สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เอกสารประกอบการสอนหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป
วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
สภาพปัจจุบันของสังคมโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
บรรณานุกรม
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในยุคโลกาภิวัตน์
ภายหลังสงครามเย็นยุติลง สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้นำเพียงผู้เดียว และสหรัฐอเมริกาได้ประกาศระเบียบโลกใหม่ คือ ระบอบประชาธิปไตย การค้าเสรี การเคารพสิทธิมนุษยชน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เปลี่ยนจากระบบสองศูนย์อำนาจไปสู่หลายศูนย์อำนาจ เกิดการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ การกีดกันการค้า การรวมกลุ่มกันด้านเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและถ่วงดุลกันด้านเศรษฐกิจ เช่น การรวมตัวเป็นตลาดเดียวของประชาคมยุโรป การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นต้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและในโลกและการแข่งขันที่ไร้พรมแดน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน การปรับตัวที่สำคัญมีดังนี้
1. การปรับตัวของไทยทางด้านสังคม
กระแสโลกาภิวัตน์ และระเบียบโลกใหม่ที่เน้นเรื่องการค้าเสรี ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกัน การแพร่ขยายอิทธิพลทางการค้าของบริษัทข้ามชาติได้เข้ามาทำลายธุรกิจขนาดย่อมภายในประเทศ สภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ไทยต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพแห่งการแข่งขัน การปรับตัวทางสังคมที่สำคัญมีดังนี้
1.1 การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8
แสดงให้เห็นจุดเปลี่ยนของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่หันมาให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน และมียุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ เน้นการพัฒนาคนโดยถือว่า คนคือทรัพยากรที่สำคัญของชาติที่เรียกว่า ทรัพยากรมนุษย์ การรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรท้องถิ่น การสร้างประชารัฐ โดยมุ่งประสานรัฐกับประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน การสร้างสังคมที่ร่วมกันแก้ปัญหาทุกอย่างแบบบูรณาการในรูปเบญจภาคี ประกอบด้วยชุมชน รัฐ นักวิชาการ องค์กรเอกชน และองค์กรธุรกิจ
1.2 ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น
โดยให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่น การพัฒนาจะต้องเกิดจากความต้องการของชาวบ้าน เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านเอง ดังคำพูดที่ว่า คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ยุทธศาสตร์การพัฒนานี้มีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ
- 1.2.1 หลักการพึ่งตนเอง ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ การพออยู่พอกิน
- 1.2.2 ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต จากเพื่อการพาณิชย์ เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ โดยมี เป้าหมายเพื่อกินเพื่อใช้ เมื่อมีส่วนเกินจึงนำออกขาย และต้องกระจายการผลิตในครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงแห่งชีวิต
- 1.2.3 พัฒนาบนพื้นฐานของวัฒนธรรมชุมชน
- 1.2.4 ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาชาวบ้าน
- 1.2.5 รวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรชุมชนหรือองค์กรชาวบ้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองของภาคประชาชน
1.3 การปรับตัวของไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญานำทางที่มีจุดเน้นคือการดำเนินการในทางสายกลางให้ก้าวทันโลก ความพอเพียงที่เน้นการผลิตและการบริโภคบนความ พอประมาณและความมีเหตุผล ความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการผลิตอย่างเป็นองค์รวมมีความสมดุลย์ระหว่างการแข่งขันจากกระแสโลกาภิวัตน์ และกระแสท้องถิ่นนิยม มีความหลากหลายในโครงสร้างการผลิต มีการใช้ทุนที่มีอยู่ในสังคมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ดี มีภูมิคุ้มกันที่ดี รู้เท่าทัน ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และเสริมสร้างจิตใจให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต มีสติปัญญา ความเพียร ความอดทน และรอบคอบ
1.4 การปฏิรูปการศึกษา
การศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มี คุณภาพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างรู้เท่าทันโลก การปรับตัวทางด้านการศึกษาที่สำคัญคือ
- 1.4.1 การกำหนดสิทธิ
ด้านการได้รับการศึกษาของประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 43 ได้กำหนดสาระเกี่ยวกับการศึกษาว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐบาลจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
- 1.4.2 การออกพระราชบัญญัติการศึกษาชาติ พ.ศ.2542
ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิรูป การศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตคนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ผลิตคนให้มีความรู้และมีทักษะเฉพาะด้าน ที่สำคัญคือ ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาษาอังกฤษ ปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ฝึกให้คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม สิ่งแวดล้อม รู้เท่าทันโลก และอยู่ได้อย่างมีความสุข
2. การปรับตัวของไทยทางด้านเศรษฐกิจ
กระแสโลกาภิวัตน์อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ระเบียบทางด้านเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องการค้าเสรี ทำให้ระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน
การเคลื่อนย้ายการผลิต และการลงทุนข้ามชาติ
ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่และมีความพร้อมในการแข่งขันสูงเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจภายในประเทศ
ส่งผลให้ธุรกิจภายในประเทศที่มีทุนน้อยไม่สามารถแข่งขันได้
ปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าได้ทวีความรุนแรง ประเทศต่าง ๆ มีการกีดกันการค้าโดยใช้
มาตราการต่าง ๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้า มาตรฐานแรงงาน
การรวมกลุ่มเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่าง ๆ
ของโลกเพื่ออำนาจต่อรองและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสังคมไทยที่สำคัญคือ
การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 และลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจแห่งเอเชีย
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยต้องปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจ
ด้วยการปฏิรูปครั้งสำคัญ ทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
โดยการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจเน้นการพัฒนาบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง
และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญมีดังนี้
2.1 การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนา
จากการพึ่งพิงต่างประเทศมาเป็นการพัฒนาที่เน้นการพึ่งตนเอง โดยการนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยมีหลักการพัฒนาทางความคิดดังนี้
เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่พึ่งตัวเองได้ ทั้งการพึ่งตนเองทางจิตใจ สังคม ทรัพยากร เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ โดยมีฐานการคิดในการพัฒนาเป็นลำดับ ดังนี้
1) พัฒนาตามขั้นตอนทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การผลิตเพื่อบริโภคในครอบครัว ขั้นที่ 2 รวมกลุ่มเพื่อการผลิต การตลาด สวัสดิการ และขั้นที่ 3 ร่วมมือกับองค์กรภายนอกในการทำธุรกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยทุกฝ่ายได้รับประโยชน์
2) สร้างพลังทางสังคม โดยประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน สื่อมวลชน เพื่อขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาธุรกิจชุมชน
3) ยึดพื้นที่เป็นหลัก และใช้องค์กรชุมชนเป็นศูนย์กลาง
4) ใช้กิจกรรมชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และการจัดการ
5) เสริมสร้างการรวมกลุ่ม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
6) วิจัยและพัฒนาธุรกิจชุมชนครบวงจร (ผลิต แปรรูป ขาย และบริโภค)
7) พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มีศักยภาพสูงแต่ละเครือข่ายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ชุมชน
ปัจจุบันได้มีการนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในโครงการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในชนบทและชุมชนเมือง ได้แก่ โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
2.2 การพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน
การพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ทรัพยากร การพัฒนาแบบยั่งยืนจะมีความสัมพันธ์กันทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ปัจจุบันได้มีการนำแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตรแบบยั่งยืน การจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นต้น
2.3 เสริมสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศในเอเชีย
ในระดับที่กว้างขึ้น เช่น แนวความคิดการจัดตั้งเวทีหารือสำหรับประเทศในทวีปเอเชียที่เรียกชื่อว่า Asia Cooperation Dialogue : ACD ซึ่งมีขอบข่ายครอบคลุมทวีปเอเชียทั้งทวีป อันได้แก่ สมาชิกกลุ่มอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ปากีสถาน กาตาร์ บาเรนห์ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะและจุดแข็ง แก้ไขจุดอ่อนของแต่ละประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพความมั่นคง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมกันในเอเชียมากขึ้น
2.4 การปฏิรูปภาคธุรกิจเอกชนให้เกิดความเข้มแข็งและสุจริต
โดยการสร้างธรรมาภิบาลด้านเอกชนให้เกิดขึ้น ธรรมาภิบาลคือ การบริหารจัดการที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับนักลงทุนชาวต่างชาติ หลักธรรมาภิบาลที่สำคัญคือ การบริหารมีความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส เสมอภาค และการมีส่วนร่วม ได้แก่ การรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
3. การปรับตัวของไทยทางด้านการเมืองจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์
ซึ่งเป็นด้านการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง การส่งเสริมการค้าเสรี การเคารพสิทธิมนุษยชน การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงบีบคั้นให้ประเทศไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ การปรับตัวทางการเมืองที่สำคัญ คือ การประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 (รัฐธรรมูญฉบับประชาชน) และการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
3.1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปีพ.ศ.2540
ถือเป็นการปรับตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และคุณภาพ โดยกำหนดให้มีมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อป้องกันการประพฤติมิชอบ โดยการกำหนดให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุม กำกับ และตรวจสอบการทำงานของ นักการเมืองและข้าราชการประจำ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ศาลรัฐธรมนูญ ศาลปกครองและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน การกระจายอำนาจ และส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ท้องถิ่นบริหารงานบุคคล เก็บภาษีอากร มีอำนาจจัดการศึกษา และบริหารด้านสาธารณสุข ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น ข้อกำหนดว่าด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม
3.2 การปฏิรูประบบราชการ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในปี พ.ศ.2540
เป็นผลมาจากการสะสมปัญหาต่าง ๆ ที่มีมานานกว่า 30 ปี ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ ภาครัฐขาดความสามารถในการบริหารจัดการ และปรับตัวเองได้อย่างทันการ จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ โดยปรับปรุงระบบราชการให้มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพ ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารให้มีลักษณะอย่างภาคเอกชน มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหาร โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การปรับลดกำลังคนของภาครัฐ การจัดกลุ่มภารกิจส่วนราชการ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนดำเนินการแทน การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานเป็นเครือข่าย และร่วมมือกับภาคธุรกิจ เอกชน และประชาสังคมมากขึ้น ปรับรูปแบบบริหารจัดการภาครัฐใหม่ เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์เป็นหลัก มีการวัดผลลัพธ์และค่าใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรม ปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณเป็นแบบมุ่งเน้นผลงานและผลลัพธ์ โดยเปลี่ยนกระบวนการงบประมาณจากควบคุมการใช้ทรัพยากรเป็นระบบงบประมาณที่มุ่งเน้นผลผลิตและผลลัพธ์ของงาน เสริมสร้างระบบการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยการกำหนดเป้าหมายของการทำงานเป็นรูปธรรมโดยมีแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน มีดัชนีวัดผลสัมฤทธิ์ของงานและสามารถประเมินผลงานได้ เน้นความรับผิดชอบของผู้บริหาร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการเงินและการพัสดุให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อประชาชนเป็นหลัก
เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการเมืองคือ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้นำที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ โดยการยอมรับของประชาชน ทั้งนี้เพราะศักยภาพของการแข่งขันของไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ
การปรับตัวของไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
การปรับตัวของไทยในยุคสงครามเย็น
การปรับตัวของไทยในยุคโลกาภิวัตน์
บทสรุป