับรอง ไทยได้เจรจาต่อรองกับอังกฤษและต้องยอมคืนดินแดนในมลายู และแคว้นฉานที่ได้มาระหว่างสงคราม และไทยต้องจัดส่งข้าวสารจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนตันแก่อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่าเพื่อไปแจกจ่ายแก่อาณานิคมอังกฤษในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องยอมคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงและดินแดนเขมรส่วนใน อันได้แก่ เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณที่ได้มาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คืนแก่ฝรั่งเศส ความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจครั้งนั้นทำให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2489 เป็นสมาชิกลำดับที่ 55 การปรับตัวช่วงนี้ของไทยนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่อยู่ในภาวะคับขัน ต้องใช้ปัญญาและความสามารถของผู้นำในการเจรจาต่อรองและยอมแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่าง ๆ ตามข้อเรียกร้องของชาติมหาอำนาจจนสามารถพาชาติฝ่าฟันวิกฤตมาได้

การปรับตัวของไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
การปรับตัวของไทยในยุคสงครามเย็น
การปรับตัวของไทยในยุคโลกาภิวัตน์
บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย