วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

นิติเวชศาสตร์

โดย : รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร. พัชรา สินลอยมา

       นิติเวชศาสตร์ หมายถึง วิชาแพทย์ที่นำมาใช้หรือเกี่ยวข้องกับงานทางด้านกระบวนการยุติธรรม ในพจนานุกรมกฎหมายของแบลค (Black’s Law Dictionary) ให้ความหมายของคำว่า Forensic Medicine ดังนี้ “That science which teaches the application of medical knowledge to the purpose of law” นั่นหมายความถึงการนำความรู้ทางการแพทย์มาใช้เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เช่น การตรวจผู้บาดเจ็บเพื่อให้ความเห็นทางคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิต หรือการตรวจศพหาสาเหตุการตาย อันมาจากเหตุอันไม่เป็นธรรมชาติ เช่น ฆ่า ตัวตาย ถูกฆ่าตาย อุบัติเหตุ ไม่ทราบเหตุ หรือการตายในระหว่างคุมขัง

นิติเวชศาสตร์ อาจถูกเรียกชื่อว่า “ นิติเวชวิทยา ” แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า forensic medicine (forensic มาจากภาษาละตินว่า forensis หมายความถึง ข้อตกลงที่พิพาททางกฎหมาย ส่วน medicine ในที่นี้หมายถึงวิชาแพทย์ แปลว่า แพทยศาสตร์หรือเวชศาสตร์) นิติเวชศาสตร์เริ่มมีการเรียนการสอนครั้งแรกในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2456 โดยถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการแพทย์ วุฒิประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์ สำหรับสอนนักศึกษาแพทย์ในชั้นปีที่ 4 ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการเรียนการสอนในชั้นปริญญาตรี แต่ตามกฎเกณฑ์การแปลนั้น คำว่า "วิทยา" จะแปลมาจากคำในภาษาอังกฤษที่ลงท้ายด้วย "logy" เสมอ เช่น ชีววิทยา แปลมาจาก biology สรีรวิทยา มาจาก physiology จิตวิทยา มาจาก psychology ปาราสิตวิทยา มาจาก parasitology และสังคมวิทยา มาจาก sociology เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าใช้ "นิติเวชวิทยา" ย่อมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น และปัจจุบันคำว่า "เวชศาสตร์" ซึ่งแปลมาจากคำว่า "medicine" ก็มีที่ใช้อยู่หลายคำ ได้แก่ เวชศาสตร์การบิน มาจาก avitation medicine เวชศาสตร์อุตสาหกรรม มาจาก industrial medicine เวชศาสตร์ป้องกันมาจาก preventive medicine กีฬาเวชศาสตร์ มาจาก sports medicine เป็นต้น ดังนั้นการแปล forensic medicine เป็นนิติเวชศาสตร์ จึงนับว่าเป็นศัพท์ที่เข้าชุดกันดี นอกจากนี้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ก็ยอมรับคำว่า "นิติเวชศาสตร์" นี้เข้าไว้ด้วยแล้ว

ยังมีศัพท์ภาษาอังกฤษอีกสองคำที่ใช้แทนคำว่า Forensic medicine คือคำว่า medical jurisprudence (jurisprudence แปลว่า กฎหมาย) กับคำว่า legal medicine (legal ก็แปลว่า กฎหมาย) แต่อย่างไรก็ตามคำสุดท้ายดูจะตรงคำแปลที่ใช้ว่า "นิติเวชศาสตร์" มากที่สุด

นิติเวชวิทยา หรือ นิติเวชศาสตร์ (Forensic Medicine) จึงเป็นวิชาแพทย์สาขาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ซึ่งนำเอาความรู้ของวิชาแพทย์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ไปประยุกต์เพื่อประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม นำมาอธิบายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันนี้ ได้มีการพัฒนาเจริญไปมาก เช่นเดียวกับวิชาแพทย์อื่น ๆและได้แยกออกเป็นวิชาย่อยหลายสาขา คือ

1. นิติพยาธิ (Forensic Pathology)

เป็นวิชาที่ศึกษาถึงเรื่องการตายต่าง ๆ ที่ผิดธรรมชาติ รวมทั้งการตายโดยธรรมชาติแบบกะทันหันและไม่คาดคิด ซึ่งเป็นการตายที่ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ เพื่อแยกว่าไม่ใช่เป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ การตายที่ผิดธรรมชาติในบางครั้งการชันสูตรพลิกศพอย่างเดียวก็ไม่สามารถบอกเหตุตายได้จำต้องทำการผ่าตัดหาเหตุตาย เช่น การตายจากยาบางชนิด เช่น กินยานอนหลับเกินขนาดต้องเอาของเหลวในกระเพาะอาหาร(content) เลือด น้ำปัสสาวะไปตรวจหายาที่เกินขนาดทางพิษวิทยา เป็นต้น การตรวจหาเหตุตายอย่างละเอียดร่วมกับการไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ และการซักประวัติสามารถจะบอกพฤติการณ์ที่ตายได้ว่า การตายที่ผิดธรรมชาตินั้นเป็นการตายจากอุบัติเหตุ หรือทำอัตวินิบาตกรรม คือ ฆ่าตัวเองตายหรือถูกฆาตกรรมคือถูกผู้อื่นฆ่าได้ นอกจากนั้นยังสามารถช่วยพนักงานสอบสวนในเรื่องพิสูจน์ตัวบุคคลโดยตรวจศพและชิ้นส่วนของศพ ประมวลเวลาว่าศพที่ตรวจนั้นตายมานานแล้วเท่าไร โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงภายหลังตาย

2. นิติเวชคลินิก (Clinical Jurisprudence or Clinical Forensic Medicine)

หรือบางครั้งเรียกว่า ธรรมศาสตร์คลินิก หมายถึง การตรวจผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจแล้วต้องให้ความเห็นแก่พนักงานสอบสวนโดยอาศัยจากอาการและการตรวจร่างกาย และสิ่งตรวจพบ วัตถุพยานต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยถูกข่มขืนกระทำชำเรา ผู้ป่วยได้รับอันตรายเกิดบาดแผลชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจากอุบัติเหตุ ทำตัวเอง หรือถูกทำร้ายจากบุคคลอื่น ผู้ป่วยถูกสารพิษชนิดต่าง ๆ ถูกสารทางกายภาพ เช่น ความร้อน ไฟฟ้า เป็นต้น ได้รับอันตรายจากกลุ่มพวกขาดอากาศ เช่น จมน้ำ แขวนคอ เป็นต้น รวมทั้งบุคคลต่าง ๆ ที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้แพทย์ทำการตรวจได้ เช่น คนถูกวางยาสลบชนิดต่าง ๆ หญิงถูกข่มขืนกระทำชำเรา ตรวจอายุบุคคลว่าอายุเท่าไร เป็นต้น

นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่อาจได้รับค่าชดเชยจากกรมแรงงาน แพทย์ก็จะต้องตรวจผู้ป่วยและให้ความเห็นแก่กรมแรงงานว่าการที่ผู้ป่วยได้รับอันตรายบาดเจ็บ ต้องพิการสูญเสียอวัยวะคิดเป็น กี่เปอร์เซ็นต์เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้บาดเจ็บ

การตรวจผู้ป่วยคดีชนิดต่าง ๆ นี้ การที่แพทย์ให้ความเห็นแก่พนักงานสอบสวนในทางคดีอาญาอาจนำไปใช้ในคดีแพ่งเกี่ยวกับฟ้องร้องในเรื่องละเมิดได้อีกด้วย

การทำพินัยกรรมของผู้ป่วยอาจจะต้องให้แพทย์เป็นพยานเพื่อรับรองว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะดี ไม่หมดสติ หรือสติฟั่นเฟือน หรือวิกลจริต

3. นิติจิตเวช (Forensic Psychiatry)

เป็นหน่วยที่ใช้ความรู้ทางจิตเวช เพื่อตรวจ และดูแลผู้ป่วยทางจิตที่เป็นผู้ต้องหา หรือผู้ต้องขัง ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายมีความสนใจว่า การกระทำใดที่เป็นความผิดนั้นควรเกิดมาจากการกระทำที่มีเจตนา หรือเล็งว่าจะเกิดผลนั้น แต่หากผู้กระทำได้กระทำเรื่องนั้นไปในขณะที่ไม่รู้ตัว ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ หรือเกิดจากความหลงผิดที่มาจากความเจ็บป่วยทางจิตแล้ว ถือว่าขาดเจตนาในการกระทำนั้น จึงยังไม่ครบองค์ประกอบของการกระทำผิดตามกฎหมาย แต่ยังควรอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าอาการเจ็บป่วยเช่นว่านั้นจะดีขึ้น และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นอีก ผู้ปฏิบัติจึงเป็นแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

4. นิติทันตกรรม (Forensic Odontology)

เป็นวิชาหนึ่งของวิชาทันตแพทย์ในเรื่องของการตรวจฟัน เช่น ตรวจเรื่องอายุ การตรวจเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลโดยเปรียบเทียบกับการบันทึกของฟันขณะที่มีชีวิตอยู่ กับลักษณะฟันของคนตาย โดยเฉพาะในรายเน่ามาก ๆ หรือศพที่พบในกองเพลิง หรือเครื่องบินตกแล้วมีเพลิงลุกไหม้

5. นิติพิษวิทยา (Forensic Toxicology)

เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับยาพิษและสารพิษทั้งหลายไม่ว่าจะมาจากสารเคมี จากพืชและจากสัตว์ อาจแยกออกเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้

  1. นิติพิษวิทยา (Forensic Toxicology) เป็นการตรวจหาสารพิษในอวัยวะต่าง ๆ ของคนตาย รวมทั้งจากเลือด น้ำดี น้ำไขสันหลัง และน้ำปัสสาวะ ที่สงสัยว่าจะตายจากสารพิษ และที่ตายจากสารพิษ
  2. พิษวิทยาคลินิก (Clinical Toxicology) เป็นการตรวจหาสารพิษในผู้ป่วยที่ถูกสารพิษว่ามีขนาดมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเป็นสารพิษชนิดไหน เพื่อจะได้ให้ยาแก้พิษที่ถูกต้องรวมทั้งการรักษาที่ถูกต้อง
  3. พิษวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Toxicology) เป็นการตรวจหาสารพิษในคนงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โรงงานทำแบตเตอรี่ อาจมีอาการของพิษสารตะกั่ว โรงงานทำถ่านไฟฉาย อาจมีอาการของพิษสารแมงกานีส เป็นต้น
  4. พิษวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental Toxicology) เป็นการตรวจหาสารพิษจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อากาศเป็นพิษจากมีแก๊สคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ มาจากท่อไอเสียของรถยนต์ มลภาวะไม่ดีจากโรงงานปล่อยของเสียออกจากโรงงาน ไม่ว่าจากน้ำเสียหรือควันจากการเผาไหม้ ถ้าไม่มีการควบคุมโรงงานให้ดี อาจเกิดพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงาน
  5. พิษวิทยาผู้อุปโภค (Consumer Toxicology) เป็นการตรวจหาสารพิษในอาหารต่าง ๆ เช่น นมจากแถวประเทศสแกนดิเนเวียมีสารกัมมันตภาพรังสี ที่มีในนมอาจมีปริมาณที่เป็นอันตรายได้ถ้าอุปโภคไปบ่อย ๆ การใช้กรดซัลฟูริคแทนน้ำส้มสายชู นอกจากนั้นยังมีสารพิษชนิดต่าง ๆ อาจปนมาโดยบังเอิญ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ขายก็ไ
  6. พิษวิทยาอวกาศหรือการสงคราม (Aviations & Chemical Warfare Toxicology) เป็นการตรวจหาสารพิษที่ใช้ในสงคราม เช่น ฝนเหลือง ที่อาจทำอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ได้ที่เคยมีข่าวแถบชายแดนไทย-เขมรซึ่งเคยมีจรวดตกมาบริเวณชายแดนไทย เอาไปตรวจสอบพบว่ามีแก๊สพิษฟอร์มาลีนและไซยาไนด์

6. นิติซีโรโลยี่ (Forensic Serology) เป็นวิชาที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจเนื้อเยื่อของร่างกาย เลือด หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ เป็นงานที่สนับสนุนงานการตรวจผู้ป่วย และการชันสูตรพลิกศพ เช่น การตรวจคราบอสุจิในคดีข่มขืนกระทำชำเรา คดีฆาตกรรมทางเพศ การตรวจคราบเลือด การตรวจเส้นผม การตรวจหาสารพันธุกรร (DNA) เป็นต้น วัตถุพยานเหล่านี้อาจมาจากผู้ป่วย ศพ หรืออาจเป็นวัตถุพยานที่พนักงานสอบสวนส่งมาต่างหาก ก็ได้

บทบาทของนิติเวชศาสตร์ต่อกระบวนการยุติธรรม
การชันสูตรพลิกศพ
การชันสูตรและผ่าศพในประเทศไทย
การผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์
การพิสูจน์หลักฐาน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย