สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน

(Watson’s Caring Theory)

ความท้าทายของการใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน

แม้ว่าทฤษฎีการดูแลของวัตสัน ได้เผยแพร่และเป็นที่ยอมรับในวิชาชีพพยาบาลในวางกว้าง เพื่อการปฏิบัติการพยาบาล แต่การนำทฤษฎีนี้ไปใช้เพื่อการปฏิบัติการพยาบาล และการวิจัย ก็ยังมีความท้าทายอยู่มากเช่นกันทั้งนี้เพราะ

1. แกนหลักของทฤษฎีนี้คือ “การดูแล”

ซึ่งวัตสันอธิบายว่าเป็นมโนธรรมและอุดมคติ (Watson, 2008) โดยมีปัจจัยการดูแลสิบประการเป็นแนวคิดหลัก ซึ่งทุกปัจจัยได้รับการยอมรับว่าสามารถนำไปสู่การดูแลได้ แต่วัตสันอธิบายรายละเอียดของแต่ละปัจจัยโดยใช้สิ่งที่มีความเป็นนามธรรม เช่น ความรัก ความศรัทธราความหวัง ทำให้การนำไปปฏิบัติไม่มีรูปแบบที่อธิบายเป็นขั้นตอนที่ตายตัว ทำให้การถ่ายทอดให้เป็นที่เข้าใจตรงกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก

2. พยาบาลผู้ที่จะนำทฤษฎีการดูแลของวัตสันไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลทุกระดับ

รวมทั้งการวิจัย ต้องมีความเชื่อว่ามนุษย์คือความเป็นหนึ่งเดียว (Unitary) ที่หลอมรวมมาจากกาย จิต จิตวิญญาณ การพิจาณาให้เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษย์ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับบุคคลเป็นที่ตั้ง ความรู้สึกและการถ่ายทอดเรื่องราวจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่พยาบาลต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง ความเชื่อในลักษณะนี้ถือเป็นความรู้ในเชิงศิลปะและสุนทรียศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงองค์ความรู้ของพยาบาลที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยการวัดประเมิน การพิสูจน์ การวินิจฉัยทางการแพทย์ร่วมไปด้วย พยาบาลจึงอาจเกิดความรู้สึกขัดแย้งในตนเอง อีกทั้งพยาบาลยังถูกฝึกให้ใช้ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ การจะนำความรู้เชิงศิลปะและสุนทรียศาสตร์มาใช้จึงเป็นไปเพื่อสนับสนุนความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากกว่าการใช้ความรู้ทั้งสองส่วนอย่างผสมผสานกันนั้น

3. ในปัจจุบันวัตสัน ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับการฝึกสมาธิ

การบริหารจิต การสวดภาวนา มาใช้ร่วมกับปัจจัยการดูแลสิบประการ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ปรากฏอยู่ในคำสอนทางศาสนา ทำให้เกิดส่วนที่ทับซ้อนระหว่างทฤษฎีการดูแลกับศาสนาและความเชื่อ นั่นหมายความว่าพยาบาลต้องนำศาสนา (หรือความเชื่อ) เข้ามาสู่การปฏิบัติการพยาบาลใช่หรือไม่ และหากคำสอนทางศาสนาหรือความเชื่อถูกนำมาประยุกต์ร่วมกับทฤษฎีการดูแล ศาสนาและความเชื่อแต่ละแบบก็จะมีวิธีการสั่งสอน ทำความเข้าใจที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแนวคิดเกี่ยวกับ “พลังกรุณา” ที่ถือเป็นการเยียวยานำไปสู่การฟื้นหาย โดย “พลังกรุณา” นั้นคือ ธรรม ในศาสนาพุทธ แต่ในอีกด้านหนึ่งความกรุณาก็คือ “ความรักในเพื่อนมนุษย์” ในศาสนาคริส (ลามะโซปะ ริมโปเช, 2553; Sitzman, 2002) ซึ่งทั้งสองแนวคิดจะมีแนวการสอน การปฏิบัติ เพื่อทำความเข้าใจที่แตกต่างกัน พยาบาลที่นับถือศาสนาหรือมีความเชื่อที่แตกต่างไปจากนี้จะปฏิบัติอย่างไร และทำความเข้าใจการฟื้นหายอย่างไรนั้น วัตสันไม่ได้ตอบคำถามนี้อย่างชัดเจน ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือ ประเด็นทางศาสนา ความเชื่อ แม้จะเป็นความจริงของมนุษย์ แต่ก็มีความเป็นนามธรรม และอาจยิ่งทำให้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันมีความเป็นนามธรรมยิ่งขึ้นไปอีก

4. การนำรูปแบบการดูแลที่เข้าถึงจิตใจกันระหว่างคนสองคน (Transpersonal caring)

มาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการฟื้นหาย (Healing) นั้นไม่ใช่การหายจากโรค พยาบาลตั้งเป้าหมายการดูแลผู้ป่วยบางสถานการณ์อย่างไร เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากการฆ่าตัวตาย พยาบาลจะต้องเป้าหมายการฟื้นหายอย่างไร พยาบาลยังอาจเผชิญความยุ่งยากของการผสมผสานการดูแลทางการแพทย์แผนปัจจุบันเข้ากับแนวคิดเรื่องการฟื้นหายในทฤษฎีการดูแลของวัตสัน ฉนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่พยาบาลจะให้เกิดสมดุลระหว่างการฟื้นหายและการรักษาของแพทย์เกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน

จากประสบการณ์ทางคลินิกของผู้เขียนพบว่าความหมายของการฟื้นหาย (Healing) คือความหมายที่ผู้ป่วยเป็นผู้ให้กับตนเอง ผู้ป่วยต้องให้ความหมายของการฟื้นหายด้วยตัวของเขาเอง ภายใต้การดูแลของพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับข้อมูลและรับการบริการจากสหสาขา การฟื้นหายจึงเป็นได้ทั้งการฟื้นหายจากความเจ็บป่วย การบรรเทาอาการของโรคซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยศิลปะการดูแลร่วมกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ทีทันสมัย ไปจนถึงการฟื้นหายในแบบของการได้รับการเยียวยาทางจิตใจ ที่ทำให้จิตใจสงบและเกิดความสุขทางจิตใจ เกิดการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยได้

5. ทฤษฎีการดูแลของวัตสันมีเป้าหมายสู่การดูแลเพื่อให้เกิดการฟื้นหาย

การประเมินผลทางการพยาบาลจึงไม่ได้มาจากพยาบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นการประเมินการฟื้นหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยด้วย ซึ่งวัตสันได้เสนอให้พยาบาลประเมินจากประสบการณ์ที่ผู้ป่วยถ่ายทอดออกมาให้พยาบาลได้รับรู้ รวมทั้งอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ป่วยที่แสดงออกมา การประเมินในลักษณะนี้พยาบาลต้องอาศัยเวลาและความใส่ใจอย่างมาก ในบางสถานการณ์ของการปฏิบัติการพยาบาลจริงจึงอาจไม่สามารถประเมินสิ่งเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน

6. การใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน

ในลักษณะของการปฏิบัติการพยาบาลขององค์กรมีความเป็นไปได้ หากแต่มีความท้าทายในประเด็นที่ว่า พยาบาลต้องมีความเข้าใจทฤษฎีนี้เป็นอย่างดี และมีระบบการพยาบาลที่มีปรัชญาพื้นฐานบนทฤษฎีนี้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการอบรม ระบบสนับสนุนที่สามารถประเมินผลทางการพยาบาลที่เฉพาะเจาะจง ( Rosenberg , 2009)

บทสรุป

ทฤษฎีการดูแลของวัตสันถือเป็นทฤษฎีการพยาบาลระดับกว้าง ที่ได้รับการยอมรับทั้งในแง่ของการเป็นปรัชญาของการพยาบาล และการประยุกต์ใช้เพื่อการปฏิบัติการพยาบาล การวิจัยทางการพยาบาลศาสตร์ นอกจากนี้ทฤษฎีนี้ยังชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการดูแล ซึ่งก็คือการบรรเทาความทุกข์ทรมาน และการฟื้นหาย

แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีการดูแลของวัตสันก็มีความเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง ทำให้พยาบาลผู้ที่จะนำทฤษฎีนี้ไปใช้ ต้องทำความเข้าใจทฤษฎีและบริบทที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี จุดเน้นของการดูแลที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยอาศัยความรัก ความเอาใจใส่ ถือเป็นจุดเด่นของทฤษฎีการดูแลของวัตสันที่สะท้อนให้เห็นลักษณ์เฉพาะของวิชาชีพพยาบาล และองค์ความรู้ในเชิงศิลป์ของการพยาบาล

ภูมิหลังของผู้พัฒนาทฤษฎี
ความเชื่อพื้นฐานของทฤษฎีการดูแลของวัตสัน
แกนหลักของทฤษฎีการดูแล
ปัจจัยการดูแล 10 ประการ และกระบวนการปฏิบัติการด้วยความรักเพื่อการดูแล
มโนมติหลักของการพยาบาลในทฤษฎีการดูแลของวัตสัน
ประโยชน์และการนำไปใช้ทางการพยาบาล
การใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง
การใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสันเพื่อพัฒนาความรู้ทางการพยาบาลโดยการวิจัย
ความท้าทายของการใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน
เอกสารอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย