วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

นิติเวชศาสตร์

การผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์ (Forensic autopsy)

การผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์มีวิธีการเช่นเดียวกับการผ่าศพทางพยาธิวิทยา (Patho-logical autopsy) คือต้องเริ่มตั้งแต่การตรวจสภาพศพภายนอก ตรวจบาดแผลและการเปลี่ยนแปลงต่างๆของร่างกายภายนอก แล้วจึงผ่าศพเพื่อตรวจภายใน เพื่อหาสาเหตุการตาย กลไกในการตาย และในบางรายอาจจะช่วยเป็นแนวทางให้ทราบถึงพฤติการณ์ในการตายได้ ส่วนวิธีการที่จะใช้มีดกรีดผิวหนังให้เป็นรูปร่างใด ขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้ในแต่ละรายให้เหมาะสม เพื่อให้ได้รายละเอียดและข้อมูลตามต้องการ

การผ่าศพทางพยาธิวิทยาจะเน้นไปทางด้านการเจ็บป่วยของผู้ตาย เพื่อวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคใด เหตุตายคืออะไร กลไกในการตายเป็นอย่างไร แพทย์ผู้รักษาต้องให้ความร่วมมือในการส่งรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติ อาการของโรค การดำเนินโรค การรักษาพยาบาล ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาการที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างการรักษา และพยาธิแพทย์จะใช้ข้อมูลทั้งหมดเพื่อสรุปว่าผู้ป่วยตายเพราะเหตุใด การวินิจฉัยหรือการรักษาพยาบาลที่ให้แก่ผู้ป่วยรายนี้น่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่ อันจะใช้เป็นแนวทางในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายอื่นที่ได้รับการวินิจฉัยแบบเดียวกันหรือมีอาการคล้าย ๆ กัน ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ ไป

ส่วนการผ่าศพทางนิติพยาธินั้น จะเน้นเกี่ยวกับพยาธิสภาพของบาดแผล เพราะการตรวจผู้เสียชีวิตอันจะเป็นหน้าที่ของนิติพยาธิแพทย์ คือการตายอย่างกะทันหัน เช่น ถูกทำร้าย อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย หรือการตายโดยไม่ทราบเหตุ ฉะนั้นประวัติด้านการรักษาพยาบาลอาจจะมีน้อย ยกเว้นในรายที่ผู้ตายไม่ได้ตายทันทีหลังเกิดเหตุ อาจจะได้รับการรักษาพยาบาลมาช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งในกรณีอย่างนี้แพทย์ผู้รักษาต้องให้ความร่วมมือในการส่งรายละเอียด การรักษาพยาบาล การดำเนินโรค การเปลี่ยนแปลงของอาการ ตลอดจนผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เหมือนกับการส่งให้พยาธิแพทย์เช่นกัน และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย พนักงานผู้ชันสูตร พลิกศพสามารถส่งหมายเรียกให้มาให้ปากคำได้ ถ้าแพทย์ผู้รักษาไม่ให้ความร่วมมือ

ถึงแม้การผ่าศพทางนิติพยาธิจะเน้นการตรวจบาดแผลภายนอก แต่การผ่าศพ ตลอดจนการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ยังจำเป็นมาก ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ผู้ตายมักจะตายในขณะเกิดเหตุ บาดแผลต่าง ๆ อาจยังไม่ทันมีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพ จึงตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อทางกล้องจุลทรรศน์ แต่ยังมีผู้ตายในกรณีอื่น ๆ เช่น ผู้ที่ตายอย่างกะทันหันและไม่คาดคิด หรือผู้ป่วยที่ตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตายตามธรรมชาติ การตัดชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการวินิจฉัย

 

อีกกรณีหนึ่งซึ่งพบมากขึ้น คือญาติผู้ตายร้องเรียนว่าแพทย์ให้การรักษาพยาบาล ไม่เหมาะสมเป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ทำให้การตายนั้นกลายเป็นคดีเข้าข่ายที่ต้องให้นิติเวชแพทย์เป็นผู้ตรวจ ทั้ง ๆ ที่เหตุตายเป็นการตายจากโรคทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ผู้ตายผิดธรรมชาติมักตายในขณะเกิดเหตุ หรือหลังเกิดเหตุในเวลาสั้น ๆ และนิติพยาธิแพทย์จะเน้นทางด้านบาดแผลดังกล่าวแล้ว ประวัติหรือเรื่องราวที่เกิดเหตุจึงค่อนข้างสั้น และในหลาย ๆ กรณีสามารถตรวจสอบได้ง่ายเมื่อเห็นสถานที่เกิดเหตุ เช่น ในที่เกิดเหตุพบผู้ตายแขวนคอตายที่ขื่อเพดานในห้องนอน โดยที่ประตูหน้าต่างห้องนอนปิดสนิท เครื่องปรับอากาศยังทำงานอยู่ ในห้องมีสภาพเรียบร้อยไม่มีร่องรอยการต่อสู้ และมีจดหมายเขียนด้วยลายมือผู้ตายอ้างเหตุฆ่าตัวตายอยู่บนโต๊ะน่าจะเชื่อได้ว่าผูกคอตนเองไปกว่า 80% แล้ว เมื่อพิจารณาร่วมกับการผ่าศพที่ไม่พบว่ามีบาดแผลใดใดในร่างกาย นอกจากบาดแผลการรัดที่ลำคอ การบาดเจ็บภายในลำคอก็พบน้อยมาก พนักงาน ผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพสามารถสันนิษฐานได้ว่าผู้ตายผูกคอตนเอง อาจจะกล่าวได้ว่า”การผ่าศพทางนิติพยาธิเริ่มตั้งแต่ที่เกิดเหตุ”( Forensic autopsy begins at crime scene)

นอกจากนั้นการดูศพตั้งแต่ที่เกิดเหตุ ยังทำให้สามารถดำเนินการป้องกันหรือรักษาสภาพบางส่วนของศพเป็นพิเศษได้ เช่น เมื่อมีเหตุยิงกันตายและผู้ตายมีส่วนร่วมในการยิงกันด้วย ควรรักษามือที่ใช้ยิงเป็นกรณีพิเศษ เช่น ใช้ถุงหุ้มมือข้างนั้นไม่ให้มีการปนเปื้อนและไม่ให้มีการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือก่อนจะทำการตรวจเขม่าดินปืนเป็นต้น หรือในรายที่เกิดการข่มขืนและฆ่า ก็ควรห่อหุ้มมือทั้ง 2 ข้างในลักษณะที่จะรักษาสิ่งที่อาจจะอยู่ในมือผู้ตาย ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุพยานได้

การที่นิติพยาธิแพทย์เน้นทางด้านการตรวจบาดแผลภายนอก ทำให้ต้องเน้นไปถึงเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มด้วย เนื่องจากเสื้อผ้าที่ห่อหุ้มร่างกายจะรองรับอาวุธ หรือวัตถุที่ก่อให้เกิดบาดแผลก่อน ร่องรอยของอาวุธอาจจะปรากฏบนเสื้อผ้า แทนที่จะไปปรากฏบนบาดแผล ก็ได้ นอกจากนั้นบาดแผลที่ทะลุผ่านเสื้อผ้ากับบาดแผลที่ไม่ทะลุผ่านเสื้อผ้าก็มีความหมายต่างกัน เช่น ถ้าเป็นการฆ่าตัวตาย บาดแผลจะเกิดที่ส่วนของร่างกายที่เลือกตำแหน่งแล้ว และมักไม่ทะลุผ่านเสื้อผ้าของตนเอง ความแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างพยาธิและนิติพยาธิคือ พยาธิแพทย์มัก ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการประเมินระยะเวลาในการตายของผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายส่วนใหญ่จะตายในโรงพยาบาลและทราบเวลาตายอยู่แล้ว หลังตายก็สามารถเก็บศพไว้ในตู้เย็น โอกาสของพยาธิแพทย์ที่จะได้รับศพที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการเน่าสลายตัวแทบจะไม่มี ส่วนนิติพยาธิแพทย์จะต้องพบศพที่เน่าสลายตัวทุกรูปแบบ และจำเป็นต้องพยายามประเมินระยะเวลาตายให้ใกล้เคียงด้วย

บทบาทของนิติเวชศาสตร์ต่อกระบวนการยุติธรรม
การชันสูตรพลิกศพ
การชันสูตรและผ่าศพในประเทศไทย
การผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์
การพิสูจน์หลักฐาน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย